Upskill & Reskill วัคซีนสร้างภูมิ "แรงงานชนะ"
ส่องทางออก "แรงงาน" ต้องพัฒนาทักษะแรงงาน หรือศักยภาพของทุนมนุษย์แรงงานไทยในปัจจุบันอย่างไร ให้รอดจากวิกฤติโควิด-19 และสร้างโอกาส Building Back Better ได้ในระยะข้างหน้า?
ครบ 1 ปีกับบทความ “ผลกระทบวิกฤติโควิด-19 กับเศรษฐกิจโลก : This Time is Different” จากการเริ่มล็อกดาวน์ในไทยเพื่อควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ล่าสุดนี้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ประเมินว่าวิกฤติโควิด-19 ทำให้ชั่วโมงทำงานของแรงงานทั่วโลกในปี 2563 หายไปเทียบเท่ากับคนตกงานทั่วโลกถึง 255 ล้านคน หรือประมาณ 4 เท่าของการสูญเสียชั่วโมงทำงานไปในช่วงวิกฤติการเงินโลกปี 2552
บทความนี้จะชวนผู้อ่านดูศักยภาพของทุนมนุษย์แรงงานไทยปัจจุบัน และการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อให้รอดจากวิกฤตินี้และสร้างโอกาส Building Back Better ได้ในระยะข้างหน้า
ศักยภาพทุนมนุษย์ของไทยเผชิญกับ “Triple-disruption” คือการเข้าสู่สังคมสูงวัย เทคโนโลยีดิสรัปชั่น และผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 :
ข้อมูลจาก WEF (Future of Jobs Report 2020) และ Global Competitiveness Index 4.0 (CGI) ชี้ว่าทุนมนุษย์ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการผลักดันให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ดัชนีด้านทุนมนุษย์ไทยอยู่ในระดับกลางค่อนไปทางแย่ มีสัดส่วนแรงงานทักษะสูงเพียง 14% และมีสัดส่วนประชากรผู้ใหญ่ที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาเพียง 45.1% ซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานใช้ต่อยอดเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่ใช้ประกอบอาชีพในอนาคต เทียบกับประเทศที่มีระดับพัฒนาสูงจะมีดัชนีชี้วัดนี้สูงไปด้วย คือ อังกฤษ (99.7%) สวิตเซอร์แลนด์ (97.1%) เยอรมนี (96.3%) และสหรัฐ (96.0%)
นอกจากนี้ ไทยยังขาดทักษะสายวิชาชีพ เห็นจากดัชนี Vocational and technical skill-GTCI ที่อยู่อันดับท้ายๆ คือ 89 จาก 119 ประเทศ รวมถึงขาดแคลนอาชีพที่ต้องการทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาและสร้างนวัตกรรม แต่ไทยเรายังมีจุดดีคือ มีสัดส่วนของประชากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลโดยเปรียบเทียบอยู่ในระดับที่น่าพอใจคือ 54.9% ใกล้เคียงกับญี่ปุ่น (50.8%) อังกฤษ (61%) และสูงสุดคือเนเธอร์แลนด์ (77.4%) และสิงคโปร์ (77%)
การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดกระบวนการ Double Disruption ส่งผลให้ผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนวิถีชีวิต รูปแบบการทำงาน WFH และพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ, ดิจิทัลเซอร์วิส และฟู้ดดิลิเวอรี่เติบโตอย่างรวดเร็ว เร่งให้เข้าสู่โลกดิจิทัล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เร็วขึ้น
นอกจากนี้ไทยยังมีดิสรัปชั่นจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุอีกด้านหนึ่ง ซึ่งนับเป็น Triple Disruption ปัจจุบันไทยมีแรงงานอายุมากกว่า 60 ปี 4.6 ล้านคน หรือ 12% ของแรงงานทั้งหมด และเมื่อถึงปี 2583 ไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” คือจะมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปถึง 31% ทำให้ (1) ไทยต้องเร่งยกระดับทักษะแรงงาน ตอบสนองต่อจำนวนคนทำงานที่จะน้อยลงในอนาคต ให้มีผลิตภาพสูงขึ้น (2) สร้างโอกาสทำอาชีพใหม่ๆ ให้แรงงานที่เสี่ยงได้รับผลกระทบกว่า 4.7 ล้านคน และ (3) เร่งพัฒนาต่อยอดทักษะอาชีพ นวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน สำหรับกลุ่มแรงงานที่ย้ายกลับภูมิลำเนา โดยเฉพาะผู้ปกครองของนักเรียนยากจนมากที่สุดของประเทศที่มีกว่า 3 แสนคน
Reskill & Upskill เพื่อปิดช่องว่างทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการในยุคดิจิทัล :
จากผลการสำรวจภาคธุรกิจของไทย (WEF, 2020) พบว่าเทรนด์เทคโนโลยีดิสรัปชั่นที่มาแรงสุดอันดับต้นๆ คือ Cloud computing (98% ของผู้ตอบแบบสอบถาม) Internet of Things (95%) Encryption & cyber security (90%) E-commerce and digital trade (87%) และ Big data analytics (85%) ชี้ว่าทักษะที่นายจ้างต้องการในอนาคต เช่น การเขียนและออกแบบ/พัฒนาโปรแกรม การควบคุมการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ ทักษะคิดวิเคราะห์และนวัตกรรม ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ทักษะการเรียนรู้เชิงรุก เป็นต้น
ผลสำรวจยังชี้ว่าแรงงานไทยทั้งหมดต้องรีสกิล โดยประมาณครึ่งหนึ่งต้องพัฒนาทักษะน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 เดือน และอีกครึ่งหนึ่งต้องพัฒนาทักษะตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ในส่วนนี้ 20% ต้องเข้ารับการฝึกอบรมมากกว่า 1 ปีขึ้นไป สำหรับสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากหลังโควิด-19 คลี่คลาย (จากทั้ง WEF (2020) และบริษัทจัดหางาน ได้แก่ งานด้านไอที งานด้านการวิเคราะห์ข้อมูล งานด้านบิ๊กดาต้า งานด้านวิศวกรรม งานด้านการขนส่ง และงานด้านการขาย สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce, Digital Service และ Food Delivery ที่กล่าวข้างต้น
การสำรวจวัดทักษะแรงงานผู้ใหญ่ (PIAAC) เป็นมาตรฐานสากล ช่วยชี้เป้าและพัฒนาทักษะแรงงานให้ถูกฝาถูกตัว ซึ่งคาดว่าจะสำรวจลงพื้นที่ในปี 2564 นี้ โดยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ธนาคารโลก กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันทำการสำรวจภายใต้โครงการวิจัยทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานของไทย (Adult skills assessment in Thailand) เพื่อชี้เป้า วางนโยบาย ส่งเสริมเติมเต็มทักษะแรงงานอย่างตรงเป้าแบบถูกฝาถูกตัว ตอบสนองต่อความต้องการแรงงานในอนาคตให้แก่แรงงานทุกช่วงวัย ซึ่งคาดว่าจะสำรวจลงพื้นที่ในปี 2564
ผลการวิจัยนี้จะสามารถนำมาเปรียบเทียบกับของต่างประเทศได้และภาคต่างๆ ในประเทศได้ อาทิ ในอังกฤษ นำไปสู่การพัฒนาจัดทำหลักสูตรออนไลน์ในที่ทำงานและชุมชน ให้แรงงานสามารถศึกษาในสาขาวิชาที่เหมาะสมกับอาชีพและทักษะของตนเอง ในญี่ปุ่น สถาบันวิจัยนโยบายด้านการศึกษาแห่งชาติ (NIER) นำผลสำรวจมาพัฒนาทักษะด้านไอซีทีในกลุ่มแรงงานผู้ใหญ่ และพัฒนาระบบเชื่อมโยงทักษะแรงงาน รายได้และการจ้างงาน
ในโลกใหม่ที่เต็มไปด้วยดิจิทัล แรงงานในยุคหน้าต้องพัฒนาทักษะตัวเองให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล และเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอาชีพ และเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อรอดจากวิกฤตินี้และสร้างโอกาส Building Back Better ได้ในชีวิตการทำงานข้างหน้าได้ และภาครัฐควรเร่งพิจารณาการเปิดให้มีการนำเข้าแรงงาน พนักงาน ผู้บริหาร ที่มีสมรรถนะสูงและวิชาชีพด้านที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านดิจิทัล และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขา STEM ในระยะข้างหน้าด้วย
ฉบับหน้าเราจะนำเสนอแพลตฟอร์ม การเรียนรู้พัฒนาทักษะในช่องทางต่างๆ ของทางภาครัฐและเอกชนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อแรงงานและสาธารณชนต่อไป
(บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย)
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 3 มีนาคม 2564