กลุ่มทุนหนี "รัฐประหาร" เมียนมา ส้มหล่น "เวียดนาม-กัมพูชา"
การรัฐประหารใน “เมียนมา” สร้างความวิตกให้กับกลุ่มทุนต่างชาติเป็นจำนวนมาก ที่เกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากความเสียหายทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ก่อนหน้านี้สัญญาณทางการเมืองที่ดีขึ้นทำให้มีเม็ดเงินหลั่งไหลเข้าไปในเมียนมามหาศาล แต่การรัฐประหารอย่างฉับพลันส่งผลให้นักลงทุนต้องจับตาสถานการณ์ และมองหาทางเลือกการลงทุนในประเทศอื่น โดยเฉพาะ “เวียดนาม” ที่มีความโดดเด่นที่สุดในภูมิภาค
นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า หลังการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลของนางออง ซาน ซู จี โดยกองทัพเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่งผลให้กลุ่มทุนต่างชาติหลายรายต่างจับตาสถานการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งทบทวนแผนการลงทุนในเมียนมา
ก่อนหน้านี้ เมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศกัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) ที่มีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จีดีพีของกลุ่มประเทศ CLMV โตเฉลี่ย 6% สูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผลมาจากการหลั่งไหลเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ ซึ่งในปี 2019 กลุ่มประเทศ CLMV มีเงินลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (เอฟดีไอ) เพิ่มขึ้น 6.3% โดยเมียนมามีการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 55.9% จากปี 2018 ก้าวกระโดดที่สุดในกลุ่มประเทศดังกล่าว ตามข้อมูลของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารในเมียนมามีความเสี่ยงที่จะทำให้ความเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาหยุดชะงัก โดยทุนต่างชาติหลายราย เช่น “คิริน โฮลดิงส์” ผู้ผลิตเบียร์สัญชาติญี่ปุ่น ได้ยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับ “เมียนมา อีโคโนมิก โฮลดิงส์ ลิมิเต็ด” (เอ็มอีเอชแอล) บริษัทของกองทัพเมียนมา เช่นเดียวกับ “ลิม คาลิง” ผู้ร่วมก่อตั้ง “เรเซอร์” บริษัทเทคโนโลยีของสิงคโปร์ก็เตรียมขายหุ้นในบริษัทเมียนมาที่เชื่อมโยงกับเอ็มอีเอชแอลทั้งหมดด้วย
“เดฟ ริชาร์ดส์” หุ้นส่วนผู้จัดการด้านนักลงทุนของ “แคปเรีย เวนเจอร์ส” บริษัทด้านการลงทุนสัญชาติอเมริกันระบุว่า “เม็ดเงินของนักลงทุนอาจจะไม่ไปเมียนมา และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคจะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นี้” โดยก่อนหน้านี้ แคปเรีย เวนเจอร์ส มีแผนลงทุนในเดือน ก.พ. รวม 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในหลายประเทศ โดยมุ่งเน้นที่เมียนมา แต่ได้ระงับแผนดังกล่าวและจะหันไปเริ่มลงทุนในเวียดนามภายในปีนี้ รวมถึงพิจารณาการลงทุนในประเทศอื่น ๆ เช่น กัมพูชา บังกลาเทศ และเนปาล
ส่วนกลุ่มทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนเฉพาะในเมียนมาเพียงแห่งเดียว อย่าง “เดลตา แคปิตัล” และ “แอนเธม เอเชีย” ต่างระงับการลงทุนชั่วคราวและจับตาสถานการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิด
“แอนดริว เดิร์ก” ซีโอโอของ “โอเบอร์ แคปิตอล” บริษัทด้านการลงทุนที่มุ่งเน้นกลุ่มประเทศ CLMV มองว่า กลุ่มที่เคยเน้นการลงทุนในเมียนมา อาจปรับกลยุทธ์เป็นการลงทุนในระดับภูมิภาคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเวียดนามมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ รวมถึงกัมพูชา และ สปป.ลาวที่กำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดนักลงทุน
ขณะที่ “โรแมง กายโยด์” ประธานบริษัท “ซิปา พาร์ตเนอร์” ที่ปรึกษาธุรกิจในกรุงโตเกียว ระบุว่า รัฐประหารครั้งนี้ทำให้เห็นว่ากองทัพเมียนมาพร้อมจะละทิ้งผลประโยชน์ทางการทูต การค้า และการลงทุน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อแย่งชิงอำนาจในการควบคุมบริหารประเทศ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับเมียนมา แต่กลายเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศอื่นในภูมิภาค
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 3 มีนาคม 2564