เตรียมพร้อมกันหรือยัง? 10 อาชีพที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี
การเปลี่ยนแปลงของ "เทคโนโลยี" ทำให้หลายองค์กรต้องปรับตัว โดยเฉพาะการปรับลดจำนวนพนักงานลง ซึ่งปี 2563 มีบทวิเคราะห์ถึง 10 อาชีพที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี แล้วองค์กรต่างๆ จะต้องเปลี่ยนแปลงและพัฒนาคนในองค์กรอย่างไรให้ก้าวเดินไปพร้อมกันได้?
ผู้นำมีหน้าที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ “การสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี” ให้เกิดขึ้นและทำตัวเป็น “ตัวอย่างที่ดีด้วย” ความสามารถในเรื่องของ “การบริหารจัดการเพื่อการเปลี่ยนแปลง” (Change Management) จึงมีความสำคัญมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะในยุคที่พูดถึง Digital Transformation เช่นทุกวันนี้
เมื่อปลายปี 2563 มีบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจของสถาบันแห่งหนึ่งได้รายงานถึง “10 อาชีพที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี” อันได้แก่ (1) สุขภาพและการแพทย์ (2) ประกันภัย (3) สถาปัตย์ (4) ผู้สื่อข่าว (5) อุตสาหกรรมการเงิน (6) ครูและอาจารย์ (7) ทรัพยากรบุคคล (8) ตลาดและโฆษณา (9) ทนายความ และ (10) การบังคับใช้กฎหมาย
ผลกระทบจากเทคโนโลยี (โดยเฉพาะ Disruptive Technology) ที่ปรากฏให้เห็นชัดในปัจจุบันก็คือ กรณีที่สถานประกอบการหลายแห่งได้ประกาศทยอยปิดโรงงานห้างร้าน ค่อยๆ หรือปรับลดพนักงานลง
ในความเป็นจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงใดๆ จะมีผละกระทบต่อองค์กรเสมอ (ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง) โดยเฉพาะการปรับลดพนักงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจพนักงานโดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนมาก
แต่โดยหลักการแล้ว วิธีการปรับลดพนักงาน น่าจะเป็นมาตรการสุดท้ายในกระบวนการ “การบริหารจัดการเพื่อการเปลี่ยนแปลง” (Change Management) หรือ “การพัฒนาองค์กร” (Organization Development OD) ด้วยเหตุที่ต้องทำก็เพราะไม่สามารถใช้มาตรการใดๆ อีกแล้ว เพื่อเป็นการลดต้นทุนและปรับเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อความอยู่รอดขององค์กรในระยะยาว
เรื่องของการปรับลดพนักงานนี้ จึงควรมีการวางแผนดำเนินการแต่เนิ่นๆ แบบค่อยเป็นค่อยไปและเป็นไปด้วยความสมัครใจของพนักงาน บนพื้นฐานของความเข้าใจที่ดีต่อกันระหว่างผู้บริหารและพนักงาน ดังเช่นหลายๆ โครงการที่เกษียณก่อนอายุ หรือโครงการจากกันด้วยดี เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตาม ผู้บริหารจะต้องทำให้พนักงานทุกคนรับรู้ใน “ความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเปลี่ยนแปลง” (Sense of Urgency) คือ ต้องแสดงให้เห็นชัดเจนว่า เราจะอยู่กันแบบนี้ต่อไปอีกไม่ได้แล้ว และหากไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ องค์กรก็จะต้องล่มสลายในที่สุด เพราะสู้กับคู่แข่งไม่ได้ โดยเฉพาะคู่แข่งที่ใช้เทคโนโลยีและมีนวัตกรรมใหม่ๆ
ดังนั้น การพัฒนาองค์กรจึงต้องเริ่มด้วย “การพัฒนาคน” เพื่อทำให้เกิดความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จะที่เกิดขึ้น
การพัฒนาคนในปัจจุบัน จึงมักจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาในเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้ ซึ่งมีทั้ง Hard Skills และ Soft Skills ดังนี้
(1) Analytical thinking and innovation
(2) Active learning and learning strategies
(3) Creativity, originality and initiative
(4) Technology design and programming
(5) Critical thinking and analysis
(6) Complex problem-solving
(7) Leadership and social influence
(8) Emotional intelligence
(9) Reasoning, problem-solving and ideation และ
(10) Systems analysis and evaluation
ทุกวันนี้ องค์กรต่างๆ จะมีโครงการฝึกอบรมพนักงานมากมาย แต่ก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะเมื่อเวลาผ่านไปไม่นานนักพนักงานก็กลับไปคิดแบบเดิมๆ ทำงานแบบเดิมๆ จึงได้ผลลัพธ์เดิมๆ อันเนื่องจากวิธีการฝึกอบรมเป็นแบบเดิม นอกจากนี้ผู้บริหารยังขาดความจริงจังในเรื่องของการติดตามและประเมินผล
ประเด็นนี้ ไอน์สไตน์ ได้กล่าวไว้ว่า “มีแต่คนบ้าเท่านั้น ที่ทำวิธีเดิมซ้ำๆ ซากๆ แต่กลับหวังว่าจะเกิดผลลัพธ์ใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม”
ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้แล้ว อาจจะดูหมดหวังหมดอนาคตก็จริง แต่แท้จริงแล้วเรายังมีคนที่รอการพัฒนา สำหรับความพร้อมในยุคนิวนอร์มอล ครับผม!
โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี | คอลัมน์ ผู้นำยุคสุดท้าย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 6 มีนาคม 2564