การเมืองเวียดนามกับการเปลี่ยนแปลงที่ไทยต้องจับตา
การเมืองเวียดนามกับการเปลี่ยนแปลงที่ไทยต้องจับตา : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย...รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,660 หน้า 5 วันที่ 11 - 13 มีนาคม 2564
ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา เวียดนามคือหนึ่งในประเทศที่คนไทยจำนวนมากจับตามอง และมักจะหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบกับการพัฒนา การในหลากหลายมิติของประเทศไทย และในช่วงระหว่างวันที่ 25 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2021 ที่ผ่านมา ภาคการเมืองของเวียดนามก็มีการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องจับตามองอีกครั้ง อันเป็นผลมาจากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 13 (The 13th National Congress of the Communist Party of Vietnam: CPV)
พรรคคอมมิวนิสต์มีสมาชิกจำนวน กว่า 5.2 ล้านคน และสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1930 ดังนั้น การประชุมสมัชชาใหญ่ปีนี้ที่มีสมาชิกระดับสูงของพรรคกว่า 1,600 คน เข้า ร่วมประชุมจึงเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 91 ของพรรค
วาระการประชุมที่สำคัญที่สุดของสมัชชาใหญ่คือ การเลือกคณะกรรมการกลาง (Central Committee) จำนวน 200 คน และการคัดเลือกกรมการเมือง (Politburo) ซึ่งเป็นแกนกลางของผู้นำร่วม (Collective Leadership) ที่มีอำนาจในการบริหารประเทศสูงสุด จำนวน 18 คน โดยทุกการตัดสินใจของประเทศในระหว่างปี 2021-2025 จะเกิดขึ้นโดยกรมการเมืองคณะที่ 13 ซึ่งเป็นคณะล่าสุด
จากรายชื่อของทั้ง 18 คนที่ขึ้นเป็นกรมการเมือง สิ่งหนึ่งซึ่งผู้สังเกต การณ์การเมืองเวียดนามวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันนั่นคือ ความขัดแย้งของกลุ่มก้อนต่างๆ ในพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามที่เกิดขึ้นในระยะหลัง มีอยู่จริง และมีรอยร้าวระหว่างมุ้งเล็กมุ้งใหญ่ในพรรคจริง และนั่นทำให้ต้องมีการขยายวาระการดำรงตำแหน่งของ เหวียน ฟู จ่อง (Nguyen Phu Trong) เลขาธิการพรรค และผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศออกไปอีก 1 วาระ ทั้งที่โดยปกติประธานาธิบดีจะดำรงตำแหน่งไปเพียง 2 วาระต่อเนื่องเท่านั้น และคุณเหวียน ฟู จ่องเองปีนี้ก็มีอายุ 76 ปีแล้วด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ท่านเป็นผู้อาวุโสที่มีตั้งบารมี พระเดช และพระคุณ ที่ยังสามารถควบคุมให้กลุ่มก้อนต่างๆ ภายในพรรคยังสามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้ สามารถประสานรอยร้าวได้ ดังนั้นการต่อวาระการดำรงตำแหน่งจึงเกิดขึ้น และแน่นอนมาพร้อมกับการต่อรองประสานผลประโยชน์ภายในพรรค และคำถามเกี่ยวกับ ลัทธิบูชาตัวบุคคลที่อาจจะเกิดขึ้นหากมีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับสูงต่อเนื่องยาวนานจนเกินไป อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางส่วนก็ไม่กังวลถึงปัญหานี้ เพราะในเวียดนาม ลัทธิบูชาตัวบุคคลได้เกิดขึ้นอยู่แล้วกับวีรบุรุษของประเทศ นั่นคือ โฮจิมินห์ ซึ่งคงไม่มีใครมาเทียบบารมีได้อย่างแน่นอน
และการอยู่ต่อของประธานาธิบดีก็นำมาสู่คำถามสำคัญว่า แล้วคนที่ควรจะต้องได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนี้อย่าง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คุณเหวียน ซวน ฟุก (Nguyen Xuan Phuc) จะอยู่ในสถานะใด จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ ต้องเข้าใจก่อนว่าในปี 2016 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในเวียดนาม นั่นคือ การที่ประธานาธิบดี เหวียน ฟู จ่อง ให้ลูกน้องคนสนิท เชิ่น ก๊ก เฟือง (Tran Quoc Vuong) ทำหน้าที่หัวหน้าคณะปราบคอร์รัปชัน เข้าปลดอดีตนายกรัฐมนตรี เหวียน เติ่น สุง (Nguyen Ran Dung) ออกจากตำแหน่งด้วยข้อหาคอร์รัปชัน
โดยมีนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าเหตุผลเบื้องหลังคือ การที่อดีตนายกฯ เหวียน เติ่น สุง นิยมใช้บริการนักวิชาการ Technocrat มากกว่าที่จะเชื่อฟังการวางแผนจากพรรคอมมิวนิสต์ ดังนั้น พรรคฯ โดยประธานาธิบดี จึงต้องแสดงอำนาจให้เห็นว่า พรรคยังคงสามารถควบคุมและบริหารจัดการทุกอย่างได้ ดังนั้นจึงต้องปลดคุณเหวียน เติ่น สุง ออกไป และแต่งตั้งคุณเหวียน ซวน ฟุก ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนในปี 2016
จะเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีเหวียน ซวน ฟุก เอง ก็พึ่งดำรงตำแหน่งได้เพียง 1 วาระ บารมียังไม่มากพอ ในขณะที่การควบคุมกลุ่มก้อนต่างๆ ก็ยังคงต้องการคุณเหวียน ฟู จ่อง ประธานาธิบดีมาคุมบังเหียน ดังนั้นในการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคที่ผ่านมา คุณเหวียน ซวน ฟุก จึงเป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับการต่ออายุให้สามารถดำรงตำแหน่งได้ต่อไป และคง จะต้องอยู่ในช่วงของการบ่มเพาะบารมี เพื่อเตรียมขึ้นเป็นว่าที่เลขาธิการพรรคคนต่อไป ต่อจาก เหวียน ฟู จ่อง
อีก 1 ประเด็นที่พวกเราชาวไทยต้องให้ความสนใจอย่างยิ่งกับกรมการ เมืองชุดใหม่ ชุดที่ 13 นี้คือ การปลดคุณเหวียน วัน บินห์ (Nguyen Van Binh) ผู้ว่าการธนาคารกลางและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเวียดนามออกจากกรมการเมือง และให้ คุณเฉิ่น ต่วน แอง (Tran Tuan Anh) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ (Minister of Industry and Trade) ขึ้นมาอยู่ในกรมการเมืองและดำรงตำแหน่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ (Head of the Central Economic Committee) ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า เวียดนามที่เคยใช้นโยบายเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายหลักคือการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (โดยใช้ผู้ว่าการธนาคารกลางเป็นหัวหน้าทีม) มาตั้งแต่ช่วง Sub-Prime Crisis และ Global Financial Crisis (GFC) กำลังปรับเปลี่ยนเป็นการใช้นโยบายเชิงรุก เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นั่นจึงใช้บริการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ
อย่าลืมว่าที่ผ่านมาขนาดเวียดนามใช้เป้าหมายทางเศรษฐกิจที่เน้นรักษาเสถียรภาพ เน้นควบคุมไม่ให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วรุนแรงจนเกินไป เรายังได้เห็นเศรษฐกิจเวียดนามโตปีละ 6-7% ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (อาจจะมีปีที่ได้รับผลกระทบจาก Sub-Prime และ GFC ในปี 2008-2009 และ 2012-2013 เท่านั้นที่โตที่ระดับ 5.2-5.4%) หรือแม้แต่ในปี 2020 ที่ทั่วโลกเศรษฐกิจติดลบภายใต้สถานการณ์โควิด-19 แต่เศรษฐกิจเวียดนามก็ยังขยายตัวด้วยอัตรา 2.8%
ดังนั้นต่อจากนี้ (2021-2025) ที่เวียดนามจะกลับมาใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุก เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังจะฟื้น และห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก (Global Value Chains: GVCs) จะกลับมาอยู่ที่มูลค่า 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯได้เท่าเดิม เสมือนก่อนโควิด-19 เวียดนามเตรียมเร่งเครื่อง ยนต์ทางเศรษฐกิจแล้วอย่างเต็มที่ เพื่อรับกับโอกาสการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั่วโลก คำถามต่อประเทศไทยก็คือ แล้วเราแสดงความพยายาม เตรียมเนื้อ เตรียมตัว เพื่อรับโอกาสที่จะเข้ามาครั้งนี้แล้วหรือยัง
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 10 มีนาคม 2564