"ทักษะด้านข้อมูล" คืออนาคตองค์กรในยุคอุตสาหกรรม 4.0

"ทักษะทางด้านข้อมูล" ปัจจัยสำคัญในการปรับเปลี่ยนไปสู่องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่จะต้องเกิดจากวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลขององค์กร และทักษะของพนักงานในองค์กร โดยเฉพาะผู้บริหารจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ วางกลยุทธ์
 
โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยข้อมูล หลายหน่วยงานผลักดันให้มีการรวบรวมข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล มีการทำโครงการ Big Data มีการเปิดข้อมูลสาธารณะกันมากมาย สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ได้ แต่หลายองค์กรกลับพบว่า แม้จะมีข้อมูลจำนวนมากที่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ แต่การทำงานในองค์กรยังเป็นรูปแบบเดิมๆ ที่มักจะไม่ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ บางองค์กรทำโครงการ Big Data แต่ก็พบว่า ผลงานที่ออกมาจากโครงการกลับถูกนำไปใช้เพียงเล็กน้อยและมีเพียงคนบางกลุ่มที่ได้ใช้งาน
 
ปัจจัยสำคัญในการปรับเปลี่ยนไปสู่องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-driven Organization) คือ วัฒนธรรมการใช้ข้อมูลขององค์กร (Data Culture) และทักษะของพนักงานในองค์กร โดยเฉพาะผู้นำสูงสุดและผู้บริหารจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ ในการวางกลยุทธ์ แต่ก็พบว่า ทักษะทางด้านข้อมูล (Data Literacy) ยังไม่เป็นที่คุ้นเคยนักกับการทำงานแบบไทยๆ เพราะเราไม่ได้ถูกสร้างวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลมาแต่เด็ก และหลายครั้งเรามักใช้ความรู้สึก ความชอบ หรือความคิดเป็นปัจจัยในการตัดสินใจมากกว่าการใช้ข้อมูล
 
“ทักษะด้านข้อมูล” เป็นคำที่หลายคนมักคิดว่าเป็นเรื่องนักวิเคราะห์ข้อมูล นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์และสถิติ แต่แท้จริงแล้วการที่บอกว่าคนทำงานในปัจจุบันต้องมีทักษะด้านข้อมูล ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้ทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเหล่านั้น และไม่ใช่ว่าทุกคนต้องสามารถสร้างข้อมูล ต้องทำ Dashboard หรือพยากรณ์เรื่องต่างๆ จากข้อมูลได้
 
ตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับทุกๆ คน คือ การใช้ชีวิตประจำวันล้วนสร้างข้อมูลขึ้นมาทั้งสิ้น เช่น วันหนึ่งๆ เราเดินกี่ก้าว ทานอาหารกี่มื้อ ทำงานช่วงเวลาไหน เดินทางไปที่ใด ออกกำลังกายมากน้อยเพียงใด ล้วนแต่มีการสร้างข้อมูลขึ้นมาตลอดเวลา
 
และอีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ รายการกีฬาของทีวีต่างประเทศ เราได้เห็นสถิติต่างๆ แสดงบนหน้าจอมากมาย รวมไปถึงรายการข่าวสารที่ปัจจุบันมักจะมีข้อมูลตัวเลขมากขึ้น กรณีการแถลงสถานการณ์โควิด เราได้เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน แสดงออกมาเป็นกราฟ และมีการวิเคราะห์เปรียบเทียบ
 
คำถามง่ายๆ คือ เราเคยรู้จักใช้ข้อมูลและตั้งคำถามจากข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ ดังเช่นข่าวทีวี ข่าวในสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดียเราเคยตั้งคำถามบ้างหรือไม่ว่าเพราะอะไร ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ข้อมูลถูกต้องหรือไม่ หรือแม้แต่ข้อมูลการติดเชื้อโควิด เคยมีคำถามลงลึกหรือไม่ว่าการติดเชื้อมีแนวโน้มอย่างไร ที่ใด แบ่งกลุ่มอย่างไร และที่ใกล้ตัวเข้ามาอีกกับการใช้นาฬิกาอัจฉริยะหรืออุปกรณ์ไอโอทีต่างๆ เราเคยนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และตั้งคำถามหรือไม่ ว่าข้อมูลที่ปรากฏขึ้นมานั้นบอกอะไรบ้าง
 
จากประเด็นคำถามต่างๆ สำหรับผู้ที่มีทักษะทางด้านข้อมูลจะคุ้นเคยกับการใช้ตัวเลขเหล่านี้ โดยสามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจได้ดีขึ้น มีการใช้กราฟ ใช้ตัวเลข และสถิติต่างๆ เป็นเรื่องปกติที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน ทั้งทางด้านการทำงานและเรื่องส่วนตัวในที่นี้ขอสรุปว่าการที่จะให้บุคลากรในองค์กรมีทักษะทางด้านข้อมูล ควรจะต้องสร้างทักษะให้บุคลากรรู้จักการใช้ข้อมูล 4 ด้าน ดังต่อไปนี้
 
1). มีความสามารถในการอ่านข้อมูลและเข้าใจความหมาย เสมือนกับการอ่านหนังสือในแต่ละภาษา
 
2). มีความสามารถในการทำงานกับข้อมูล มีความคุ้นเคยและรู้สึกเป็นเรื่องปกติในการเห็นข้อมูล การดูกราฟ ดูตัวเลข และเข้าใจได้ว่าข้อมูลนั้นถูกต้องหรือไม่
 
3). มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล กล่าวคือ รู้จักการตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อมูล ว่าเพราะอะไร ทำไม และสามารถเจาะลึกข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น
 
4). มีความสามารถในการโต้แย้งกับข้อมูล ที่นำเสนอมาได้ และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้
 
การจะสร้างทักษะเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเรียนทางด้านสถิติ เขียนโปรแกรม หรือใช้เครื่องมือต่างๆ แต่สิ่งสำคัญต้องมีอุปนิสัยที่สำคัญสองประการคือ ความอยากรู้อยากเห็น และต้องมีความคิดสร้างสรรค์ สองสิ่งนี้จะช่วยสร้างการมีทักษะข้อมูลของคนองค์กรได้ดี
 
ดังนั้นหากเราสามารถสร้างวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลในองค์กร สร้างให้พนักงานมีทักษะทางด้านข้อมูลได้ ก็จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้เป็นอย่างดี และจะสามารถแข่งขันในโลกที่กำลังเป็นยุคของข้อมูลได้อีกด้วย
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 15 มีนาคม 2564

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)