"ภาษีอีเซอร์วิส" ยกระดับจัดเก็บรายได้

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัป ทำให้กระทรวงคลังต้องออกกฎหมายการจัดเก็บภาษีอีเซอร์วิส ซึ่งจะมีความจำเป็นมากขึ้น จากสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลต่อจีดีพีมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นภาครัฐต้องปรับปรุงกฎหมายให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้แข่งขันอย่างเป็นธรรม
 
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2564 เป็นกฎหมายที่กระทรวงการคลังเสนอเพื่อให้มีอำนาจในการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Service ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย.2564 กำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่มีรายได้จากการให้บริการ e-Service ในประเทศไทยตั้งแต่ปีละ 1.8 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องยื่นจดทะเบียนชำระภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร
 
การดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จะต้องออกกฎหมายลูกในรูปแบบกฎกระทรวงและประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการจัดเก็บภาษีดังกล่าว โดยครอบคลุมถึงรายละเอียดและขั้นตอนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการจัดเก็บภาษี ซึ่งการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนของการจัดเก็บภาษี e-Service ต่างเห็นด้วยกับหลักการของการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทิศทางของหลายประเทศมีการจัดเก็บภาษีลักษณะเดียวกัน
 
ข้อเสนอขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ในการจัดเก็บภาษี e-Service ถูกกำหนดเป็นต้นแบบในการจัดเก็บภาษีแล้ว 61 ประเทศ ซึ่งในเอเชียมีประเทศที่จัดเก็บภาษีดังกล่าวแล้ว คือ เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย ไต้หวัน บังกลาเทศ ภูฏาน มาเลเซีย เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ อินเดีย อุซเบกิสถาน โดยมีหลักการเดียวกัน คือ ผู้ประกอบการต่างประเทศ หรือ อิเล็กทรอนิกส์แฟลตฟอร์ม ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้หน่วยงานจัดเก็บ
 
การจัดเก็บภาษี e-Service มีความจำเป็นมากขึ้น เพราะสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษีระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ในขณะที่การจัดเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์จะถูกปิดช่องโหว่ลง เพราะกฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผลบวกต่อประเทศไม่ได้มีเฉพาะรายได้ภาษีที่สูงขึ้นเพียงอย่างเดียว
 
การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศธุรกิจที่มีแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมจากปัจจัยอื่น ทำให้หน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจจำเป็นต้องตามให้ทัน และปรับปรุงกฎหมายให้ทันเพื่อให้กำกับดูแลให้แข่งขันอย่างเป็นธรรม รวมถึงส่งเสริมธุรกิจประเภทใหม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังยังมีกฎหมายภาษีหลายตัวที่ต้องปรับปรุงในอนาคต โดยเฉพาะลักษณะรายได้ของวัยแรงงานที่กำลังเปลี่ยนไป
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 22 มีนาคม 2564

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)