"สุเอซ" ยังไม่จบสะเทือนค้าไทยต่อ
เอกชนชี้เรือขวางคลองสุเอซคลี่คลายแล้ว แต่เรื่องยังไม่จบ ผลกระทบตามมาอีกอื้อ ทั้งสะเทือนการค้าไทย-อียู 1.1 ล้านล้านบาท 10 สินค้าถูกชะลอออเดอร์ใหม่ จับตาผู้ซื้อไม่รับของ ต่อรองช่วยจ่ายภาษี ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนเพิ่มทำค้าโลกสะดุด
เหตุเรือ Ever Given (เอเวอร์ กิฟเว่น) เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ของบริษัทเรือ Ever Green ที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ความยาว 400 เมตร เกิดอุบัติเหตุเกยตื้นขวาง คลองสุเอซ ซึ่งเป็นเส้นทางหลัก การขนส่งสินค้าเอเชีย-ยุโรป ทำให้คลองสุเอซเป็นอัมพาตมาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2564 ส่งผลให้เรือบรรทุกสินค้า น้ำมัน และก๊าซ มากกว่า 450 ลำต้องติดอยู่ในเส้นทางดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญ ประเมินความเสียหายในเบื้องต้น ถึง 9,600 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อวัน
ล่าสุดวันที่ 29 มีนาคม สถานการณ์แม้เริ่มคลี่คลาย คลองสุเอซ เริ่มกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง หลังปฏิบัติการขยับเรือเอเวอร์ กิฟเว่น ประสบความสำเร็จและลากพ้นการกีดขวาง ผู้เชี่ยวชาญคาดภายใน 4 วันหลังจากนี้ทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะปกติ และคงต้องใช้เวลาทั้งวันและคืนเพื่อระบายเรือที่รอคิวสัญจร
นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ)ผู้ชำนาญการด้านโลจิสติกส์ การค้าระหว่างประเทศและสิทธิประโยชน์ภาษีอากร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แม้สถานการณ์คลองสุเอซจะเริ่มคลี่คลาย แต่ยังมีประเด็นที่จะตามมาหลังจากนี้อีกมากที่สำคัญได้แก่ ตู้สินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์ที่โลกขาดแคลนอยู่แล้ว จะขาดแคลนมากขึ้น เพราะปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ในเรือเอเวอร์ กิฟเว่น ซึ่งมีมากกว่า 18,300 ตู้ รวมกับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ในเรือต่าง ๆ ที่รอเข้า-ออกคลองสุเอซ ซึ่งความล่าช้าในการส่งมอบสินค้าจะทำให้ตู้กลับคืนหมุนเวียนในระบบช้าลง
ต่อมาคือความล่าช้าในการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าในยุโรปที่ช้าลงจากเดิม ทำให้คู่ค้าเสียโอกาสในการขาย และจะกระทบกับโรงงานผลิตต้นทางเป็นลูกโซ่ ซึ่งหากผู้ส่งออกไทยรับเงินตามแอล/ซีอาจจบกันไป แต่ถ้าเป็นการรับเงินโดยการโอนเงินอาจมีการต่อรองจากผู้ซื้อให้ผู้ส่งออกไทยช่วยชดเชยความเสียหายจากความล่าช้าในการส่งมอบ รวมถึงอาจขอให้จ่ายภาษีนำเข้าในกรณีหากยังรับมอบสินค้า
“คู่ค้ามีสิทธิตีกลับไม่รับของหากเลยเวลาที่กำหนด แล้วให้ผู้ส่งออกไปจ่ายค่า Freight (ค่าระวางเรือ) เอง ตรงนี้จะเป็นภาระของผู้ส่งออก หลายเรื่องจะยุ่งยากมากขึ้น คงขึ้นกับการเจรจาต่อรอง”
บทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ผู้ส่งออกต้องตระหนักถึงการทำประกันภัยขนส่งสินค้าทางทะเล รวมถึงต้องหาซัพพลายเออร์เพิ่มกรณีที่ต้องนำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบจากยุโรปเข้ามาผลิตสินค้าแล้วส่งออก อาจต้องหาผู้ขายวัตถุดิบในแหล่งอื่นของโลกเพิ่ม เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรืออาเซียน เพื่อลดความเสี่ยง
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)กล่าวว่า จากเหตุการณ์คลองสุเอซช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยุโรปมีความล่าช้า ซึ่งในปี 2563 การค้าไทย-สหภาพยุโรป(รวมอังกฤษ)มีมูลค่ากว่า 1.1 ล้านล้านบาท สินค้าหลักของไทยที่ขนส่งผ่านคลองสุเอซ อยู่ในกลุ่มสินค้า 10 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปยุโรป ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่อง ปรับอากาศและส่วนประกอบ, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, รถจักร ยานยนต์ และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า, ไก่แปรรูป, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ และเครื่องนุ่งห่ม
“ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการส่งมอบที่ล่าช้า คู่ค้าชะลอออร์เดอร์ใหม่เพื่อรอดูสถานการณ์ และจากนี้ตู้คอนเทนเนอร์มีแนวโน้มขาดแคลนมากขึ้น จากตู้หมุนเวียนช้าลง ในส่วนของค่าระวางเรือ ค่าธรรมเนียมต่างๆ เท่าที่สอบถามสมาชิกยังไม่ปรับขึ้น สรท.ยังคาดการณ์ส่งออกไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 4% ตามที่ตั้งไว้เดิม”
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 31 มีนาคม 2564