หอการค้าห่วงโควิดระบาดรอบใหม่ กระทบเศรษฐกิจจังหวัดท่องเที่ยว

“หอการค้า”ห่วงโควิดรอบใหม่  กระทบอุตสากรรมท่องเที่ยวตามหัวเมืองต่างจังหวัด  6 เดือนหน้ามองการท่องเที่ยวยังแย่ ไม่มีสัญญานฟื้น แม้ว่าในภาพรวมสินค้าเกษตรหลายตัวจะมีราคาดีขึ้น
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์ พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนมี.ค. 2564 ว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 369 ตัวอย่างที่เป็นประธานหอการค้าจังหวัด และกรรมการหอการค้าไทยทุกจังหวัด ระหว่างวันที่ 23 -29 มี.ค. 2564 ทั่วประเทศ ซึ่งยังไม่รวมกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุดที่เกิดจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ  
 
โดยพบว่าปัจจัยลบที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าหลัก ๆ คือความวิตกกังวลความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส วิด-19 รอบใหม่ ถึงแม้สถานการณ์จะเริ่ม คลี่คลายลงบ้างแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ความกังกลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองและสถานการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมทางการเมือง เป็นต้น
 
ส่วนปัจจัยบวกสำคัญ เช่น ภาครัฐดำเนินการเพื่อสนับสนุน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน เราชนะ และเรารักกัน ซึ่งกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศให้ปรับตัวดีขึ้น แผนการกระจายวัคซีนของรัฐบาลในพื้นที่เสี่ยงเป็นรูปธรรมมากขึ้นและจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลงอย่างชัดเจน รวมทั้งการฉีดวัคซีนของทั้งโลกทำให้สถานการณ์โควิด-19 ปรับตัวดีขึ้น ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้น เป็นต้น
 
ทั้งนี้จากปัจจัยลบต่าง ๆทำให้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของจังหวัดแย่ลง โดย 72.8% ตอบว่าเศรษฐกิจของจังหวัดโดยรวมแย่ลง 60% ตอบว่าการบริโภคภายในจังหวัดแย่ลง การลงทุนของภาคเอกชนในจังหวัดแย่ลง 70.9% การจ้างงานในจังหวัดแย่ลง 79.9% การท่องเที่ยวในจังหวัดแย่ลง 94.1% ภาคเกษตรกรรมจังหวัดแย่ลง 61.3% เป็นต้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าในปัจจุบันเดือนมี.ค.อยู่ที่ระดับ 20.9 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก.พ.ที่ผ่านมาเล็กน้อย ที่อยู่ในระดับ 20.1  ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าในอนาคตอยู่ที่ 40.5 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ในระดับ 39.1 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าโดยรวมอยู่ที่ระดับ 30.7 เป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนตั้งแต่เดือนธ.ค. 2563
 
สำหรับข้อเสนอแนะที่กลุ่มตัวอย่างต้องการให้ภาครัฐดำเนินนการเพื่อแก้ไขปัญหา คือ เร่งพิจารณาแผนการผ่อนคลายภายในประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ  พิจารณากฎระเบียบในการเดินทางเข้าออกประเทศ เช่น การทำวัคซีนพาสปอร์ตมาใช้ รวมทั้งมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศ  เร่งกระจายวัคซีนให้ประชาชนทุกภาคอย่างทั่วถึง และออกมาตรการเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินกิจการและการจ้างงาน
 
“ สิ่งที่น่าห่วงคือในแต่ละจังหวัดตอบว่าการท่องเที่ยวในจังหวัดแย่ลงและมุมมองในอีก 6 เดือนหน้าก็ยังมองว่าการท่องเที่ยวก็ยังแย่อยู่ ดังนั้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงได้รับผลกระทบที่แรงมาก ยังไม่มีสัญญานฟื้น ส่วนภาคเกษตรกรรมแม้ว่าในภาพรวมสินค้าเกษตรหลายตัวจะมีราคาดีขึ้น แต่ก็ยังมองว่าสถานการณ์แย่ลงและในอนาคตก็ยังแย่ลงและไม่ได้ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งก็อาจเกิดจากปัญหาภัยแล้งที่แม้ราคาผลผลิตจะดีขึ้นแต่เกษตรกรไม่มีสินค้าในมือ จึงทำให้กลุ่มตัวอย่างตอบว่าสถานการณ์ในส่วนนี้ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น ดังนั้นเมื่อภาคท่องเที่ยวและภาคเกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นการจ้างงานหลักและเป็นกำลังซื้อหลักของต่างจังหวัด ยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นก็จะส่งผลให้กำลังซื้อของประเทศไม่สามารถฟื้นตัวได้ถึงไตรมาสที่สาม สำหรับการระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุดนี้ก็ยิ่งตอกย้ำว่าภาคการท่องเที่ยวของไทย จะไม่ใช่ตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยไปจนถึงไตรมาสสามเช่นกัน ซึ่งถือว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่มีกำลังมากพอที่จะฟื้นขึ้นมาทำให้ต้องอาศัยการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐต่อไป”
 
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโดยรวมของทุกจังหวัดยังถือว่าแย่มากทุกส่วนโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและภาคการเกษตรแทบทุกจังหวัดมีดัชนีความเชื่อมั่นที่ต่ำกว่าระดับ 33 จากก่อนหน้านี้ที่มีการระบาดของโควิด-19 จะอยู่ที่ระดับ 40 แสดงว่าเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัดจะยังไม่ฟื้นตัวและคาดว่าไตรมาสแรกของปีเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดจะยังติดลบโดยเฉพาะภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากภาคท่องเที่ยวและภาคการเกษตรอย่างหนัก
 
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 8 เมษายน 2564
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)