ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ "โควิด-19" กระทบ "การครองชีพครัวเรือนไทย" รัฐควรเร่งสร้างความเชื่อมั่น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมิน "การครองชีพครัวเรือนไทย" และ "เศรษฐกิจ" รับผลกระทบ "โควิด-19" ชี้รัฐบาลควรเร่งออกมาตรการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ครัวเรือนโดยเฉพาะความชัดเจนในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค และจัดสรรวัคซีนให้ครอบคลุมสถานการณ์ "โควิด-19" ได้กลับมารุนแรงขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยศูนย์กลางการระบาดในครั้งนี้อยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ และกระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็วส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของครัวเรือนรวมถึงภาคธุรกิจกลับมาเผชิญความไม่แน่นอนสูงอีกครั้ง
ในระยะข้างหน้าภาวะ เศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนจะถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยครัวเรือนมีแนวโน้มกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งภาวะดังกล่าวจะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อภาคเศรษฐกิจ
ทำให้ผลสำรวจช่วงปลายเดือนมี.ค. 64 ที่พบว่าครัวเรือนไทย (KR-ECI) มีมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่ดีขึ้น จะไม่ได้สะท้อนภาพผลกระทบของการระบาดของไวรัสในรอบใหม่นี้ต่อภาวะการครองชีพของครัวเรือนในระยะอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในระยะเวลาอันสั้น จากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงต้นเดือนเม.ย. 64 ที่ผ่านมา สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้กลับมารุนแรงขึ้น โดยสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ครั้งนี้จะส่งผลกระทบให้ความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนที่เริ่มปรับตัวดีในเดือนมี.ค. 2564 กลับมาเผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้นอีกครั้ง
โดยเฉพาะมุมมองต่อรายได้และการมีงานทำ หลังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบจากแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีความเป็นไปได้ที่จะล่าช้าออกไปจากแผนเดิม อีกทั้งการพึ่งพาอุปสงค์จากนักท่องเที่ยวในประเทศอาจทำได้ยากขึ้น
หลังเริ่มมีนโยบายการกักตัวจากจังหวัดต้นทาง ขณะที่แผนการฉีดวัคซีนในประเทศรวมถึงความเพียงพอของวัคซีนยังคงมีความไม่ชัดเจนสูง โดยปัจจุบันอัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรกของไทยต่อจำนวนประชากร ณ วันที่ 8 เม.ย. 64 อยู่ที่ 0.6% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า รัฐบาลควรจะต้องเร่งออกมาตรการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ครัวเรือนและภาคส่วนต่างๆในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความชัดเจนในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค รวมไปถึงการเร่งดำเนินการในเรื่องของวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรจำนวนมากได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อเนิ่นนานออกไป อาจจะมีผลไม่เพียงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของครัวเรือนในประเทศเท่านั้น แต่ยังอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีนี้ที่จะเป็นความหวังในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้ต่อเนื่องไปยังปีหน้าอีกด้วย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 11 เมษายน 2564