“อาร์เซ็ป”ดึงส่วนเเบ่งไทย ร่วมห่วงโซ่คุณค่าโลกเพิ่ม

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP(Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement) นับเป็นอีกหนึ่งความตกลงการค้า -บริการ- และการลงทุน อีกฉบับที่สำเร็จครบ จบไปแล้วหลังรัฐสภาโหวตเห็นชอบให้สัตยาบัน RCEP ด้วยคะแนนเสียง 526 เสียง
 
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า RCEP จะช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้า บริการและการลงทุน ในตลาดการค้าที่ใหญ่ขึ้น สามารถสรรหาวัตถุดิบการผลิตที่มีความหลากหลายทั้งด้านคุณภาพและราคาจากประเทศสมาชิก RCEP เกิดการขยายเครือข่ายภาคการผลิตและการกระจายสินค้าภายในภูมิภาค ตลอดจนเชื่อมโยงสินค้าและบริการของไทยเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าโลกอีกด้วย
 
“ตลาดขนาดใหญ่ที่ว่านี่คือ มีประชากรรวมกันเกือบ 2,252 ล้านคน หรือ 30.2%  ของประชากรโลก มี GDP มากกว่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์  ซึ่งมีการค้าและการลงทุนของไทยมากกว่า50% อยู่ในตลาดของสมาชิก RCEP” 
 
นอกจากนี้ หลังข้อตกลงมีผลบังคับใช้ ไทยจะได้โอกาสทางสิทธิพิเศษทางภาษีเพิ่มขึ้นจากสินค้าที่ประเทศคู่เจรจาจะยกเลิกภาษีให้ไทยเป็น 0% รวมทั้งหมด 39,366 รายการ โดยสินค้าที่ประเทศคู่เจรจาจะยกเลิกภาษีเป็น 0 ทันทีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ จำนวน 29,891 รายการ  ที่เหลือจะทยอยลดภาษีภายใน 10-20 ปี จำนวน 9,475 รายการ
 
 RCEP ยังกำหนดให้สินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และสินค้าอุตสาหกรรมสินค้าที่ไทยได้จากการเปิดตลาดเพิ่มเติมจากความตกลง ASEAN+1 รวมทั้งหมด 653 รายการ แบ่งเป็น33 รายการจากจีน 207 รายการจากญี่ปุ่น และ 413 รายการจากเกาหลีใต้
 
อย่างไรกก็ตาม ทั้ง 3 ประเทศกำหนดเวลาที่จะยกเลิกภาษีในกรอบเวลาที่ต่างกัน โดยเกาหลีใต้ กำหนดไว้ที่ 15 ปี เช่น ผักผลไม้แปรรูปและไม่แปรรูป   ญี่ปุ่น กำหนดยกเลิกภาษีส่วนใหญ่ภายใน 16 ปี เช่น สินค้าประมง ผัก/ผลไม้ปรุงแต่ง และ จีน กำหนดยกเลิกภาษีส่วนใหญ่ภายใน 20 ปีและ 10 ปีเช่น พริกไทย น้ำมะพร้าว
 
อรมน กล่าวอีกว่า ยังมีโอกาสที่จะช่วยยกระดับภาคการผลิตของไทยเพราะ RCEP ขยายห่วงโซ่อุปทานจากการสะสมถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น จากการอนุญาตให้สมาชิกทั้ง 15 ประเทศสามารถนำวัตถุดิบที่ได้ถิ่นกำเนิดภายใต้ความตกลง RCEP มาสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าต่อได้ ถือเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญของความตกลง RCEP
 
“เมื่อเปรียบเทียบกับเอฟทีเออาเซียนที่มีอยู่ที่จะสามารถสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าได้เพียง 10-12 ประเทศเท่านั้น ดังนั้น ความตกลง RCEP จะช่วยเพิ่มโอกาสในการผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งจะส่งผลให้การค้าและการลงทุนในภูมิภาคขยายตัวเพิ่มขึ้น”
 
ด้านโอกาสบริการและการลงทุนที่จะมีมากขึ้น ได้แก่ด้านกฎระเบียบ ความตกลง RCEP ได้ลดหรือยกเลิกกฎระเบียบและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของภาคบริการ หรือการลงทุนที่ไม่ใช่ภาคบริการ เช่น มาตรการ/ขั้นตอนในการขอรับใบอนุญาต และการตรวจสอบคุณวุฒิ/คุณสมบัติของผู้ให้บริการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเกินจำเป็น จะช่วยส่งเสริมการออกกฎระเบียบและมาตรการด้านการลงทุนมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นและไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจนเกินจำเป็น นักลงทุนไทยสามารถจัดตั้งกิจการและลงทุนในประเทศของสมาชิกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
 
ด้านการเปิดตลาด ความตกลง RCEP จะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในประเทศภาคี RCEP ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ ก่อสร้าง ธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และบันเทิง ประเภทเทคนิคตัดต่อภาพและเสียง การผลิตแอนิเมชั่น ค้าปลีก
 
ด้านดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ไทยมีการเปิดตลาดเพื่อเปิดรับการลงทุนคุณภาพที่ไทยยังมีความต้องการในสาขาที่ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ต้องการได้รับการพัฒนา know how และการบริหารจัดการที่มีมาตรฐาน เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นในประเทศ และต่อยอดเป้าหมายการส่งเสริมอุตสาหกรรม S curve ตามนโยบายรัฐบาล เช่น การวิจัยและพัฒนา สิ่งแวดล้อม ICT การศึกษา การซ่อมบำรุงรักษาชิ้นส่วนอากาศยาน
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ 
วันที่ 12 เมษายน 2564  

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)