เอกชนจี้รัฐตัดสินใจ "CPTPP" ด้าน กนศ.ส่งการบ้าน ครม.เคาะท่าทีไทย 

กนศ. เร่ง 8 คณะอนุกรรมการ ส่งการบ้านซีพีทีพีพี ก่อนสรุปท่าทีไทยเสนอครม.เคาะเข้าร่วมซีพีพีทีพี ก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีซีพีทีพีพีในเดือนส.ค.นี้
 
ความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP)  ยังคงเป็นประเด็นข้อถกเถียงที่สำคัญในสังคมไทยถึงการตัดสินใจ “เข้าร่วม” หรือ “ไม่เข้าร่วม” หลังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงซีพีทีพีพี สภาผู้แทนราษฏร ชี้ว่าไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วมซีพีทีพีพี ทำให้ไทยต้องพลาดการการยื่นสมัครเข้าร่วมเจรจาในต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกซีพีทีพีพี เมื่อเดือน ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา 
 
 
ล่าสุดดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(กนศ.) คนใหม่ ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 เพื่อพิจารณาข้อสรุปของคณะกรรมาธิการฯ และมีมติตั้งคณะอนุกรรมการ รวม 8 คณะ เพื่อพิจารณารายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ประกอบด้วย .1 คณะอนุกรรมการฯ ด้านเกษตรและพันธุ์พืช 2. คณะอนุกรรมการฯ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข 3. คณะอนุกรรมการฯ ด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน 4. คณะอนุกรรมการฯ ด้านการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ และเอกชนกับรัฐ 5. คณะอนุกรรมการฯด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 6. คณะอนุกรรมการฯ ด้านการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและรัฐวิสาหกิจ 7. คณะอนุกรรมการฯ ด้านแรงงาน และ 8. คณะอนุกรรมการฯ ด้านการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ
 
หน้าที่หลักๆของอนุกรรมการฯคือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันประเมินความพร้อมของไทย และจัดทำแผนงานการปรับตัวตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมซีพีทีพีพี และให้เสนอแผนงานฯ ต่อที่ประชุม กนศ. เพื่อสรุปให้ได้ว่าจะเดินหน้าเข้าร่วมซีพีทีพีพีหรือไม่ กำหนดเสร็จสิ้นใน 90 วันก่อนนำเสนอข้อสรุปดังกล่าวให้กับที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป เพื่อตัดสินใจก่อนจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกในเดือน ส.ค.ของทุกปี ซึ่งจะมีวาระเปิดให้ประเทศอื่นสมัครเข้าร่วมการเจราเพื่อเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี
 
ล่าสุดคณะอนุกรรมการฯทั้ง 8 คณะได้รายงานความคืบหน้าผลการพิจารณาเสนอต่อนายดอนแล้ว โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์นั้น ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขากนศ. ระบุว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทบทวนรายละเอียดอีกครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมเจรจาซีพีทีพีพี โดยต้องเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป
 
 
ทั้งนี้ไทยจะมีท่าทีเข้าร่วงวงเจรจาซีพีทีพีพี จะต้องพิจารณาข้อมูลให้รอบด้าน ผลดีผลเสีย ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี เช่น การค้า สินค้า อีคอมเมิร์ซ การบริการ และการลงทุน สาธารณสุข และพันธุ์พืช รวมถึงเรื่องกองทุนเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าการเข้าร่วมซีพีทีพีพีจะเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน ในยุคเศรษฐกิจโลกที่อาศัยข้อตกลงทางการค้าในกรอบต่างๆมาเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า แต่ต้องคำนึงและยึดผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้งด้วย
 
ด้านท่าทีของภาคเอกชนทั้งสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ย้ำถึงการสนับสนุนให้เข้าร่วมเจรจาเพื่อไม่ให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางการค้าและการลงทุน
 
กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสรท. กล่าวว่า ไทยเสียเวลาไป 1ปี ขณะนี้ก็ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาประเด็นที่อ่อนไหวโดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูมาอีกรอบ ทางภาคเอกชนเห็นว่า ทุกอย่างน่าจะตัดสินได้แล้ว ซึ่งภาคเอกชนอยากไทยเข้าร่วมเจรจาตั้งแต่ปี 2563 เพื่อเข้าไปเจรจาดูว่าสิ่งใดที่เสียประโยชน์ และสิ่งใดที่จะได้ประโยชน์ 
 
โดยใน 2 เรื่องหลักที่กังวล คือ ประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (CL)และประเด็นอนุสัญญาคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ที่เรียกว่า UPOV1991 นั้นเป็นประเด็นที่สามารถต่อรองหรือเจรจาได้ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเงื่อนไขการเจรจาเฉพาะกรอบซีพีทีพีพี แต่ก็เป็นเงื่อนไขในกรอบความตกลงอื่นด้วยเช่นกัน เช่น เอฟทีเอไทย-อียู เป็นต้น
 
“เราเสียเวลาไป 1 ปีก็เท่ากับเสียโอกาสไป 1 ปี ที่ผ่านมาภาคเอกชนได้เตรียมความพร้อมเสริมความแข็งแกร่งเพื่อรองรับการเข้าร่วมซีพีทีพีพี ซึ่งหากเราเข้าไปเจรจาก่อนก็ได้เปรียบ เพราะขณะนี้สหรัฐต้องการกลับเข้ามาอีกครั้งหากมีการตั้งเงื่อนไขการเจรจามากขึ้นเราจะเจรจายากขึ้น"
 
นอกจากนี้หากพิจารณาจะพบว่า ปัจจุบันที่ไทยไม่เข้าร่วมข้อตกลงก็เสียเปรียบอยู่แล้ว ในเรื่องของการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะอย่างเรื่องภาษี ดังนั้นอย่ามองแค่ 2 เรื่องแล้วไม่สนอุตสาหกรรมอื่นๆที่มีความพร้อมและสามารถเติบโตได้มากขึ้นหากเข้าเป็นสมาชิกซีพีทีพี  ดังนั้น ภาคเอกชนต้องการให้เข้าไปเจราจาเพื่อให้ได้เงื่อนไขที่ดีที่สุด การไม่เข้าตั้งแต่ต้นก็ไม่รู้เงื่อนไขของการเจรจา ซึ่งกระบวนการต่างๆในการศึกษาเรื่องซีพีทีพีพีน่าจะได้ข้อสรุปได้แล้ว และรัฐบาลต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในปีนี้
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 14 เมษายน 2564 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)