ประเทศจะข้ามจุดอ่อนด้าน "นวัตกรรม" ได้อย่างไร?
เปิดบทวิเคราะห์ ทำอย่างไรให้ประเทศก้าวข้ามจุดอ่อนในด้าน "นวัตกรรม" เนื่องจากปัจจุบันยังมีช่องว่างด้านเทคโนโลยีในภาคธุรกิจ ที่จะทำให้ศักยภาพที่จะเติบโตในอนาคตมีข้อจำกัดมาก เมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำอย่างสหรัฐ หรือประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน
ตอนต้นเดือน ผมได้รับข้อมูลจากงานศึกษาล่าสุดของธนาคารโลกปีนี้ ว่าระดับการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม (Innovation) ในภาคเอกชนบ้านเราคือบริษัทธุรกิจต่ำสุดในภูมิภาค และบางอย่างต่ำกว่าประเทศอย่างมองโกเลีย กัมพูชา เวียดนาม และลาว วัดโดยการใช้จ่ายด้านค้นคว้าวิจัย (R&D) การใช้เทคโนโลยีต่างประเทศที่ได้รับอนุญาต (Licensing) การใช้นวัตกรรมในกระบวนการผลิตหรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ เห็นตัวเลขแล้วน่าตกใจจนแทบไม่น่าเชื่อ
ช่วงวันหยุดสงกรานต์ ผมจึงอ่านเอกสาร “The Innovation Imperative for Developing East Asia” ของธนาคารโลก ซึ่งเป็นที่มาของตัวเลขดังกล่าว ทำให้เข้าใจชัดเจนว่าสถานการณ์ข้างหน้าของเศรษฐกิจเราน่าห่วงมาก เพราะนอกจากจะมีปัญหาโครงสร้างสำคัญที่เป็นข้อจำกัดต่อเศรษฐกิจแล้ว ศักยภาพของเราที่จะเติบโตในอนาคตก็มีข้อจำกัดมาก จากช่องว่างด้านเทคโนโลยีที่เรามีขณะนี้ในภาคธุรกิจ ซึ่งห่างไกลจากระดับที่ควรมีมากเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในระดับการพัฒนาเดียวกัน เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ในแง่เศรษฐศาสตร์ นวัตกรรมมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะต่อการยกระดับความเป็นอยู่ของคนในประเทศ งานวิจัยเศรษฐศาสตร์ชี้ชัดเจนว่าระดับนวัตกรรมที่ประเทศมีผลโดยตรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะนวัตกรรมทำให้ผลิตภาพ (Productivity) หรือความสามารถที่จะเพิ่มผลผลิตของคนในประเทศสูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ
เราจึงเห็นประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมในทั้งสองความหมาย คือ ความสามารถในการคิดค้นหรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ (Invention) และความสามารถในการประยุกต์ใช้ (Adoption) เทคโนโลยีที่มีอยู่ในกระบวนการผลิต เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน จะเป็นประเทศที่ไปได้ดีทางเศรษฐกิจและมีรายได้สูง ขณะที่ประเทศอื่นๆ เป็นผู้ตามหรือล้าหลังกว่า และจากข้อมูลธนาคารโลกล่าสุด ประเทศเราตอนนี้อยู่ท้ายแถวในเรื่องนี้
การศึกษาของธนาคารโลกชี้ว่าความสามารถด้านนวัตกรรมในทั้งสองความหมาย คือ ประดิษฐ์และประยุกต์ใช้ จะเป็นความท้าทายต่อทุกประเทศในเอเชียตะวันออก ในความพยายามของประเทศเหล่านี้ที่จะเพิ่มผลิตภาพการผลิตเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ การทำให้เศรษฐกิจภูมิภาคยังเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตโลก ไม่ตกขบวน และในการเพิ่มศักยภาพให้ภูมิภาคสามารถตั้งรับผลกระทบอย่างโควิด-19 ที่อาจจะเกิดขึ้นอีก
ที่ผ่านมาข้อมูลชี้ว่าภาคธุรกิจในภูมิภาคมีช่องว่างในเรื่องเทคโนโลยีมากเมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำอย่างสหรัฐ หรือเทียบกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน ช่องว่างนี้ธนาคารโลกวิเคราะห์ว่าเป็นผลจาก 5 ปัจจัยที่ต้องแก้ไข
1). ความไม่แน่นอนและการขาดข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์และต้นทุนของเทคโนโลยี ทำให้นักธุรกิจในภูมิภาคมองเทคโนโลยีเป็นความเสี่ยงมากกว่าเป็นโอกาส เพราะไม่แน่ใจในเรื่องประโยชน์และผลตอบแทนที่จะได้รวมถึงความต้องการสินค้าว่าจะเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ถ้ามีการลงทุนด้านเทคโนโลยี ทำให้นักธุรกิจไม่กล้าลงทุน
2). ความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจอาจมีไม่พอที่จะนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ เพราะคุณภาพในการบริหารจัดการยังไม่ถึง ประเด็นนี้สำคัญ เพราะความสามารถในการบริหารคือพื้นฐานที่จะรองรับการอัพเกรดด้านเทคโนโลยีของบริษัท เป็นประเด็นที่ภาคเอกชนในเอเชียตะวันออกมีข้อจำกัดและไม่สามารถตามทันบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ ทำให้เสียโอกาสที่จะลงทุนอัพเกรดเทคโนโลยี
3). คุณภาพและทักษะแรงงานไม่เอื้อหรือมีไม่พอต่อการอัพเกรด ไม่ใช่เฉพาะระดับการศึกษา แต่หมายถึงทักษะขั้นสูงด้านเทคนิค การเรียนรู้และการตัดสินใจที่ต้องมี เป็นข้อจำกัดสำคัญของการปรับตัวด้านเทคโนโลยีของบริษัทในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศไทย ตัวอย่างง่ายๆ คือ บริษัทที่เน้นใช้นวัตกรรมในกระบวนการผลิตจะต้องการลูกจ้าง หรือพนักงานที่มีการศึกษาและมีทักษะขั้นสูง เพราะงานส่วนใหญ่ไม่ใช่งานรูทีนแบบทำซ้ำไปซ้ำมา แต่เป็นงานที่ต้องอาศัยความเข้าใจ การตัดสินใจที่ดีและความสามารถในการแก้ไขปัญหา แต่ถ้าระบบการศึกษาไม่สามารถเตรียมคนที่มีทักษะดังกล่าว ประเทศก็จะมีปัญหาในการดูดซับเทคโนโลยีขั้นสูง
4). ข้อจำกัดด้านการเงิน หรือการระดมเงินทุน ประเด็นนี้ไม่ได้หมายถึงเศรษฐกิจไม่มีเงินออมพอที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมในภาคธุรกิจ แต่หมายถึงความสามารถในการตัดสินใจของภาคการเงินผู้ให้กู้ ที่จะเข้าใจประโยชน์ความสำคัญ และความเสี่ยงของการใช้เทคโนโลยีของบริษัทที่ต้องการกู้เงินและพร้อมที่จะสนับสนุน
ข้อจำกัดนี้มีให้เห็นชัดเจนในเศรษฐกิจที่ระบบธนาคารพาณิชย์มีบทบาทสูง เพราะธนาคารพาณิชย์จะชอบปล่อยกู้สินเชื่อที่เป็นงานประจำที่ความเสี่ยงประเมินได้ชัดเจน เช่น สินเชื่อบ้าน บริโภค เช่าซื้อ เงินทุนหมุนเวียน ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และเงินกู้โครงการที่ปล่อยให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นลูกค้าเดิม ทำให้โอกาสที่บริษัทขนาดกลางหรือเล็กที่ต้องการอัพเกรดเทคโนโลยีมักมีข้อจำกัดในแง่การระดมเงินทุน
5). ข้อจำกัดของนโยบายรัฐ ที่จะมีความเข้าใจและมีทิศทางชัดเจนในการสร้างระบบนิเวศสนับสนุนการปรับตัวด้านเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในภาคธุรกิจ เรื่องนี้เป้าหมายของนโยบายรัฐต้องมุ่งไปที่การสร้างสมรรถภาพให้ภาคธุรกิจในเรื่องนวัตกรรม จัดอันดับความสำคัญสูงสุดให้กับความจำเป็นที่ภาคธุรกิจต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงมีนโยบายและสถาบันด้านนวัตกรรมสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
นี่คือ 5 จุดอ่อนที่ธนาคารโลกวิเคราะห์ว่าเป็นข้อจำกัดของการพัฒนานวัตกรรมในภาคธุรกิจของประเทศในภูมิภาค ซึ่งผมเห็นด้วยและทุกข้อก็เป็นข้อจำกัดของภาคเอกชนไทยเช่นกัน แต่กรณีของไทยผมอยากเพิ่มอีกหนึ่งข้อที่ได้มีผลอย่างสำคัญทำให้ภาคธุรกิจไทยไม่ขวนขวายที่จะอัพตัวเองในเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยี นั้นคือ
6). การแข่งขันที่มีน้อยลงไปมากในระบบเศรษฐกิจเรา จากบทบาทบริษัทใหญ่ที่มีมากขึ้นๆ ในระบบเศรษฐกิจ จนอาจเข้าข่ายผูกขาดหรือทำให้บางธุรกิจมีการแข่งขันน้อยราย บทบาทเหล่านี้ทำให้บริษัทใหญ่ไม่จำเป็นต้องพัฒนาเรื่องนวัตกรรม เพราะไม่ได้แข่งขันกับใครในต่างประเทศ ตรงกันข้ามเมื่อไม่ไปแข่งขันนอกประเทศหรือแข่งขันไม่ได้ ก็จะขยายธุรกิจในประเทศแทน โดยเข้าไปทำธุรกิจในสาขาอื่นๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนเพื่อขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของกลุ่มธุรกิจตน
ผลคือธุรกิจไทยไม่ได้มีการลงทุนด้านนวัตกรรมเป็นเวลานานที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันใหม่ให้กับประเทศ มีแต่การควบรวมกิจการเพื่อจำกัดคู่แข่งบนความได้เปรียบเรื่องขนาดและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผลคือเศรษฐกิจเติบโตลดลง ขณะที่ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น
การแก้ปัญหานวัตกรรมในภาคเอกชนของเราจึงต้องมุ่งไปที่หกประเด็นนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกระทบหลายฝ่าย ประเทศจึงเหมือนอยู่บนทางสองแพร่งที่ต้องเลือก ทางแรกคือรัฐบาลไม่ทำอะไรต่อไป หรือไม่ทำจริงจัง ทำให้ความสามารถด้านนวัตกรรมของภาคเอกชนไทยอยู่กับที่ ไม่พัฒนา ทำให้ประเทศไม่เติบโตและไม่มีการพัฒนาเช่นกัน
อีกทางคือ เริ่มทำอะไรจริงจัง ใช้ประโยชน์จากพลังและทรัพย์สินทางปัญญาที่คนในประเทศมีอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น สมกับศักยภาพที่คนในประเทศมี
นี่คือสองทางเลือก ที่ห่วงคือประชาชนกับรัฐบาลอาจเลือกไม่เหมือนกัน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 21 เมษายน 2564