หอการค้าหวั่น ปิดกิจการ-เลิกจ้างพุ่ง หากคุมโควิด ฉีดวัคซีนช้า
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ระดับ 27.6 ต่ำสุดในรอบ 39 เดือน ภาคท่องเที่ยวกระทบหนัก โอกาสปิดกิจการ เลิกจ้างแรงงานสูง หากไม่มีมาตรการกระตุ้น ขณะที่เศรษฐกิจยังมั่นใจโต 3% ยังไม่ถึงทดถอยหากรัฐคุมโควิด เร่งฉีดวัคซีนได้ดี
วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนเมษายน 2564 ถือว่าต่ำสุดในรอบ 39 เดือน ตั้งแต่มีการสำราวจเมื่อเดือนมกราคม 2562 โดยความเชื่อมั่นหอการค้าไทยต่ำในทุกรายการ เศรษฐกิจโดยรวม การบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งคาดการณ์ว่าความเชื่อมั่นในเดือนพฤษภาคม 2564 ก็ยังไม่ดีขึ้น
โดยกลุ่มที่สำรวจจะเห็นว่า ภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในทุกภาคทั่วประเทศ ซึ่งโอกาสที่จะทำให้หลายกิจการมีโอกาสปิดมากขึ้น มีการเลิกจ้างแรงงานสูง การจ้างงานก็จะลดลง ขณะที่ภาคเกษตร แม้ราคาสินค้าเกษตรจะดีขึ้น แต่สินค้าเกษตรในมือเกษตรกรไม่มี ส่งผลต่อกำลังซื้อโดยรวมลดลง ด้านภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ดังนั้น จากการสำรวจเศรษฐกิจไทยยังไม่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคสังคมได้ในอนาคต
อย่างไรก็ดี หอการค้ายังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยาตัวอยู่ในกรอบ 2.5-3% โดยอยู่ภายใต้ที่รัฐบาลควบคุมโควิดไม่ให้กระจายมากขึ้น หรือเกิดคลัสเตอร์ใหม่ เร่งกระจายฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย การฟื้นการท่องเที่ยวในประเทศ นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐบาลเพิ่มเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 ให้เร็วและมีปริมาณ 2 แสนล้าน เพราะมองกว่าการกระตุ้น 1 แสนล้านบาทยังช่วยไม่ได้ เชื่อว่าเศรษฐกิจจะโต 3-4% ต้องอยู่ภายใต้ปัจจัยโควิดไม่รุนแรง และไตรมาส 3 ก็เพิ่มเม็ดเงินเข้าไปเพิ่ม
ขณะที่มาตรการ คนละครึ่ง ยังเป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นรายได้และเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจได้ดี เพราะช่วยลดสินค้า การใช้จ่ายให้ประชาชนถึง 50% ส่วนมาตรการแจก e-Voucher 5,000-7,000 บาทต่อวัน มองว่ายังไม่จูงใจเท่าที่ควรหากดูมาตรการอื่น พร้อมกันนี้ ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะทดถอย มีแต่ก็น้อยมากแค่ 10-20% เท่านั้น เนื่องจากรัฐมีมาตรการกระตุ้น การเร่งฉีดวัคซีนที่จะช่วยได้
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนเมษายน 2564 จากกลุ่มตัวอย่าง 368 ตัวอย่าง พบว่า อยู่ที่ระดับ 27.6 ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 27.1 การท่องเที่ยวอยู่ที่ 17.4 การบริโภคอยู่ที่ 31.3 การจ้างงานอยู่ที่ 26.7 การลงทุนอยู่ที่ 26.4 เป็นต้น
พร้อมกันนี้หอการค้าไทยยังคาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า เศรษฐกิจของจังหวัดโดยรวมแย่ลงอยู่ที่ 45.4% รวมไปถึงการท่องเที่ยวภายในจังหวัดแย่ลงถึง 56.4% อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในแต่ละภาคความเชื่อมั่นยังไม่ดีขึ้น
สำหรับปัจจัยลบที่กระทบต่อความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เช่น ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด รอบที่ 3 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั้งปัจจุบันและในอนาคต หากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ภาครัฐออกมาตรการควบคุมการระบาดของโรค
การสั่งปิดกิจการทางธุรกิจในหลายประเภท โดยเฉพาะธุรกิจกลางคืน มาตรการการากักตัวของบางจังหวัดหากเดินทางเข้าจังหวัดนั้น ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทาง
การงดกิจกรรมสงกรานต์ในหลายพื้นที่ การชะลอการบริโภคและจับจ่ายใช้สอย จากสถานการณ์การแพร่ระบาด ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องและปิดกิจการ ส่งผลให้มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น หรือมีการลดเงินเดือน สศค. ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 2.3% ต่อปี ลดลงจากประมาณการเมื่อเดือนมกราคม 2564 ที่ 2.8% ต่อปี SET Index เดือน เม.ย. 64 ปรับตัวลดลง 4.08 จุด จาก 1,587.21ณ สิ้นเดือน มี.ค. 64เป็น 1,583.13 ณ สิ้นเดือน เม.ย 64 ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่า ระดับราคาน้ามันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น
ขณะที่ ปัจจัยบวกที่กระทบ เช่น ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในโครงการ “คนละครึ่ง” “เราเที่ยวด้วยกัน” “เราชนะ” และ “เรารักกัน” เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศ การส่งออกของไทยเดือน มี.ค. 64 ขยายตัว 8.47% มูลค่าอยู่ที่ 24,222.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และการนำเข้าขยายตัว 14.12 มีมูลค่าอยู่ที่ 23,511.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 515.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดีโดยเฉพาะข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่เริ่มมีรายได้สูงขึ้น และกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ดี สำหรับแนวทางแก้ไขที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ คือ เร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อจำนวนประชากร เร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เร่งการหยุดการระบาดแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เป็นคลัสเตอร์และกระจายตัวอยู่ในชุมชนแออัดตามพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
หามาตรการทางการเงินช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจในการช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินกิจการ รักษาการจ้างงาน พัฒนาทักษะแรงงานและปรับรูปแบบธุรกิจ ให้กลับมาสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เร่งแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 11 พฤษภาคม 2564