30 รายตีปีก รับส่งออกพุ่ง
เปิดชื่อท็อป 30 บริษัทส่งออกไทย Q1/2564 ค่ายรถยนต์-อิเล็กทรอนิกส์นำกลุ่ม 10 อันดับแรก “มิตซูบิชิ-โตโยต้า, ซีเกท-นิสสัน” ออกตัวแรง ม.หอการค้าชี้ผลพวงศก.โลกฟื้นตัวรูป V Shape เร่งระดมฉีดวัคซีนทั่วโลกสร้างเชื่อมั่น สรท.ตั้งทีมแก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาด ตัวถ่วงส่งออก
ส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน ไตรมาสแรกปี 2564 ส่งออกแล้วมูลค่า 62,725 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 2.27% โดยการส่งออกเดือนมีนาคมล่าสุดมีมูลค่า 24,223 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 8.47% โดยมูลค่าการส่งออกดังกล่าวสูงสุดในรอบ 28 เดือน (นับตั้งแต่เดือนพ.ย.2561) สินค้าส่งออก 5 อันดับแรกที่ขยายตัวสูงได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+24%), เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ(+8.4%), ผลิตภัณฑ์ยาง (+33%), เม็ดพลาสติก (+32%) และเคมีภัณฑ์ (+17%)
สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร เผยรายชื่อผู้ส่งออกในกลุ่ม 30 อันดับแรกช่วงไตรมาสที่ 1/2564 มีความสอดคล้องกับกลุ่มสินค้าส่งออกข้างต้น มีรายชื่อดังนี้
1.บจก.มิตมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย
2.บจก.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย
3. บจก.ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย)
4.บจก.โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง
5.บจก.นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) 6
.บจก.ออโตอัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย)
7.บจก.อีซูซุมอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่น (ประเทศไทย)
8.บจก.เอเชี่ยนฮอนด้ามอเตอร์
9.บมจ.ไออาร์พีซี 1
0.บจก.ฟาบริเนท
11.บจก.ซิเลชติกา (ประเทศไทย)
12.บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)
13. บจก.เอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย
14.บจก.แม็กซิม อินทริเกรดเต็ด โปรดักส์ (ประเทศไทย)
15.บจก.มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย)
16.บจก.ไมโครชิพ เทคโนโลยี(ไทยแลนด์)
17.บจก.ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย)
18.บมจ.แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย)
19.บจก.พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง
20.บจก.ไทยซัมซุง อีเลคโทรนิคส์
21.บจก.ไดกิ้น อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย)
22.บจก.โซนี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย)
23.บจก.ยูแทค ไทย
24.บจก.เอชจีเอสที (ประเทศไทย)
25.บจก.โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์)
26.บจก.สยามมิชลิน
27.บจก.ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย)
28.บจก.บริงค์ส (ประเทศไทย)
29.บจก.แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) และ
30.บจก.พีทีที โกลบอล เคมิคอล
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า บริษัทและกลุ่มสินค้าข้างต้นที่มีการขยายตัวของการส่งออกที่ดีในไตรมาสแรกปีนี้ มีปัจจัยบวกที่สำคัญจาก 1. ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญของโลกปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่น ดัชนีการลงทุน ดัชนีการจ้างงานที่สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกใน Q1/2021 ฟื้นตัวแบบ “V Shape”ชัดเจน ส่งผลให้ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น 2.เศรษฐกิจสหรัฐฯและจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยในไตรมาสแรกฟื้นตัวชัดเจน (ศก.สหรัฐฯ Q1/2021 ขยายตัว 6.4% และศก.จีนขยายตัวถึง18.3%) รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วขยายตัว 4.3%
3.การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ทั่วโลก สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีความมั่นใจต่อเศรษฐกิจมากขึ้น 4.ยอดขายรถยนต์ใหม่ในตลาดหลักๆ เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจฟื้นตัว 5.ยอดขายคอมพิวเตอร์แบรนด์ดังของโลกใน Q1/2021 เพิ่มขึ้น 55.2% จากโควิดพนักงานต้องทำงานที่บ้าน และธุรกิจเน้นการขายออนไลน์
“คาดส่งออกไทยในไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาส4 จะขยายตัวได้ 2.5-3% ต่อไตรมาส และทั้งปีนี้ภาพรวมจะขยายตัวได้ 3-3.5%”
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สินค้ารถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ และอีกหลายสินค้าของไทยมีทิศทางการส่งออกที่ดีขึ้นในเดือนที่เหลือของปีนี้ แต่ยังติดปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์สำหรับส่งออกยังขาดแคลน รวมถึงค่าระวางเรือยังอยู่ในระดับสูง ล่าสุดทางสรท.ได้ตั้งทีมวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 13 พฤษภาคม 2564