ปัจจัยความสำเร็จ ในการแก้วิกฤติโควิด

เปิดบทวิเคราะห์ 5 ปัจจัยที่ทำให้ประเทศประสบความสำเร็จในการแก้วิกฤติโควิด-19 ที่ต้องเผชิญทั้งวิกฤติสาธารณสุขและวิกฤติเศรษฐกิจ
 
สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้อ่านบทความของธนาคารโลกเรื่อง “ความไม่เท่าเทียมในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2564 บอกถึงหลักความสำเร็จและความล้มเหลวที่กลับทาง” (An uneven global economic recovery in 2021 promises to invert a longstanding principle of success and failure) ซึ่งน่าสนใจ เพราะพูดถึงปัจจัยความสำเร็จและความล้มเหลวในการแก้วิกฤติโควิด และวิเคราะห์ในบริบทของหลักการแอนนา คารินนา (The Anna Karenina Principle) ที่พยายามแยกแยะปัจจัยที่สร้างความสำเร็จและความล้มเหลวอย่างเป็นระบบ
 
พูดถึง แอนนา คารินนา ใครที่เป็นแฟนวรรณคดีรัสเซียคงรู้จักดี เพราะเป็นชื่อนวนิยายชิ้นอมตะของ เลโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวรัสเซีย ตีพิมพ์ปี 2420 เป็นนวนิยายเกี่ยวกับครอบครัวแบบรักต้องห้ามที่เริ่มเรื่องด้วยประโยคเด็ดว่า “Happy families are all alike; every unhappy family is unhappy in its own way." คือทุกครอบครัวที่มีความสุขจะมีความสุขเหมือนๆ กัน ครอบครัวที่ไม่มีความสุขจะไม่มีความสุขแตกต่างกัน หมายถึงครอบครัวที่มีความสุข มีความสุขเพราะมีปัจจัยแห่งความสุขครบถ้วนเหมือนๆ กัน เช่น สุขภาพคนในครอบครัวดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีความมั่นคงทางการเงิน และสมาชิกในครอบครัวรักใคร่กัน แต่ครอบครัวที่ไม่มีความสุขไม่มีความสุข เพราะไม่มีปัจจัยเหล่านี้ หรือมีไม่ครบ ทำให้แต่ละครอบครัวไม่มีความสุขด้วยเหตุผลหรือปัจจัยต่างกัน
 
แนวคิดข้างต้นค่อนข้างทรงพลังและถูกนำมาประยุกต์ใช้อธิบายเหตุของความสำเร็จและความล้มเหลวในศาสตร์ต่างๆ รวมถึงเศรษฐศาสตร์ เช่น ประเทศที่มีการพัฒนาและเติบโตได้ดี ก็เพราะมีชุดของปัจจัยแห่งความสำเร็จครบถ้วน ขณะที่ประเทศที่ไปไหนได้ไม่ไกล หรือไม่ประสบความสำเร็จ ก็เพราะมีปัจจัยแห่งความสำเร็จไม่ครบถ้วน คือทำไม่ได้ ประเทศจึงไม่เติบโตหรือพัฒนาได้อย่างที่ควร
 
บทความธนาคารโลกนำบริบทนี้มาวิเคราะห์ความสำเร็จและความล้มเหลวของประเทศต่างๆ ในการแก้วิกฤติโควิด-19 แต่สรุปกลับทางกับหลักการแอนนา คารินนา คือ ครอบครัวที่ไม่มีความสุขจะไม่มีความสุขเหมือนๆ กัน แต่ครอบครัวที่มีความสุขจะมีความสุขด้วยปัจจัยหรือเหตุผลต่างกัน
 
หมายความว่าประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในการแก้ไขวิกฤติโควิดจะเหมือนๆ กัน คือเจอปัญหาเหมือนๆ กันและล้มเหลวเหมือนๆ กัน ขณะที่ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้วิกฤติโควิดทำได้โดยเหตุผลหรือปัจจัยที่ต่างกัน ฟังแล้วน่าสนใจจนอยากรู้ว่าอะไรคือปัจจัยแห่งความสำเร็จและความล้มเหลว นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
 
วิกฤติคราวนี้อย่างที่ทราบเป็นทั้งวิกฤติสาธารณสุขและวิกฤติเศรษฐกิจ เริ่มจากวิกฤติสาธารณสุข จากนั้นผลกระทบของการระบาดที่มีต่อคนในประเทศ และมาตรการที่ภาครัฐใช้แก้การระบาด เช่น ล็อกดาวน์ ห้ามเดินทาง ปิดพรมแดน งดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เป็นอย่างนี้เหมือนกันทุกประเทศ นี่คือต้นเหตุของปัญหาที่เหมือนกัน เทียบได้กับครอบครัวที่ไม่มีความสุขจะไม่มีความสุขเหมือนๆ กัน
 
บทความชี้ว่าการแก้ไขปัญหาที่สำเร็จต้องอาศัยการผสมผสานของหลายปัจจัยทั้ง 1.ปัจจัยที่เป็นลักษณะพิเศษของประเทศเอง เช่น การพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศทั้งสินค้าและบริการ 2.สมรรถภาพของประเทศในการแก้ปัญหา เช่นความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข 3.การฉีดวัคซีน 4.นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และ 5.ความเข้มแข็งของภาคธุรกิจ โดยความสำเร็จในการแก้ไขวิกฤติมาจากการผสมผสาน 5 ปัจจัยนี้ ซึ่งแต่ละประเทศจะทำได้แตกต่างกัน เทียบได้กับครอบครัวที่มีความสุขจะมีความสุขด้วยเหตุผลหรือปัจจัยที่ต่างกัน
 
แล้วปัจจัยความสำเร็จทั้ง 5 ปัจจัยนี้คืออะไรบ้าง : 
 
1).โครงสร้างเศรษฐกิจ 
ชัดเจนว่าปีนี้ประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะฟื้นตัวได้มาก ขับเคลื่อนด้วยการฉีดวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ล่าสุดไอเอ็มเอฟประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวถึงร้อยละ 6 นำโดยการฟื้นตัวของสหรัฐ จีน และประเทศในยุโรป การขยายตัวดังกล่าวทำให้การค้าโลกปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 8 ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ที่การส่งออกจะขยายตัว
ประเทศไทยก็ได้ประโยชน์ในจุดนี้จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรม แต่ที่ต้องรออีกประมาณ 1-2 ปี คือภาคบริการ เช่น ท่องเที่ยวที่การฟื้นตัวอาจต้องรอถึงหลังปี 2565 ก่อนจะฟื้นตัว ซึ่งก็กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเราด้วย
 
2).สมรรถภาพของภาครัฐในการแก้ไขปัญหา 
สำคัญสุดคือความพร้อมของระบบสาธารณสุขของประเทศ ทั้งในเรื่องบุคลากร อุปกรณ์ ยา จำนวนเตียงที่ต้องพร้อม เสริมด้วยการตัดสินใจที่ดีในการทำนโยบายที่ต้องมองไปข้างหน้าด้วยความระมัดระวังและมีเหตุมีผล ที่จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาสามารถทำได้เร็ว ทันเหตุการณ์ และมีประสิทธิภาพ
 
3).การฉีดวัคซีน 
การฉีดวัคซีนที่กว้างขวางภายในประเทศจะทำให้คนในประเทศมีภูมิคุ้มกันช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ง่ายขึ้น เพราะมาตรการล็อกดาวน์ หรือจำกัดการเดินทางต่างๆ จะผ่อนปรนได้ นำไปสู่การขยายตัวของการบริโภค การเดินทาง การผลิตและการใช้จ่ายในประเทศ ที่น่าห่วงคือความแตกต่างระหว่างประเทศรวยและประเทศจนในการเข้าถึงวัคซีนที่จะทำให้การระบาดยืดเยื้อ เพราะถ้าประเทศจนฉีดวัคซีนได้ช้า การแพร่ระบาดก็จะยังอยู่ และเป็นจุดเสี่ยงที่เชื้อไวรัสอาจกลายพันธุ์และสร้างการระบาดรอบใหม่ให้กับประเทศอื่นๆ กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
 
4).นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 
ประเด็นสำคัญคือ พื้นที่นโยบายการคลังและปัญหาเงินเฟ้อ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น สร้างข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวถ้าอัตราดอกเบี้ยต้องปรับสูงขึ้นเพื่อดูแลเงินเฟ้อ ในส่วนพื้นที่นโยบายการคลัง ประเด็นสำคัญคือระดับหนี้ของภาครัฐ ถ้ารัฐก่อหนี้มากเกินก็จะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะกังวลว่าประเทศจะสามารถระดมทรัพยากร เช่น ขึ้นภาษี มาช่วยการชำระหนี้ของภาครัฐได้หรือไม่ และถ้าไม่ได้หรือทำได้จำกัดขณะที่รัฐมีหนี้มาก รัฐก็อาจมีปัญหาชำระหนี้และสร้างความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติด้านการคลังตามมา
 
5).ระดับหนี้ในภาคธุรกิจ ซึ่งจะสูงขึ้นจากผลของโควิด ทั้งจากระดับหนี้ที่สูงอยู่แล้วก่อนโควิด และการกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อดูแลฐานะของบริษัทในช่วงโควิด ถ้าระดับหนี้มีมาก ขณะที่ความสามารถในการหารายได้ต่ำ ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ก็จะเกิดขึ้นและอาจนำไปสู่การล้มละลายของธุรกิจและปัญหาการว่างงาน นโยบายที่จะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจจึงสำคัญมาก
นี่คือ 5 ปัจจัยความสำเร็จที่ต้องทำให้เกิดขึ้น ถ้าประเทศจะประสบความสำเร็จในการแก้ไขวิกฤติโควิด ของเราก็เช่นกัน เทียบกับประเทศอื่นๆ เราเองมีศักยภาพที่จะทำได้ดีในทุกข้อ แต่ปัจจุบันบางข้อมีช่องว่างและต้องทำให้ดีขึ้น เช่น การฉีดวัคซีน
 
ถ้าเราทำได้และทำได้ครบทั้ง 5 ข้อ เราก็จะเข้าข่ายครอบครัวที่มีความสุข เทียบกับปัจจุบันที่ยังไม่สุขมาก เพราะการระบาดยังไม่หยุด และมีหลายข้อที่เป็นช่องว่างที่ต้องเร่งแก้ไข
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 18 พฤษภาคม 2564  

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)