หวั่นการบริโภคฉุดจีดีพีไตรมาส 2

จับตาการบริโภค ฉุดจีดีพีไตรมาส2 กูรูชี้ช่วงที่เหลือของปีมีปัจจัยเสี่ยงสูงกว่าบวก ห่วงแนวโน้มการระบาดของโควิด-19 และผู้ติดเชื้อรุนแรงลากยาว จี้รัฐเยียวยาตรงเซ็กเตอร์ที่ถูกกระทบ เหตุงบประมาณจำกัด แต่ยังมีพื้นที่เหลือในการก่อหนี้เพิ่มติม เพื่อผยุงเศรษฐกิจและด้านสาธารณสุข
 
โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดระลอก3 รุนแรงและกระจายตัวมากกว่า 2 ครั้งแรกมาก แม้มาตรการควบคุมการระบาดของโรคจะไม่รุนแรงเหมือนรอบแรก แต่ก็ไม่ได้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าไปได้เท่าที่ควร เหตุเพราะการระบาดกระจายตัวมาก ทำให้ประชาชนต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ทำให้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปี2564 ลงนำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เสาหลักเศรษฐกิจของรัฐ ตามด้วยสำนักวิจัยเอกชนรวมถึงสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
 
 
ล่าสุดในการแถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1 ปี 2564 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์เองได้ปรับลดประมาณการจีดีพีปี 2564 ลงมาอยู่ที่ 2.0% จากเดิมที่คาดว่า จะขยายตัวได้ 3.0% โดยมีปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่ฟื้นตัว จะทำให้การส่งออกไทยขยายตัวได้ แต่ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าจนต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้เข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นความหวังจะช่วยบรรเทาการการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากที่ไตรมาส1 จีดีพีติดลบ 2.6% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ติดลบ 4.2% และเป็นตัวเลขที่ยังไม่รวมผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอก 3
 
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างติดตามพัฒนาการวัคซีนและการระบาด โดยจะทบทวนตัวเลขจีดีพีอีกรอบ หลังจากไตรมาสแรกติดลบ 2.6% ซึ่งไตรมาส 2 ปีนี้จีดีพีจะออกมาเป็นบวกจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ติดลบ แต่พัฒนาการชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่ผ่านมา จากการระบาดของโควิดรอบนี้ ทำให้คนระมัดระวังการใช้จ่าย จึงน่าจะเห็น การบริโภคชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และจะเป็นตัวฉุดจีดีพีไตรมาสสอง ที่อาจจะไม่ขยายตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสสองปีที่แล้วมากนัก และชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา 
 
สำหรับการลงทุนการใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกยังเป็นตัวช่วย โดยน่าจะผยุงเศรษฐกิจ แต่ภาพรวมช่วงที่เหลือสถานการณ์ระบาดของโควิดมีแนวโน้มรุนแรงและลากยาว ซึ่งในแง่ของภาครัฐยังมีความจำเป็นที่จะต้องประคองไม่ให้เศรษฐกิจทรุดหนักไปกว่านี้ เพราะเงินตรงนี้จะช่วยเยียวยาผู้ที่ขาดรายได้ช่วงที่จำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะคนหาเช้ากินคํ่า ผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งต้องมีเม็ดเงินมาต่อท่อเดิม
 
“เดิมคาดการณ์จีดีพีทั้งปี จะขยาย 2.2% บนสมมติฐานการระบาดรอบใหม่จบในเดือนมิถุนายน และเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส3 การใช้จ่ายเร่งตัว แต่ตอนนี้ต้องทบทวนใหม่ เพราะการระบาดอาจลากยาวถึงไตรมาส 3 ซึ่งจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” นายอมรเทพกล่าว 
 
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิจัย ธนาคาร ทหารไทยธนชาต หรือ ttb analytics กล่าวว่า แนวโน้มปีนี้ จีดีพีจะเติบโตได้น้อยกว่าเดิม ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.9% อาจจะไม่ถึง 2% แต่มีโอกาสเห็นจีดีพีเป็นบวกในไตรมาส2 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ติดลบ และไตรมาสสองปีนี้ เศรษฐกิจไม่น่าจะถดถอยเชิงเทคนิค(Technical Recession) เพียงแต่แนวโน้มปัจจัยเสี่ยงยังมีสูงกว่าปัจจัยบวก เช่น การระบาดของโควิดและการกระจายวัคซีน,การชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน และระดับราคาสินค้าจากราคานํ้ามันปีนี้ที่ปรับเพิ่ม 70 ดอลลาร์ต่อบาเรล ซึ่งหากเทียบกับปีก่อนราคานํ้ามันปรับลดลงอยู่ที่ 25 ดอลลาร์ต่อบาเรล และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยไม่น่าจะรุนแรง และราคาอาหารในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น ก็ไม่กระทบไทยเช่นกัน ส่วนภาคการส่งออกยังเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือ
 
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 จะได้รับผลกระทบจากโควิดเต็มๆ โดยมีปัจจัยที่น่าห่วงคือ ผลกระทบของโควิดยังไม่แน่ชัด จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังสูง แต่หวังว่า หลังจากรัฐมีการตรวจเชิงรุกและผ่อนคลายในการรับประทานอาหารจะไม่เพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อและช่วยผู้ประกอบการรายเล็กๆ และเห็นด้วยกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เรื่องมาตรการช่วยเหลือๆของรัฐที่จะต้องเร่งหรือเพิ่มวงเงินเยียวยา 
 
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคาร กสิกรไทยกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้นโยบายหลักอยู่ที่วัคซีน ขณะที่นโยบายการเงินและนโยบายการคลังเป็นตัวประกอบหรือปัจจัยอื่นๆจะช่วยได้เพียงประคองเศรษฐกิจ แต่ตัวแปรหลักคือ การฉีดวัคซีน
 
“ถ้าเราฉีดวัคซีนและได้ภูมิคุ้มกันหมู่เร็ว ก็จะเป็นตัวแปรส่งผลต่อตัวเลขจีดีพีภาพรวม ซึ่งเร็วๆนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะทบทวนตัวเลขประมาณการจีดีพี โดยจะมีความเหลื่อมลํ้าระหว่างเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นผลของการฉีดวัคซีน โดยประเทศทางตะวันตกฉีดวัคซีนได้เร็วกว่าเศรษฐกิจก็จะฟื้นได้เร็วกว่า และเงินเฟ้อจะมากกว่าไทย ซึ่งหากไทยฉีดวัคซีนได้ภูมิคุ้มกันช้าก็จะส่งผลตัวเลขจีดีพี” นายกอบสิทธิ์กล่าว 
 
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 24 พฤษภาคม 2564   

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)