การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะเป็นผลดีต่อประเทศกำลังพัฒนา
ภายหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศที่มีฐานะนำในโลกเพียงประเทศเดียว แต่การก้าวพุ่งขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจของจีน ทำให้อำนาจและอิทธิพลในการเมืองระหว่างประเทศ เปลี่ยนแปลงไปเป็นโลก 2 ขั้วอำนาจ โดยที่ไม่มีประเทศอื่นที่จะมีอิทธิพลอำนาจพอ จะมาท้าทายอำนาจของสองประเทศนี้
การเมืองและเศรษฐกิจโลกที่แบ่งขั้วเป็น 2 ฝ่าย มีความหมายสำคัญ เพราะโครงสร้างการเมืองโลกแบบใหม่นี้ จะเป็นตัวกำหนดสภาพการเมืองของโลก ที่แตกต่างออกไปจากโลก ที่เคยมีมหาอำนาจเพียงประเทศเดียว แต่สภาพโลก 2 ขั้วที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แตกต่างจากสมัยสงครามเย็น จีนไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจของภูมิภาคยูเรเชีย (Eurasia) แบบอดีตสหภาพโซเวียต แต่เป็นมหาอำนาจในแผ่นดินใหญ่ของเอเชีย หากเกิดการเผชิญหน้าทางทหาร ระหว่างสหรัฐฯกับจีน ก็จะเกิดในทะเล ไม่ใช่ทางภาคพื้นดิน
โมเดล “พัฒนา” ในอดีตของสหรัฐฯ :
บทความใน foreignaffairs.com ชื่อ Competition Can Be Good for the Developing World กล่าวว่า สหรัฐฯกับจีนกำลังตกอยู่ในสภาพที่ต้องแข่งขันกัน เรื่องมีอิทธิพลเหนือประเทศอื่นๆในโลก การแข่งขันของสองประเทศ มีสภาพคล้ายกันกับสมัยสงครามเย็น ระหว่างสหรัฐฯกับสหภาพโซเวียต
แต่ในสมัยที่แข่งกับโซเวียต สหรัฐฯมีโมเดลแน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่เสนอต่อประเทศกำลังพัฒนา แต่ปัจจุบัน จีนกลับเป็นฝ่ายช่วงชิงการริเริ่มในโครงการลงทุนที่มองเห็นเป็นรูปธรรม และจีนยังมีนโยบายไม่มีการแทรกแซงทางการเมืองอีกด้วย สหรัฐฯสามารถจะแข่งกับจีนได้ในเรื่องนี้ แต่ต้องมีนโยบายและโมเดลใหม่ ที่ไม่ใช่ไปเรียกร้องประเทศกำลังพัฒนา ให้เปลี่ยนโครงสร้างด้านต่างๆ แต่ต้องเป็นการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เศรษฐกิจของชาติกำลังพัฒนาดีขึ้น เหมือนกับที่จีนกำลังทำอยู่
บทความ foreignaffairs.com ระบุว่า ในช่วงสงครามเย็น นโยบายสหรัฐฯต่อประเทศกำลังพัฒนา แบ่งได้เป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯทุ่มเทเพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยการช่วยเหลือโดยตรง และการเปิดตลาดของสหรัฐฯ อย่างเช่น โครงการมาร์แชลล์ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างชนชั้นกลาง ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นมาในประเทศเหล่านี้
นโยบายสหรัฐฯในขั้นตอนที่ 2 มีอยู่ 2 แบบ ในช่วงทศวรรษ 1960 สหรัฐฯให้การสนับสนุนรัฐบาลบางประเทศ โดยที่ไม่สนใจเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น เวียดนามใต้ หรือคองโก แต่ในอีกแบบหนึ่ง สหรัฐฯก็สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและปฏิรูปที่ดิน เช่น ไต้หวันและเกาหลีใต้
ทฤษฎีความทันสมัย :
ในเวลาต่อมา นโยบายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ค่อยๆเริ่มปรากฏรูปร่างขึ้นมา เรียกกันว่าทฤษฎีความทันสมัย (modernization theory) ที่มองว่า การพัฒนาเศรษฐกิจจะทำให้เกิดชนชั้นกลางที่เข้มแข็ง และในที่สุด ก็จะนำไปสู่ประชาธิปไตย หนังสือที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดนี้ชื่อว่า The Stages of Economic Growth ของ W. W. Rostow ที่บอกว่า ประเทศจะพุ่งทะยาน (take-off) ทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืนและทันสมัย เมื่อนำเงินออมมาลงทุนที่ก่อให้เกิดผลิตภาพและดอกผล
ในกรณีที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่ด้านนโยบายของสหรัฐฯก็จะอ้างงานเขียนของ Simon Kuznets นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนาที่บอกว่า แม้ในระยะแรกของการพัฒนาเศรษฐกิจ จะทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหานี้ก็จะลดน้อยลงไป เมื่อประชากรมีการศึกษามากขึ้น และทำให้ช่องว่างรายได้ ที่ต่างกันระหว่างแรงงานมีฝีมือกับที่ไร้ฝีมือ จะแคบลง
บทความ foreignaffairs.com กล่าวว่า ในช่วงกลางและช่วงปลายของสงครามเย็น สหรัฐฯเสนอแนวคิด 2 อย่าง ที่ทรงพลังนี้แก่ประเทศกำลังพัฒนา โดยให้เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนปัญหาความเหลื่อมล้ำ เมื่อเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นมา ก็จะแก้ไขปัญหานี้เอง ประชาชนที่มีรายได้มากขึ้น ก็จะเรียกร้องประชาธิปไตย และชนชั้นกลางยังจะทำให้ประชาธิปไตยเกิดความยั่งยืน
แนวคิดของสหรัฐฯจึงไม่ได้เรียกร้อง หรือยัดเยียดประชาธิปไตยให้กับประเทศกำลังพัฒนา เช่นไปกำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันทางสังคม ก่อนที่เศรษฐกิจจะมีความพร้อม การเป็นประชาธิปไตย จะใช้วิธีการแบบทางอ้อม ผ่านการเติบโตทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น โมเดลดังกล่าวประสบความสำเร็จในกรณีเกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือสเปนกับโปร์ตุเกส
การสิ้นสุดของสงครามเย็น ทำให้แนวคิดเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) เข้ามามีอิทธิพลแทนแนวคิดการพัฒนาแบบเก่า แนวคิดเสรีนิยมใหม่ให้ลดบทบาทของรัฐทางเศรษฐกิจลง หันมาสร้างบรรยากาศให้แก่การลงทุนของภาคเอกชน แล้วการเติบโตจะเกิดขึ้นตามมา ส่วนธนาคารโลก ที่สหรัฐฯมีอิทธิพล จะไม่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือกระจายรายได้ แต่ให้มีการปฏิรูปสถาบันและองค์กรสังคมแทน
หากประเทศกำลังพัฒนาประสบปัญหาเศรษฐกิจ การให้เงินกู้ของธนาคารโลก จะมีเงื่อนไขเรียกว่า “การปรับโครงสร้าง” (structural adjustment) คือให้รัฐบาลตัดงบรายจ่าย ลดอัตราภาษี เปิดเสรีธุรกิจ และแปรรูปรัฐวิสาหกิจ มาตรการดังกล่าวเรียกกันว่า “ฉันทานุมัติวอชิงตัน” (Washington Consensus) แต่เมื่อสหภาพโซเวียตพังทลายลงไปแล้ว สหรัฐฯก็ไม่สนใจเรื่อง การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา
การพุ่งขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ของจีน:
บทความของ foreignaffairs.com เขียนไว้ว่า การพุ่งขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สหรัฐฯและสหภาพยุโรป ไม่มีแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน ที่จะเสนอให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา
หากผู้นำประเทศยากจนไปขอคำแนะนำจากนักการทูตอเมริกัน ในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ พวกเขาก็จะได้ฟังคำบรรยายในเรื่อง สิทธิมนุษย์ชน การต่อสู้กับคอร์รัปชัน หรือเสรีภาพของสื่อมวลชน ฯลฯ
ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบัน ที่ต้องอาศัยการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่เร่งด่วนของประเทศกำลังพัฒนารายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง เช่น จะเริ่มการพัฒนาเศรษฐกิจทันทีได้อย่างไร ในภูมิภาคที่อยู่ห่างไกล จะสร้างงานแก่นักศึกษาที่จบใหม่อย่างไร หรือจะลดอาชญากรรมลงอย่างไร ในสภาพที่ผู้คนไม่มีรายได้เลย
แต่สหรัฐฯโชคดีอย่างหนึ่ง คือจีนไม่ได้มีแนวคิดที่ชัดเจน หรือเป็นระบบหนึ่งเดียว ที่จะเสนอเป็น “โมเดล” ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีนก็ไม่ได้เกิดขึ้นจาก นโยบายที่คิดไว้อย่างเป็นระบบและรอบครอบ ที่จะสามารถนำมาบรรจุไว้ในกล่องอุปกรณ์เครื่องมือ แล้วมอบให้กับประเทศยากจนนำไปใช้
ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีนเกิดจากเส้นทางการพัฒนาและเติบโต ที่อาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ในการแก้ปัญหา การลองผิดลองถูก หลังจากนั้นก็ค่อยๆนำนโยบายที่ถูกต้องมาดำเนินการ และขจัดนโยบายที่ผิดพลาด กระบวนการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของจีน จึงมีลักษณะเฉพาะตัวของจีน คือการกระจายอำนาจและให้อิสระแก่รัฐบาลท้องถิ่น ที่จะทดลองดำเนินการทางเศรษฐกิจ รัฐบาลท้องถิ่นของจีนเองก็รู้ดีว่า ในที่สุด รัฐบาลกลางที่ปักกิ่งจะเลือกนโยบายที่ดำเนินการได้ผล และให้รางวัลความสำเร็จแก่รัฐบาลท้องถิ่นดังกล่าว
โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่ถือเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จมากสุดของจีน คือตัวอย่างวิธีดำเนินการทางเศรษฐกิจของจีนอย่างที่กล่าวมา ในต้นทศวรรษ 2000 จีนยังไม่มีรถไฟความเร็วสูง ปัจจุบัน มีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงมีความยาวทั้งหมด 39,760 กม. จึงเป็นเรื่องไม่แปลกเลย ที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศกำลังพัฒนา จีนจะเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและเงินลงทุนจากจีน
ข้อแนะนำสำหรับชาติตะวันตก :
บทความของ foreignaffairs.com เสนอว่า หากประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ต้องการจะแข่งขันกับจีน ก็ต้องเลิกนโยบายที่ตั้งบนพื้นฐานเป้าหมายสูงส่ง ในเรื่องการปฏิรูปสถาบันสังคม และต้องเลิกวิพากวิจารณ์บทบาทรัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจ สหรัฐฯต้องนำเสนอแนวทางที่สามารถให้ประโยชน์อยางเป็นรูปธรรมที่มองเห็นได้ แก่ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา มีแนวทางที่จะปรับปรุงชีวิตผู้คน เช่น การสร้างเขื่อน โรงงานไฟฟ้า ระบบบำบัดน้ำเสีย การพัฒนาเมือง หรือการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิต เป็นต้น
การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯกับจีน เพื่อได้รับการสนับสนุนจากประเทศกำลังพัฒนา จะทำให้ประเทศเหล่านี้ ได้รับทรัพยากรมากขึ้น ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และลดความยากจนลง แบบเดียวกับเศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย เคยได้ประโยชน์จากการแข่งขันระหว่างทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์มาแล้ว
ดังนั้น ก่อนอื่นที่สุด ประเทศตะวันตก จะต้องละทิ้งนโยบาย “การพัฒนาแบบอ่อน” (soft approach) ที่เน้นการพัฒนาสถาบันสังคมและประชาสังคม มาสู่นโยบาย “การพัฒนาแบบแข็ง” (hard approach) โดยความสำเร็จจะสามารถวัดกันที่ว่า เป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์เป็นรูปธรรมต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน โดยตรงและรวดเร็วขนาดไหน
ที่มา thaipublica.org
วันที่ 26 พฤษภาคม 2564