เวียดนามล็อกดาวน์ 2 นิคมใหม่ "บั๊กซาง-บั๊กนิญ" ซมพิษโควิดฉุดลงทุน
โควิดถล่มเวียดนาม รัฐเร่งล็อกดาวน์ “บั๊กซาง-บั๊กนิญ” 2 จังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ สกัดการระบาด หวั่นกระเทือนนักลงทุน “ทูตพาณิชย์ฮานอย” มั่นใจไม่กระทบการค้าไทย-เวียดนามเติบโต หลัง 4 เดือนแรกยอดส่งออกพุ่ง 20% เร่งเครื่องเปิดจับคู่ธุรกิจออนไลน์ขยายส่งออกสินค้าดาวรุ่งสินค้าแม่และเด็ก ชิ้นส่วนยานยนต์
นางสาวพรรณกาญจน์ เจียมสุชน ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ประจำกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในเวียดนาม พบว่าช่วงเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมามียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเวียดนามเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดภาคเหนือของเวียดนามซึ่งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมสำคัญ
ส่งผลให้เวียดนามขยายมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศและเข้มงวดในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้เวียดนามอาจทบทวนประมาณการส่งออก รวมถึงตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าปีนี้จีดีพีจะขยายตัว 6.5%
“จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิดจากการติดเชื้อในชุมชน นอกจากฮานอย โฮจิมินห์ และดานังแล้วยังมีส่วนหนึ่งอยู่ในจังหวัดบั๊กซาง (Bac Giang) ทางตอนเหนือ ในจังหวัดบั๊กนิญ (Bac Ninh) และในกรุงฮานอย ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในเวียดนามเพิ่มขึ้น”
“ล่าสุดในช่วงปลายเดือน เม.ย.พบผู้ติดเชื้อจำนวน 3,594 ราย ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวน 7,625 ราย มีผู้เสียชีวิต 48 ราย รักษาหายแล้ว 3,043 ราย และยังมีประชาชนที่อยู่ในการเฝ้าระวังและกักตัวอีก การขยายมาตรการล็อกดาวน์ ประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่สำคัญของเวียดนามเพื่อสกัดโควิด-19 ไม่ให้กระจายและต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นโดยเร็วที่สุด เพราะเวียดนามเป็นประเทศที่มีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก หากไม่แก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็อาจจะกระทบได้”
นางสาวพรรณกาญจน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตสวนกระแส เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน จากการที่ได้รับสิทธิประโยชน์หลังเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่มีผลบังคับใช้มาแล้ว 2 ปี ช่วยให้เวียดนามเพิ่มการส่งออกไปยังทวีปอเมริกาและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างเวียดนามและทวีปอเมริกาเติบโตขึ้นอย่างมาก
ไตรมาสแรกของปี 2564 เวียดนามเพิ่มการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะส่งออกไปยังแคนาดา ชิลี เม็กซิโก และเปรู และยังมีความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EU-Vietnam Free Trade Agreement : EVFTA) ซึ่งทำให้เวียดนามมีจุดแข็งมากในการแข่งขันด้านการค้าและการส่งออก
แต่จากการแพร่ระบาดครั้งนี้ทำให้เวียดนามอาจจะมีการประเมินภาคการผลิต กำลังการผลิต การส่งออกเศรษฐกิจของเวียดนามอีกครั้ง เนื่องจากบั๊กซาง-บั๊กนิญ พื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่นั้นเป็นพื้นที่สำคัญ เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมที่มีโรงงานเป็นจำนวนมาก มีทั้งนักลงทุนในเวียดนามและต่างประเทศอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เช่น บริษัท ซัมซุงอิเลคโทรนิคส์ ทำให้เวียดนามประกาศเคอร์ฟิวห้ามเข้า-ออกทันที แรงงาน พนักงาน หรือผู้บริหารจำเป็นต้องอาศัย กิน นอนอยู่ในตัวโรงงาน ห้ามออกจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ส่วนพื้นที่อื่น เช่น ฮานอย โฮจิมินห์ สถานบริการต่าง ๆ ก็ต้องหยุดให้บริการทันที
ทั้งนี้ ปัจจุบันเวียดนามมีโครงการลงทุนจากต่างชาติ 33,463 โครงการ ทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 394,916 ล้านเหรียญสหรัฐ เกาหลีใต้เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดด้วยจำนวน 9,049 โครงการ มูลค่าเงินทุนจดทะเบียน 71,578 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 18.1% ของมูลค่าเงินทุนทั้งหมด รองมาเป็นญี่ปุ่นที่มี 4,690 โครงการ มูลค่าเงินทุนจดทะเบียน 62,911 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 15.9% และถัดไปเป็นสิงคโปร์ที่มี 2,681 โครงการ มูลค่า 61,461 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 15.6%
ขณะที่ประเทศไทยมีการลงทุน 611 โครงการ มูลค่าจดทะเบียนอยู่ที่ 12,730 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นประเทศอันดับ 9 ที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทที่เข้าไปลงทุนเป็นบริษัทรายใหญ่ เช่น SCG เครือเซ็นทรัล ซี.พี. กลุ่มธุรกิจพลังงาน เป็นต้น
“ทางเวียดนามมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมายสำคัญ โดยให้สิทธิประโยชน์ทั้งเรื่องของภาษี การเช่าพื้นที่เพื่อดึงนักลงทุน นอกจากนี้เวียดนามยังให้ความสำคัญและเปิดกว้างให้กับนักลงทุนสำหรับโครงการอุตสาหกรรมแปรรูปผักและผลไม้เป็นอย่างมากเพราะยังมีความต้องการ เนื่องจากเวียดนามมีผลผลิตแต่ขาดเรื่องการแปรรูป”
ในด้านการค้าระหว่างไทย-เวียดนามนั้น เมื่อเกิดโควิดแต่เวียดนามก็ยังนำเข้าเพิ่มขึ้น ล่าสุดข้อมูลในเดือนเมษายน 2564 มีมูลค่า 1,515 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 1,028 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าสินค้าจากเวียดนาม 486 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 การค้าระหว่างสองประเทศมีมูลค่า 6,146 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.6% เป็นการส่งออกไปเวียดนาม 4,187.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.9% และการนำเข้าจากเวียดนาม 1,958.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สำหรับสินค้าไทยที่ส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ทุกชนิด เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ วัตถุดิบพลาสติก ส่วนประกอบและชิ้นส่วนยานยนต์น้ำมันทุกประเภท เป็นต้น
“ตลาดเวียดนามยังให้ความสนใจสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยเนื่องจากมีคุณภาพ แม้จะแข่งขันเรื่องของราคากับจีน นอกจากนี้ สคต.พบว่ายังมีสินค้าในกลุ่มแม่และเด็กที่มีโอกาสส่งออกไปตลาดเวียดนาม เนื่องจากพฤติกรรมของกลุ่มตลาดนี้ให้ความสำคัญสินค้าเด็กมากขึ้น รวมถึงสินค้าชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ จักรยานยนต์ มีความต้องการเพิ่มขึ้น”
“อย่างไรก็ดีทาง สคต.จะจัดกิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจในรูปแบบออนไลน์ เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 นี้ต่อเนื่องตามกลุ่มสินค้าซึ่งเริ่มจากกลุ่มสินค้าด้านบริการสุขภาพและสินค้าอะไหล่รถยนต์ เหล็ก อาหาร สินค้าแม่และเด็ก เป็นต้น เพื่อขยายการส่งออกไทยในปีนี้ให้ได้ตามเป้าหมาย 4%”
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 7 มิถุนายน 2564