"สนั่น อังอุบลกุล" ชี้ช่องดึงทุนนอกฟื้นศก.

การสัมภาษณ์ “สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้า และสภาหอการค้าไทย หนึ่งในผู้ร่วมสัมมนา “Reopening เร่งลงทุนขับเคลื่อนอนาคตประเทศ” โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษ “เปิดแผนคมนาคม ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย” ในรูปแบบ Live Streaming ซึ่งจะมีขึ้นวันที่ 23 มิถุนายน ณ อาคาร บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)
 
ภารกิจฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยใน 99 วันที่หอการค้า ไทยตั้งเป้าหมายโดยนำแนวคิด connect the dots มาใช้เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่น แก้ปัญหาระยะสั้น ทั้งการจ้างงานและปัญหาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ขณะเดียวกันก็ได้ปูรากฐานไปสู่การฟื้นตัวอย่างยั่งยืน มี 3 ประเด็นเร่งด่วน คือ 1.เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ 2.เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ด้วย digital transformation เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกขึ้น และ 3.แก้ไขกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้สะดวก (ease of doing business)
 
สิ่งแรกคือ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในประเทศ เช่นเดียวกับการที่สามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างทั่วถึงจำนวน 70% หรือจำนวน 50 ล้านคนทั้งประเทศภายในปี 2564 นี้
 
อีกเรื่องคือ ถ้าในไตรมาสที่ 3 มีการฉีดวัคซีนได้รวดเร็ว ก็หมายความว่าเศรษฐกิจในภาคการบริการจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และหวังว่าในแต่ละพื้นที่จะมีความพร้อมเปิดจังหวัด หรือพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวได้
 
สำหรับการลงทุนก็เป็นส่วนที่มีความสำคัญมากในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะโลกเริ่มฟื้นตัวแล้ว หลายประเทศฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วถึงมากขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา หรือจีน หวังว่าประเทศไทยก็คงจะเช่นเดียวกัน หากเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวก็จะสามารถดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุน เกิดการลงทุนใหม่ และเปิดกิจกรรมในภาคบริการได้อย่างเต็มที่
 
รวมทั้งอยากจะเห็นถึงความสำเร็จของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของไทย ซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญที่สุด แม้การลงทุนของไทยในส่วนนี้ที่ดูเหมือนจะได้น้อย แต่จะเป็นแรงที่ดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนอย่างมาก เพราะได้เตรียมความพร้อมระบบสาธารณูปโภคหลายๆ อย่างไว้แล้ว ดังนั้นขอให้เร่งให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
 
ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศด้วย จะเห็นได้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ทุกรัฐบาลจะผลักดันและส่งเสริมให้นักธุรกิจในประเทศไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อการขยายตลาดและห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศเอง เช่น เวียดนามที่เป็นคู่ค้าที่ดีที่สุดของไทย ถ้ารู้จักที่จะใช้โอกาสนี้ ไปลงทุนที่เวียดนาม หรือประเทศใกล้เคียงของไทย ขณะนี้ผู้ประกอบการไทยก็มีความพร้อมหลายเรื่อง ที่จะไปลงทุนที่สหรัฐอเมริกา จีน หรืออินเดีย ที่จะเป็นประเทศดาวรุ่งในอนาคต ถ้ารัฐบาลช่วยส่งเสริมส่วนนี้ได้ จะเป็นการช่วยเศรษฐกิจไทยควบคู่กันไป
 
ในด้านบทบาทที่จะขับเคลื่อนการลงทุน มีหอการค้าต่างประเทศรวมกว่า 50 ประเทศเป็นสมาชิกภายใต้สภาหอการค้าไทย จะเป็นแรงดึงดูดและสร้างความมั่นใจให้กับชาวต่างชาติให้สนใจมาลงทุนในไทยได้ บางส่วนก็มีการลงทุนอยู่ในไทยแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งหอการค้าฯได้มีการร่วมมือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในการผลักดัน แก้ไขระเบียบและกฎหมาย เพื่อสร้างความสะดวกและความคล่องตัวในการทำธุรกิจของชาวต่างชาติที่จะมาลงทุน ส่วนนี้ก็อยู่ในแผนที่จะผลักดันการลงทุน มีหลายส่วนที่คิดว่าสามารถแก้ไขได้ โดยจะต้องทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน
 
สิ่งที่เป็นอุปสรรคที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไข :
คือเรื่องเทคโนโลยี ในขณะนี้อยู่ในยุคที่เป็นดิจิทัล ก็ต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีมาทำงาน ในการเชื่อมโยงข้อมูล ลดขั้นตอนในการทำงาน ขณะเดียวกันก็ใช้ในการอำนวยความสะดวกในการขออนุมัติ หรือใบอนุญาตต่างๆ ให้เป็นลักษณะบริการครบวงจร (one stop service) และควรพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์สำหรับคนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนและอยู่อาศัยในไทย ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะต้องลงในรายละเอียดและทบทวนอีกครั้ง เช่น ที่จีน หรือสิงคโปร์ ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีระยะเวลา 10-20 ปี ถ้าของไทยยังอยู่ที่ 5-8 ปี
อาจทำให้ไทยเสียเปรียบกว่าประเทศอื่นๆ จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐและเอกชนต้องมาหารือร่วมกันเพิ่มเติม
 
ด้านศักยภาพการดึงดูดการลงทุนของไทย :
คือ เป็นประเทศที่มีเสน่ห์ในตัว คนที่มาอยู่ในไทยก็อยากจะอยู่ต่อ เพราะมีสาธารณสุขที่ดี อาหารอร่อย ค่าครองชีพต่ำ มีความสะดวกสบาย และอีกประการคือ คนไทยเป็นคนที่มีน้ำใจมาก เพียงแต่เราต้องจัดการเรื่องแรงงานให้เพิ่มความสามารถได้อย่างไร ขณะเดียวกันจะชักจูงแรงงานที่มีความสามารถสูงให้มาทำงานในประเทศไทยอย่างไร ส่วนนี้จะต้องมีแรงจูงใจ หรือสร้างสำนักงานภูมิภาคในไทย จริงๆ แล้วคนไทยเก่งๆ ที่อยู่ต่างประเทศก็มีจำนวนมาก จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้กลับมาช่วยไทย เช่น จีนหรือเวียดนามก็มีมาตรการสร้างแรงจูงให้กลับมาพัฒนาประเทศตัวเอง ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ ให้ใช้เทคโนโลยีมากขึ้นควบคู่ไปด้วย
 
ในเรื่องของโรคระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งค่อนข้างคลุมเครือและทุกสิ่งอย่างก็ผันผวนไปหมด ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือ ประชาชนในประเทศต้องช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาดให้น้อยที่สุด ส่วนภาครัฐก็เร่งจัดหาวัคซีนให้ได้จำนวน 100 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรตามเป้าหมาย จึงคิดว่าถ้าเป็นไปตามแผนก็จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ส่วนภาคเอกชนมีความพร้อมอยู่แล้ว เห็นได้ว่าหอการค้าก็มีโครงการที่ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการตั้งศูนย์บริการฉีดวัคซีน 25 ศูนย์
 
รวมทั้งมีทีมงานที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี เช่น ธนาคารกรุงไทย และบริษัทไอ บีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ที่ช่วยประสานงาน กับ กทม.ในการทำโครงการไทยร่วมใจ ให้บริการจองรับวัคซีน ซึ่งเป็นไปด้วยดี
ถ้ามีการทำงานอย่างบูรณาการ ทั้งภาครัฐและเอกชน ก็ทำให้แบ่งเบาภาระทางภาครัฐได้ และเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไปด้วยกัน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแนวคิด “connect the dots” คือ หอการค้าไทยจะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการทำงานจากเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทุกฝ่ายที่มีความสามารถเข้าด้วยกัน ทำงานร่วมกันเป็นทีม และหาทางออกที่ดีที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และร่วมกันทำงานอย่างสร้างสรรค์ และขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า
 
ส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น โครงสร้างเศรษฐกิจของไทย เมื่อมาดูในแต่ละภาคเศรษฐกิจของไทยโดยเริ่มที่ภาคการผลิตและการส่งออก ซึ่งตอนนี้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ภาคเอกชน จึงมองว่าทั้งสองภาคส่วนยังคงเดินหน้าต่อไปได้แม้จะมีความท้าทายเรื่องค่าขนส่ง (freight) ค่าวัตถุดิบ และค่าแรงที่สูงขึ้น สำหรับภาคการค้า โควิด-19 ระลอกที่ 3 ส่งผลกระทบต่อการค้าไม่มากนัก ยังคงเปิดค้าขายได้ แต่จะเป็นความท้าทายของรัฐบาลว่าในระยะต่อไปจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร เพื่อให้ภาคการค้ากลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนมีการระบาด และต้องประมาทไม่ได้ ต้องพัฒนาบุคลากรและอุตสาหกรรมตามกระแสนิยม เรื่องเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และพลังงาน ที่ไทยมีความสามารถอยู่แล้ว การที่ให้สิทธิประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมประเภทใหม่ๆ ก็มีความจำเป็นต้องทบทวนใหม่
 
อีกด้านคือ ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่ไทยได้เปรียบอยู่แล้ว แต่เป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดตั้งแต่การแพร่ระบาดระลอกแรก การสั่งปิดกิจการในหลายพื้นที่ ตลอดจนมาตรการกักตัวของบางจังหวัดที่ทำให้เกิดการชะลอตัวของนักท่องเที่ยว ชะลอการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องและปิดกิจการ มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น หรือมีการลดเงินเดือน ถ้ารัฐบาลสนับสนุน อย่างโครงการพักทรัพย์พักหนี้ของ
 
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้มีผลลัพธ์ที่เร็ว ให้ทันเวลาในการช่วยผู้ประกอบการ ไม่ต้องปิดกิจการ ให้อยู่ได้ ให้ทนได้อีกสักนิด แล้วหลังจากที่มีการฉีดวัคซีนครบแล้ว การท่องเที่ยวก็กลับมา พร้อมรองรับได้ทันที จะทำเศรษฐกิจกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง
 
ไม่เช่นนั้น ถ้าผู้ประกอบการต้องปิดโรงแรม จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ว่าจะความเสื่อมโทรมของโรงแรม เชื้อโรค และการหาพนักงานที่มีความสามารถเฉพาะมาใหม่ก็หาได้ยาก ในขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทยทั้งหมดก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์ดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้นรัฐบาลควรจะประคับประคองและรักษาผู้ประกอบการธุรกิจส่วนนี้ให้ได้ หอการค้าไทยจึงให้ความสำคัญและอยากช่วยเชื่อมโยง แนวคิด “connect the dots” ให้ผู้ประกอบการกับสถาบันการเงินให้ประสานกันได้ จะได้มีเงินหมุนเวียนและประคองธุรกิจต่อไปได้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ในส่วนของโครงการ พักทรัพย์พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นโครงการที่ดี แต่ถ้าเห็นผลช้าไป ถ้าผู้ประกอบการเข้าไม่ถึง ก็จะเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมาก
 
นอกจากสนับสนุน ในการเข้าถึงเงินทุนเพื่อนำไปปรับปรุงและขยายกิจการ ผ่านสินเชื่อฟื้นฟูตามเกณฑ์ ธปท. ซึ่งมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน ยังมีโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจผ่านสินเชื่อแฟคตอริ่ง (factoring) โดยธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการค้าปลีก เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี ที่เป็นซัพพลายเออร์ หรือผู้เช่าพื้นที่ได้โดยตรงเอสเอ็มอี จะใช้คำสั่งซื้อและใบแจ้งหนี้จากคู่ค้าเป็นหลักประกัน โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่กับธนาคารพาณิชย์ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยคัดกรองและส่งข้อมูลของลูกค้า เอสเอ็มอี ที่เป็นซัพพลายเออร์และผู้เช่าพื้นที่ให้กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งการใช้ใบคำสั่งซื้อ หรือใบส่งของที่มีกับธุรกิจค้าปลีกนั้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อ จะช่วยให้การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเพิ่มการเข้าถึงสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอี ที่มีหลายแสนรายทั่วประเทศ
 
ส่วนเรื่องข้อเสนอเพิ่มเติมนั้น มาตรการของภาครัฐที่มีอยู่ก็ดีอยู่แล้ว ส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ใน 4 มาตรการ วงเงิน 1.4 แสนล้านบาทนั้น ถ้าสามารถทบทวนเพิ่มเติมในโครงการคนละครึ่ง ให้ขยายวงเงินอุดหนุนโดยรัฐบาลช่วยจ่าย 6 พันบาทต่อคน และประชาชนจ่ายเอง 6 พันบาทได้ จะทำให้มีเงินใช้จ่ายมากขึ้น และช่วยเพิ่มเม็ดเงินที่หมุนเวียนในระบบ จาก 9.3 หมื่นล้านบาท เป็น 1.86 แสนล้านบาท
 
อีกเรื่องคือ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นสิ่งที่ดี ที่ให้เงินสนับสนุนเป็นบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เวาเชอร์) แต่คิดว่าโครงการเดิมอย่างเช่น ช้อปดีมีคืนจะทำให้ประชาชนเข้าถึงการใช้จ่ายได้ง่ายกว่า และดึงคนที่มีเงินออมให้ใช้เงินได้มากยิ่งขึ้น และสนับสนุนให้คนเข้าร่วมโครงการกว่า 30 ล้านคน ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลน่าจะทบทวนอีกครั้ง
 
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 7 มิถุนายน 2564

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)