ขยายเวลา แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ตรวจโควิด ถึง 13 ก.ย. 64
ครม. ไฟเขียวขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ตรวจเชื้อโควิด-19 ทำประกันสุขภาพ และขออนุญาตทำงาน ให้เสร็จภายใน 13 ก.ย. 2564
วันที่ 8 มิถุนายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาให้แรงงานต่างด้าวดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทำประกันสุขภาพ และขออนุญาตทำงาน จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ขยายออกไปเป็นภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 และขยายระยะเวลาให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ลงทะเบียนไม่มีงานทำ (5.38 หมื่นคน) ไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร.38/1) พร้อมกับการทำบัตรสีชมพูให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 (จากเดิมภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564) เพื่อให้การดำเนินการของแรงงานต่างด้าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และไม่เป็นการเพิ่มภาระแก่บุคลากรทางการแพทย์จนเกินควร
น.ส.รัชดากล่าวว่า ความจำเป็นที่ต้องขยายระยะเวลาในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก มติ ครม. เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2563 ได้ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจะต้องจัดทำทะเบียนประวัติ ตรวจเชื้อโควิด-19 จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometric) ขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพ และยื่นคำขออนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 มิถุนายนนี้
ที่ผ่านมา แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้ดำเนินการตามมติ ครม. (29 ธ.ค. 63) แล้ว จำนวน 6.54 แสนคน โดยลงทะเบียนเพื่อขอรับการจ้างงานจากนายจ้าง จำนวน 6.01 แสนคน หลังจากได้คัดกรองข้อมูลแรงงานแล้ว คงเหลือแรงงานต่างด้าวที่สามารถขออนุญาตทำงานได้จำนวนทั้งสิ้น 4.96 แสนคน โดยในจำนวนนี้ จากข้อมูล ณ 31 พ.ค.64 แรงงานต่างด้าวที่ได้จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometric) จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแล้ว 98% หรือจำนวน 4.85 แสนคน ผ่านการตรวจคัดกรองโควิด-19 จากกระทรวงสาธารณสุขแล้วประมาณ 70% จำนวน 3.39 แสนคน และได้รับอนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงานแล้วประมาณ 50% หรือ จำนวน 2.39 แสนคน
“แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลไม่สามารถดำเนินการตรวจคัดกรองโควิด-19 ให้กับแรงงานต่างด้าวได้ทันตามกำหนดภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ซึ่งทำให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อนายจ้างที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาออกไป”
น.ส.รัชดากล่าวว่า เมื่อแรงงานต่างด้าวดำเนินการครบทุกขั้นตอนและได้รับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังของบัตรแล้ว จะสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 อันเป็นการรักษากำลังแรงงานซึ่งเป็นส่วนสำคัญของนายจ้างและสถานประกอบการ ตลอดจนช่วยให้นายจ้างได้จ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และแรงงานต่างด้าวก็ได้รับความคุ้มครองและมีสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ การคุ้มครองตามสิทธิที่พึงได้รับ รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูประเทศต่อไป
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 8 มิถุนายน 2564