สนั่น หารือ สุพัฒนพงษ์ ขอช่วยลูกหนี้ติดเครดิตบูโรเข้าถึงแหล่งเงินทุน
“สนั่น” นำหอการค้าหารือ “สุพัฒนพงษ์” ระดมแนวทางช่วยผู้ประกอบการ หลังโควิด วอนขอลูกหนี้ติดเครดิตบูโรเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เตรียมถก CEO 5 แบงก์ต่อ พร้อมนำร่อง HUG THAIS HUG PHUKET เตรียม MOU 21 มิ.ย.นี้ หวังฟื้นท่องเที่ยว 2.7 แสนล้านบาทใน 6 เดือน ดันจีดีพี 1.6% พยุงจ้างงาน 2 ล้านอัตรา
วันที่ 10 มิถุนายน 2564 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าฯ ได้ประชุมหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เลขาธิการสภาพัฒน์ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
โดยหอการค้าฯ ได้เสนอให้ภาครัฐผ่อนคลายกฎระเบียบ เพื่อให้สถาบันทางการเงินมีอิสระในการใช้ดุลพินิจมากขึ้น โดยสถาบันทางการเงินจะมีกฎเกณฑ์พื้นฐานในการให้สินเชื่อ ซึ่งจะพิจารณาจากหลายมิติ ไม่ใช่พิจารณาจากเครดิตบูโรเพียงอย่างเดียว รวมถึงการให้ผู้ประกอบการค้าปลีกสามารถคัดกรองและให้ข้อมูลผู้ขายแก่สถาบันทางการเงิน เพื่อนำมาใช้ประเมินความเสี่ยงได้
นอกจากนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจพิจารณาปลดล็อกให้ลูกหนี้ที่ติดเครดิตบูโร หรือ NPL ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดนี้ ยิ่งต้องมีการดูแลผ่อนผัน เพื่อให้สถานะฟื้นตัวกลับมาโดยเร็ว

“ที่ผ่านมาผู้ประกอบการจำนวนมากโดยเฉพาะรายเล็ก ประสบปัญหาสภาพคล่องเป็นอย่างมาก และบางรายต้องพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ เพราะไม่สามารถเข้าถึง Soft Loan ของภาครัฐได้ ซึ่งทางหอการค้าได้นำร่องโครงการ Sand Box ต้นแบบระหว่าง KBANK กับ CRC ไปแล้ว”
สำหรับมาตรการเสริมสภาพคล่องหอการค้าฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs จะแบ่งเป็น 2 ประเด็น ได้แก่ 1) การลดระยะเวลา Credit term ให้แก่คู่ค้าของบริษัท โดยรายย่อย (เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน บุคคล) เหลือ 7-15 วัน และรายกลาง 30 วัน 2) Digital Factoring Platform ให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยในเฟสแรกซึ่งเป็น Sand Box ต้นแบบ มีผู้สนใจ 6,000 ราย ได้รับอนุมัติ 1,000 ราย วงเงินสินเชื่อรวม 5,000 ล้านบาท ตั้งเป้าหมาย SMEs เข้าร่วม 5 แสนรายทั่วประเทศ รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ภายใน 6 เดือน
ส่วนโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset warehousing) หอการค้าได้ขอการพิจารณาจากธนาคารแห่งประเทศไทย ขยายมาตรการให้ครอบคลุมรวมถึงเงินให้กู้เพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ เช่น 30% ของหนี้เดิม ไม่ว่าจะเป็นการใช้หลักประกันเดิม หรือนำหลักประกันใหม่มาวางประกันเพิ่ม
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 10 มิถุนายน 2564