ยุทธการสหรัฐฯ ต่อต้านจีนเต็มรูปแบบ
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย เขียนบทความเรื่อง "ยุทธการสหรัฐฯ ต่อต้านจีนเต็มรูปแบบ ชี้ให้เห็นว่าสมัย"ทรัมป์"ที่ว่าเข้มแล้วยุค"ไบเดน"ยิ่งเข้มข้นมากกว่า
ขณะนี้ในสหรัฐอเมริกา มีการพูดเรื่องหลักๆ 3 เรื่องคือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต้นตอของเชื้อโควิด และการตอบโต้หรือจัดการกับประเทศจีน ซึ่งในยุค “ไบเดน” มีแนวทางที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับยุค “ทรัมป์” ไบเดนจะใช้สภาคองเกรสเพื่อออกกฏหมายและหาพันธมิตรร่วมต่อสู้กับจีน แนวนโยบายเป็นลักษณะ “ป่าล้อมเมือง” ในขณะที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ออกแนว “เฮียสั่งลุย”
ทั้งนี้สมัย "ทรัมป์"ได้มีการออกคำสั่งบริหาร (Executive Order) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 ให้มีตรวจการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ว่า
1.นโยบายการค้าภายในประเทศของสหรัฐฯ ในระยะที่ผ่านมามีอะไรที่ทำให้สหรัฐฯ เกิดการขาดดุลการค้ากับประเทศ 16 ประเทศอย่างมากมาย
2.ข้อพิพาททางการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ ภายใต้กติกาของ WTO นั้นมีความเป็นธรรมต่อการค้าของสหรัฐฯ หรือไม่? และ 16 ประเทศมีการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ หรือไม่ ต่อมากลายเป็น "สงครามการค้ากับจีน" อย่างเข้มข้น ต้องยอมรับว่าหลังจากยุคทรัมป์ คนสหรัฐฯ มีการตื่นตัวประเด็น “บทบาทและอิทธิพลจีนทุกด้าน” อาจกล่าวได้ว่า “ทรัมป์” เป็นคนเปิดประเด็นเรื่องจีนให้คนอเมริกาได้ทราบ
ผมยังคิดว่าการเปลี่ยนผู้นำสหรัฐฯ เป็นไบเดนซึ่งมีท่าทีประนีประนอมมากกว่า จะทำให้รูปแบบการต่อกรกับจีน “ลดลง” ในทางตรงกันข้ามกลับ “เข้มข้นขึ้น” และแนวทางก็เปลี่ยนเป็น เน้นการออกกฎหมายเพื่อจัดการกับประเทศจีน โดยสหรัฐฯ กำลังออกกฎหมายหลายฉบับที่จะจัดการกับจีน ซึ่งสามารถเรียกได้ว่า “กฎหมายต่อต้านจีน” หรือกล่าวได้ว่าสหรัฐฯ กำลังทำ “สงครามเย็นกับจีน” มีประเทศในอินโด-แปซิฟิก 36 ประเทศเป็น “สนามรบ”
ยุคไบเดนมองจีน 10 ประเด็นดังนี้ครับ
1.จีนกำลังใช้ประโยชน์ทางการเมือง การทูต เศรษฐกิจ พลังงาน เทคโนโลยีและอุดมการณ์ที่ขัดกับค่านิยมและผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา
2.จีนจัดตั้งอำนาจอธิปไตยเหนืออินโด-แปซิฟิกเพื่อเป็น “มหาอำนาจชั้นนำของโลก”
3. จีนกำลังเปลี่ยนระเบียบโลกโดยให้ประเทศต่างๆ หันไปใช้การพัฒนาเศรษฐกิจและภูมิปัญญาของจีน
4.จีนทำลายประชาธิปไตย สถาบันการเงินและบีบบังคับธุรกิจต่างชาติเพื่อรองรับนโยบายของจีน
5.จีนตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อจัดตั้งการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ จีนจะใส่เงินวิจัยเป็น 7% ของ GDP ในปี 2021 -2025 โดยปี 2020 จีนค่าใช้จ่าย R&D ที่ 1.8 % สหรัฐฯ 2.8% ของ GDP (R&D World, Global R&D investments unabated in spending growth, March 2020)
6.จีนใช้วิธีการทางกฎหมายและผิดกฎหมายที่หลีกเลี่ยงการแข่งขัน และทำลายตลาดต่างประเทศที่เปิดกว้างและเสรี เช่น ขโมยทรัพย์สินทางปัญญา และบังคับเข้าถึงข้อมูลของบริษัทต่างประเทศ
7. จีนใช้ “BRI” ซึ่งอยู่ในรัฐธรรมนูญจีนเพื่อให้เกิดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจของจีน
8.จีนควบคุมเส้นทางทางบก ทางนํ้า และทางอากาศในอินโด-แปซิฟิก
9.ในทะเลจีนใต้จีนได้สร้างเกาะที่ผิดกฎหมายซึ่งคุกคามในการค้า ทำลายสิ่งแวดล้อม และข่มขู่ประเทศอื่น ๆ
10. จีนบิดเบือนข้อมูลและปิดบังความร้ายแรงของเชื้อโควิด เช่น กรณี “Lab Leak Theory” ทำให้สหรัฐฯ ออกกฏหมายเพื่อต่อต้านจีน เช่น
1).พระราชบัญญัติพญาอินทรีย์ (EAGLE Act : Ensuring American Global Leadership and Engagement Act 470 หน้า) และพระราชบัญญัติการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ (Strategic Competition Act, 281 หน้า)
ทั้งนี้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้มีเนื้อหาคล้าย ๆ กันเพื่อ
1).รักษาความเป็นผู้นำของโลกในทุกด้าน
2).ถ่วงดุลอำนาจกับจีนในอินโด-แปซิฟิก โดยการสร้างกฏเกณฑ์และระเบียบคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การค้า การลงทุน การลงทุนทางสังคมและเทคโนโลยี ที่สอดคล้องกับค่านิยมและผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา พันธมิตรและพันธมิตร และโลกเสรี
3).ลงทุนการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันประชาธิปไตย เพื่อให้สหรัฐฯ ดำเนินตามประโยชน์ทางเศรษฐกิจ นโยบายต่างประเทศ และความมั่นคง
โดยมีมาตรการคือ
1.พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รับผิดชอบ หาผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ห่วงโซ่การผลิตออกไปจากตลาดจีน วัตถุดิบออกจากจีน(ปี 2015 สหรัฐฯ พึงพิงวัตถุดิบต่างประเทศ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ และพึงจีนมากเป็นอันดับหนึ่งด้วยสัดส่วน 18%, CNBC “5 charts show how much the U.S. and Chinese economies depend on each other”, SEP 28 2020) ปรับปรุงกฎหมาย หาตลาดใหม่ โดยร่วมกับพันธมิตร ตั้งงบ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี 2022 -2027
2.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เน้นการก่อสร้างที่ต่อต้านการทุจริต สิทธิแรงงาน โปร่งใส และมีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและพลังงาน มีการตั้งเป็นกองทุน ‘‘Infrastructure Transaction and Assistance Network (75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)’’ และตั้งกองทุน Transaction Advisory Fund (20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
3.ความร่วมมือทางดิจิทัลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ กองทุนต่อต้านจีนปีละ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2022 – 2026) ทำข้อตกลงซื้อขายสินค้าดิจิตัลกับญี่ปุ่น ไต้หวัน ยุโรป การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย และปกป้องทรัพย์สินทางเทคโนโลยี เป็นต้น
รวมถึงประเด็นอื่น ๆ เช่น ต่อต้านอิทธิพลพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตั้งกองทุนปีละ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยุทธศาสตร์ทางการทูตเน้นอินโด-แปซิฟิก โดยมี ญี่ป่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียฟิลิปฟินส์อินเดีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน นิวซีแลนด์และไทยเป็นพันธมิตร ใช้ 3 กรอบคืออาเซียน เอเปคและ “Quad” (อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย) เป็นพื้นที่ทำการ ความมั่นคง ยุทธศาสตร์ภูมิภาคต่อต้านจีน สร้างค่านิยมสหรัฐฯ ต่อฮ่องกง และซินเจียง สร้างค่านิยมทางเศรษฐกิจผ่านการค้าแบบตลาดเสรี
2).พระราชบัญญัติการแข่งขันและนวัตกรรม (Innovation and Competition Act) วงเงิน 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เน้นอุตสาหกรรมแผงวงจรไฟฟ้าขนาดเล็ก (microchip industry) เพื่อต่อสู้กับ 7 อุตสาหกรรมจีนที่กำลังพัฒนา คือ
1.ปัญญาประดิษฐ์(AI) ปี 2030 จีนจะเป็นผู้นำด้าน AI ของโลกสัดส่วน 26% ของมูลค่าโลก (มูลค่าโลกอยู่ที่ 2 แสนล้านดอลลาร์) บริษัทใหญ่ ๆ เช่น DJI และ Bytedance เป็นต้น
2.สารสนเทศควอนตัม (Quantum information) ที่จะทำให้การประมวลผลข้อมูลรวดเร็วมาก
3.เซมิคอนดักเตอร์ (semiconductors) ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จีนลงทุน 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
4.วิทยาศาสตร์สมอง(Brain science) ที่จำลองความสามารถทางสมองของมนุษย์ในการรับรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ เพื่อไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมสาธารณสุข การศึกษา และอินเตอร์เฟซของชิปสมอง (Brain-chip) ฝังชิปคอมพิวเตอร์ในสมองเพื่อเชื่อมต่อมนุษย์และคอมพิวเตอร์
5. ไบโอเทคโนโลยี (Biotechnology) เช่น การวิจัยเกี่ยวกับความมั่นคงทางชีวภาพและนวัตกรรมการผลิตวัคซีน เป็นต้น
6. การแพทย์และสุขภาพ (Clinical medicine and health) และ
7. การวิจัยเกี่ยวกับอวกาศ มหาสมุทร และขั้วโลก (Deep space, deep earth, deep sea and polar research)
ในขณะที่สหรัฐฯ ลงทุนหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เน้น 10 อุตสาหกรรมที่เหมือนกันกับจีน คือ AI เซมิคอนตักเตอร์และคอมพิวเตอร์ขั้นสูง (สูญเสียส่วนแบ่งตลาดจาก 40% เหลิอ 12%) หุ่นยนต์ ป้องกันภัยพิบัติ ไอทีขั้นสูง ไบโอเทคโนโลยี่และเครื่องมือการแพทย์ การจัดการข้อมูล เทคโนโลยี่พลังงานขั้นสูง วัตถุวิทยาศาตร์ขั้นสูง และสารสนเทศควอนตั้ม
เรื่องนี้ผมพอจะสรุป “5 ประเด็น” ดังนี้ 1.ปี 2021 เป็นปีที่สหรัฐฯ เตรียมแผนและกฏหมาย และหลังจากนี้อีก 5 ปีข้างหน้า (2022-2027) จะเห็นสงครามเต็มรูปแบบ 2.ไทยและอาเซียนจะต้องวางนโยบายหรือยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องและเท่าทันในทุกด้านกับจีนและสหรัฐฯ 3.ไทยต้องปรับตัวกับอุตสาหกรรมไฮเทคทั้ง 7 ถึง 10 อุตสาหกรรมภายใต้ข้อพิพาทสหรัฐฯ และจีนอย่างไร 4.ห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงและเกิดการแย่งชิงวัตถุดิบ 5.ไทยต้องเร่งพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อไม่ตกขบวน ครับ
บทความโดย : รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช
ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 17 มิถุนายน 2564