กำลังซื้อประชาชนยังไม่ฟื้น ฉุดยอดค้าปลีก ปี 64 หดตัว 2%
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” วิเคราะห์สถานการณ์การค้าปลีก ระบุว่า ยอดค้าปลีกในช่วงครึ่งหลังปี 2564 คาดว่า ยังคงหดตัวต่อเนื่อง แต่น่าจะมีทิศทางหรือบรรยากาศที่ดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายกระทบการใช้จ่ายในประเทศ แม้จะมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐเข้ามาอย่างต่อเนื่องโดยไตรมาสแรกยอดขายค้าปลีกหดตัว 2.2% ซึ่งกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่กลับมาฟื้นตัว และผู้บริโภคบางรายต้องสูญเสียรายได้จากการตกงาน เพราะธุรกิจไม่สามารถประคับประคองหรืออยู่รอดได้ ทำให้คาดว่ายอดค้าปลีกครึ่งหลังหดตัว 0.2% และทั้งในปี 2564 จะหดตัว 2% เมื่อเทียบกับปีก่อน
นอกจากนี้ต้องจับตาประเด็นการฉีดวัคซีนในช่วง 2-3 เดือนนี้ ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่จะออกมาใช้จ่ายโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจ เช่น สามารถฉีดวัคซีนได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านโดส หรืออาจจะมียอดการฉีดวัคซีนสะสมไม่ต่ำกว่า 20 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนก.ย. แม้ว่าอัตราการฉีดวัคซีนดังกล่าวจะยังไม่เพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
สำหรับทั้งประเทศ แต่ในจังหวัดสำคัญโดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต กรุงเทพฯ สุราษฎร์ธานี หากภายในสิ้นเดือนส.ค. ความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนเข็มแรกไม่ต่ำกว่า 50% ของประชากรในแต่ละจังหวัด ก็ยังมีโอกาสที่จะเปิดการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นไตรมาสที่มีความสำคัญที่สุดของปีที่คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดการทำกิจกรรมและมีการจับจ่ายใช้สอยในช่วงดังกล่าวได้ แต่หากมีความล่าช้าออกไปกว่าที่คาด โอกาสในการทำการตลาดเพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลับมาอาจจะไม่ทัน ดังนั้น อัตราการฉีดวัคซีนจึงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตา ซึ่งคาดว่าจะสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนทั้งที่เป็นคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปัจจุบัน
ขณะที่ผู้ประกอบการคงจะตอบรับต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่เพิ่มขึ้นนี้และหันมาทำการตลาดกันมากขึ้น และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่จะทยอยออกมาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เช่น มาตรการคนละครึ่งเฟส 3 รวมถึงมาตรการเพิ่มเติมภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็น่าจะช่วยหนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มอาหารและของใช้จำเป็น จึงมีความเป็นไปได้ที่ยอดขายค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลังและทั้งปีนี้อาจจะดีกว่าตัวเลขที่ประเมินไว้ได้
ทั้งนี้ยอดขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของผู้ประกอบการน่าจะยังขยายตัวต่อเนื่องได้ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหารและของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ยอดค้าปลีกออนไลน์ทั้งปี 2564 น่าจะยังขยายตัวที่ 12.6% แต่อย่างไรก็ตามประเมินว่าหากต้นทุนหรือราคาสินค้ามีการปรับเพิ่มขึ้น 1% อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค คาดว่าจะกระทบต่อยอดขายของค้าปลีก 23,600-23,800 ล้านบาท
ที่มา businesstoday.com
วันที่ 21 มิถุนายน 2564