ส่อง Top 10 ประเทศที่มีตลาดอีคอมเมิร์ซใหญ่ที่สุดในโลก
หากพูดถึงอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในไทยจะเห็นว่ามีการเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในปี 2563 ที่การระบาดของ COVID-19 ทำให้ต้องล็อกดาวน์ และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่ไทย แต่ตลาดอีคอมเมิร์ซก็เติบโตขึ้นทั่วโลกเช่นกัน ดังนั้น ไปส่อง 10 ตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในโลกกันว่ามีประเทศไหนบ้าง
จีน :
ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่สำหรับเบอร์ 1 เพราะจีนมีจำนวนประชากรเกือบ 1.4 พันล้านคน ประกอบกับประเทศที่ใหญ่ แน่นอนว่าการซื้อสินค้าที่สะดวกที่สุดคงหนีไม่พ้นออนไลน์ ส่งผลให้มีอีคอมเมิร์ซจีนมีมูลค่าสูงถึง 672 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 15.9% ของตลาดค้าปลีกในประเทศ
โดยเจ้าตลาดของจีนนั้นก็คือ Alibaba group เจ้าของแพลตฟอร์ม Alibaba, Tmall รวมถึง Lazada ในไทยด้วย นอกจากนี้ก็มี JD.COM เบอร์ 2 ของจีน ยังไม่รวมแพลตฟอร์มอื่น ๆ อาทิ Kuaishou แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่คนนิยมทำ ไลฟ์คอมเมิร์ซ ปัจจุบันอีคอมเมิร์ซจีนมีอัตราการเติบโตสูงถึงปีละ 35% ถือเป็นประเทศที่มีการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซที่เร็วที่สุดในโลกอีกด้วย
สหรัฐอเมริกา :
อดีตเบอร์ 1 ที่ครองโลกอีคอมเมิร์ซมานานกว่า 10 ปี ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีเจ้าตลาดอย่าง Amazon และ eBay ซึ่งเชื่อว่าหลายคนต้องเคยสั่งของสักครั้งแน่นอน ปัจจุบัน ตบาดอีคอมเมิร์ซในสหรัฐฯ มีมูลค่าตลาดที่ 340 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 7.5% ของมูลค่าค้าปลีกทั้งหมด
สหราชอาณาจักร :
แม้สหราชอาณาจักรจะไม่ได้เป็นประเทศใหญ่เหมือนกับจีนและสหรัฐฯ แต่สหราชอาณาจักรก็เป็นผู้เล่นอีคอมเมิร์ซรายใหญ่และครองตำแหน่งที่ 3 โดยมีเจ้าตลาดที่คุ้นเคยเป็นอย่างดีก็คือ Amazon U.K. นอกจากนี้ก็มี Argos และ Play.com ปัจจุบันมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ 99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 14.5% ของมูลค่าค้าปลีกทั้งหมด
ญี่ปุ่น :
เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความโดดเด่นด้านอีคอมเมิร์ซ เพราะถือเป็นหนึ่งในประเทศที่บุกเบิกตลาดและเป็นผู้นำเทรนด์ m-commerce หรือการช้อปปิ้งออนไลน์บนมือถือของโลก โดย Rakuten ถือเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำของญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เข้าซื้อกิจการเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซหลายแห่งทั่วโลก ปัจจุบัน ตลาดอีคอมเมิร์ซญี่ปุ่นมีมูลค่า 79 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 5.4% ของตลาดค้าปลีกในประเทศ
เยอรมนี :
เยอรมนีเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่เป็นอันดับสองของยุโรป รองจากสหราชอาณาจักร โดยมี Amazon (อีกแล้ว) ครองตลาดในเยอรมนี ตามด้วย Otto แพลตฟอร์มสัญชาติเยอรมัน และ eBay โดยปัจจุบัน อีคอมเมิร์ซมีในเยอรมันมีมูลค่า 73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 8.4% ของตลาดค้าปลีกทั้งหมด
ฝรั่งเศส :
ถือว่ามาแปลกเพราะผู้นำในตลาดอีคอมเมิร์ซของฝรั่งเศสนำโดยผู้เล่นในท้องถิ่น เช่น Odigeo และ Cdiscount แม้ว่าจะมี Amazon เบอร์ 1 ในสหรัฐฯ และในหลายประเทศในยุโรปเป็นคู่แข่งก็ตาม แต่ถึงแม้ Amazon จะไม่สามารถเป็นผู้นำในตลาดอีคอมเมิร์ซฝรั่งเศสได้ แต่ก็ถือเป็นผู้เล่นที่อยู่ในลำดับต้น ๆ อยู่ดี ปัจจุบัน ตลาดอีคอมเมิร์ซของฝรั่งเศสมีมูลค่า 43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 5.1% ของตลาดค้าปลีกทั้งหมด
เกาหลีใต้ :
เกาหลีใต้ถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านอีคอมเมิร์ซประเทศหนึ่ง และหากจำกันได้ ‘11Street’ ผู้เล่นในเกาหลีใต้เคยมาบุกประเทศไทยด้วย (แม้ปัจจุบันจะม้วนเสื่อกลับไปแล้วก็ตาม) ทั้งนี้ เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีความเร็วอินเทอร์เน็ตไร้สายที่เร็วที่สุด และถือเป็นประเทศที่มีตลาด M Commerce หรือ Mobile Commerce ชั้นนำอีกด้วย โดยผู้เล่นอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ได้แก่ Gmarket และ Coupang ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซเกาหลีมีมูลค่า 37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 9.8% ของตลาดค้าปลีกทั้งหมด
แคนาดา :
ผู้นำในตลาดของแคนาดาคือ Amazon ตามด้วย Costco โดยที่น่าแปลกใจคือ แคนาดาเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ แต่กลับมีการแข่งขันต่ำ ด้วยโอกาสดังกล่าวทำให้แบรนด์ต่างประเทศอื่น ๆ ก็พยายามจะแย่งส่วนแบ่งตรงนี้ ปัจจุบัน มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซแคนาดาอยู่ที่ 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 5.7% ของตลาดค้าปลีกทั้งหมด
รัสเซีย :
หลายคนอาจจะแปลกใจว่ารัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ใหญ่ แต่ทำไมมาอยู่อันดับที่ 9 คำตอบคือ ตลาดอีคอมเมิร์ซของรัสเซียยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นแม้ประเทศนี้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป แต่ยอดขายออนไลน์นั้นมีเพียง 2% ของยอดค่าปลีกทั้งหมดเท่านั้น ปัจจุบันมีมูลค่า 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้นำในตลาดอีคอมเมิร์ซ ได้แก่ Ulmart, Citilink และ Ozon
บราซิล :
หนึ่งเดียวจากทวีปอเมริกาใต้นี้มีการเติบโตของอีคอมเมิร์ซที่ประมาณ 22% ต่อปี ด้วยอัตราการเติบโตดังกล่าว ทำให้บราซิลถือเป็นประเทศที่ผู้เล่นในอเมริกาเหนือจับตามองที่จะมาสร้างอาณาจักร อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซของบราซิลยังมีผู้เล่นท้องถิ่นเป็นผู้นำตลาด อาทิ MercadoLibre และ B2W ปัจจุบัน อีคอมเมิร์ซบราซิลมีมูลค่า 19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 2.8% ของตลาดค้าปลีกทั้งหมด
สำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซใน ไทย ถือว่ามีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากไพรซ์ซ่า (Priceza) ระบุว่าในปี 2563 ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่ากว่า 220,000 ล้านบาท เติบโตราว 35% อย่างไรก็ตาม 3 อันดับแรกของผู้นำในตลาดไทยล้วนแล้วแต่เป็นผู้เล่นจากจีนไม่ว่าจะเป็น Lazada (เจ้าของคือ อาลีบาบา) Shopee (เจ้าของคือ Sea แต่มี Tencent ถือหุ้นใน Sea 40%) และ JD.CENTRAL บริษัทร่วมทุนของ JD.COM และ Central
ที่มา positioningmag.com
วันที่ 23 มิถุนายน 2564