งานวิจัยในอังกฤษยัน ฉีดวัคซีน 2 เข็มต่างยี่ห้อ กระตุ้นภูมิคุ้มกันโควิดได้ดี
มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เปิดผลวิจัยกลุ่มอาสาสมัครพบว่า การฉีดวัคซีน 2 เข็ม ต่างยี่ห้อกัน โดยเป็นยี่ห้อแอสตร้าเซนเนกาและไฟเซอร์ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี แต่ผลวิจัยยังไม่ครอบคลุมพอที่จะแนะนำให้ใช้แทนการฉีดวัคซีนแบบเดิมในขณะนี้
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานวันนี้ (29 มิ.ย.) ว่า มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แห่งประเทศอังกฤษ ได้ทำการทดสอบในกลุ่มอาสาสมัคร 830 คน ที่ได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็ม ในรูปแบบที่ต่างกันออกไป 4 รูปแบบ คือ
* ฉีดแอสตร้าเซนเนกา 2 เข็ม
* ฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม
* ฉีดไฟเซอร์ 1 เข็มตามด้วยแอสตร้าเซนเนกา 1 เข็ม
* และ ฉีดแอสตร้าเซนเนกา 1 เข็ม ตามด้วยไฟเซอร์อีก 1 เข็ม
พบว่า การฉีดวัคซีนทั้ง 4 แบบ กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 ได้ดีทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของออกซ์ฟอร์ดครั้งนี้พบว่า การฉีด วัคซีนแอสตร้าเซนเนกา ก่อนแล้วต่อด้วย วัคซีนไฟเซอร์ เป็นเข็มที่ 2 จะกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีและการตอบสนองของเซลล์ภูมิต้านทานชนิดทีเซลล์ได้มากกว่าการฉีดไฟเซอร์เป็นเข็มแรกแล้วต่อด้วยแอสตร้าเซนเนกา เป็นเข็มสอง
การฉีดวัคซีน 2 ยี่ห้อสลับกันทั้ง 2 วิธี กระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีได้มากกว่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา 2 เข็มตามปกติ แต่ยังไม่มากเท่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ส่วนการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนกาก่อนแล้วตามด้วยไฟเซอร์จะกระตุ้นการตอบสนองของทีเซลล์ได้ดีที่สุด
นักวิจัยระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวจะเปิดทางให้แผนการปูพรมฉีดวัคซีนให้ประชากรในประเทศต่าง ๆ ยืดหยุ่นได้มากขึ้นในกรณีที่วัคซีนมีไม่เพียงพอ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้ทดแทนแผนการฉีดวัคซีนที่มีอยู่เดิมทั้งหมดซึ่งผ่านขั้นตอนการทดสอบทางคลินิกมาอย่างครอบคลุมมากกว่า
ก่อนหน้านี้ มีบางประเทศ เช่นเยอรมนีและสเปน ที่เริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาเป็นวัคซีนเข็มที่ 2 ให้แก่กลุ่มคนอายุน้อยที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนกาเป็นเข็มแรกไปแล้ว ซึ่งเหตุผลในขณะนั้นเนื่องจากมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา ทำให้ต้องหาวัคซีนยี่ห้ออื่นมาฉีดแทนเป็นเข็มที่สอง
งานวิจัยของ ม.ออกซ์ฟอร์ด ซึ่งดำเนินการภายใต้ชื่อโครงการ Com-COV ครั้งนี้ ยังชี้ด้วยว่า ในการจัดตารางการฉีดวัคซีนสองสูตรร่วมกันและทิ้งระยะห่างต่างกัน เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ของการฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อนั้น ได้ข้อสรุปว่า ไม่ว่าจะเว้นระยะห่างนานแค่ไหน การใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าร่วมกับวัคซีนของไฟเซอร์ จะช่วยทำให้เกิดสารแอนติบอดีในปริมาณสูงมากเพื่อต่อต้านการเพิ่มขึ้นของโปรตีนโคโรนาไวรัสได้เป็นอย่างดี
ศาสตราจารย์แมทธิว สเนป ผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งอยู่เบื้องหลังการวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า แม้ผลการศึกษาล่าสุดจะช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นในการวางแผนแจกจ่ายวัคซีน แต่ไม่สามารถใช้เป็นคำแนะนำเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงแผนการฉีดวัคซีนสูตรต่างๆ ที่ผ่านกระบวนการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกมาแล้วได้ ดังนั้น เขาจึงเห็นว่าควรใช้การฉีดวัคซีนสูตรเดียวทั้งสองเข็มเป็นหลักปฏิบัติต่อไป นอกเสียจากว่าจะมีเหตุผลจำเป็นจริงๆ
ก่อนหน้านี้ในประเทศไทย ก็เคยมีการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมาระบุว่า การฉีดวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) เข็มหนึ่ง ตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า( AstraZeneca) เป็นเข็มสอง หรือสลับกัน ผลลัพธ์พบภูมิต้านทานขึ้นสูงกว่าการฉีดวัคซีน 2 เข็มที่เป็นยี่ห้อเดียวกัน (อ่านเพิ่มเติม: ผลวิจัยจุฬาพบ "วัคซีนโควิด" 2 เข็มต่างยี่ห้อภูมิต้านทานสูงกว่าฉีดของบริษัทเดียวกัน )
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
* ผลวิจัยจุฬาพบ "วัคซีนโควิด" 2 เข็มต่างยี่ห้อภูมิต้านทานสูงกว่าฉีดของบริษัทเดียวกัน
* วัคซีนโควิดขาดแคลนไม่ต้องห่วง "หมอยง" ชี้เร่งวิจัยฉีดเข็ม 1และ 2 ต่างชนิด
* ติดเชื้อโควิดมาก่อนเสมือนได้รับวัคซีน "หมอยง" ชี้ฉีดกระตุ้นอีก 1 เข็มก็พอ
* วัคซีนโควิด19 ควรฉีดตอนนี้ หรือ รอเจ้าดังเข้าไทย?
* ข้อควรรู้ การเตรียมตัวก่อนฉีด 'วัคซีนโควิด-19'
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 29 มิถุนายน 2564