เอกชน-รัฐ ต้องร่วมหารือ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสม
นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ถ้าในกรณีที่มีการเลื่อนเวลาปรับขึ้นอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำนั้น ส่วนตัวเห็นด้วยทุกประการ เนื่องจากเศรษฐกิจปี 62 เป็นปีที่แย่มากอยู่แล้ว ภาคการเกษตรใช้แรงงานคนในการทำการเกษตรมาก แต่ราคาผลผลิตไม่ได้ดีมากนัก ทำให้หากขึ้นค่าแรงอีกก็จะเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรมากเกินไป เพราะในภาวะที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้จะนำเงินจากที่ใดไปจ่ายค่าจ้างงาน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (SME) ที่ตอนนี้ก็กำลังจะตายกันอยู่แล้ว เพราะได้รับผลกระทบจากภาคเกษตรที่ไม่ค่อยดี กำลังซื้อไม่ฟื้น
รวมถึงการส่งออกปีนี้ที่ติดลบต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ทำการค้าในรูปแบบสินค้าท้องถิ่นสูงๆ จะมีต้นทุนแพง ขายในราคาที่แพงกว่าปกติเพราะเงินบาทแข็ง จึงทำให้รายได้ตกต่ำลงทันที โดยการปรับขึ้นค่าแรงในอัตราที่มากเกินจริงอาจจะส่งผลกระทบ ทำให้เกิดการเลิกจ้างงานสูงขึ้น ซึ่งตอนที่ปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 300 บาททั่วประเทศ ก็เห็นแล้วว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด จึงเป็นบทเรียนที่ควรนำมาปรับใช้กับครั้งนี้ เพราะคงไม่มีใครอยากให้ภาพเหตุการณ์แบบเดิมเกิดขึ้น อีกครั้ง
นายสนั่นกล่าวว่า นอกจากนี้การที่ค่าเงินบาทแข็งมากขึ้นก็ส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาต้องใช้จ่ายเงินเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความลังเลและอาจเปลี่ยนใจไปเที่ยวในประเทศอื่นแทนได้ จึงเป็นเหตุผลที่ยังไม่ควรปรับขึ้นในตอนนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ให้ปรับขึ้นเลย เพียงแต่ต้องมีการหาอัตราที่เหมาะสม และเวลาที่เหมาะสมก่อนเท่านั้น
โดยต้องให้คณะกรรมการไตรภาคีในทุกจังหวัดศึกษาหาแนวระดับอัตราที่เหมาะสมในการปรับขึ้นค่าแรงของแต่ละจังหวัดก่อน เพื่อไม่ให้กระทบกับ ผู้ประกอบการมากเกินไป ซึ่งภาคเอกชนและภาครัฐต้องหันหน้ามาหารือกัน เพราะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงน้อย เพราะก็มีการจ่ายค่าแรงในระดับที่มากเกินขั้นต่ำปัจจุบันอยู่แล้ว แต่ผู้ประกอบการ SME จะรับไม่ไหว เพราะเศรษฐกิจที่ไม่ดี การปรับขึ้นค่าแรงตอนนี้เท่ากับเป็นการซ้ำเติมมากกว่า อย่างไรก็ตาม ต้องมีการปรับขึ้นให้แน่นอน แต่ต้องดูว่าสมควรต้องปรับขึ้นเท่าใดจึงจะได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย
เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม 2562
ที่มา : facebook @ThaiChamber