จีนรุกลงทุนอาเซียนแซงหน้าคู่ปรับ "สหรัฐ"
จีนรุกลงทุนอาเซียนแซงหน้าคู่ปรับ "สหรัฐ" ขณะที่สหรัฐไม่ได้เป็นศูนย์กลางของโลกเหมือนสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกต่อไป ส่วนประเทศในยุโรปบางประเทศยังรับความช่วยเหลือจากจีน
จีนมีแผนเปิดโรงงานผลิตแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ในมาเลเซีย พร้อมทั้งสร้างทางหลวงความยาว 580 กิโลเมตรในลาว เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบายตอบโต้คู่ปรับตลอดกาลอย่างสหรัฐที่พยายามคานอิทธิพลของรัฐบาลปักกิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศของมาเลเซีย ระบุเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า โรงงานผลิตแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ที่เตรียมจะสร้างเป็นของบริษัทไรเซน อีเนอร์ยี ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของจีน ที่ตกลงลงทุนเป็นเงิน 42,200 ล้านริงกิต (10,100 ล้านดอลลาร์)ในอุตสาหกรรมเซลล์สุริยะในมาเลเซีย
ก่อนหน้านั้น จีนได้จัดประชุมทางออนไลน์ร่วมกับบรรดารัฐมนตรีจากประเทศหุ้นส่วนในโครงการริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง(บีอาร์ไอ)และรัฐบาลจีนได้บริจาควัคซีนต้านโรคโควิด-19 แก่ประเทศเหล่านี้ พร้อมทั้งให้ความร่วมมือด้านต่างๆเพิ่มเติมในช่วงที่ประเทศเหล่านี้กำลังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่รูปแบบเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ปริมาณต่ำ
นับตั้งแต่ต้นปีมานี้ จีนได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่ประเทศต่างๆจำนวนกว่า 45 ประเทศ เป็นจำนวนรวมกว่า 500 ล้านโดส ปัจจุบันจีนมีบริษัทผลิตวัคซีนอย่างน้อย 4 แห่ง ตั้งเป้าหมายผลิตวัคซีนได้รวมกันอย่างน้อย 2,600 ล้านโดสในปีนี้
กระทรวงการต่างประเทศของจีนยืนยันว่า นโยบายการทูตวัคซีนของรัฐบาลปักกิ่งเป็นการส่งมอบความปรารถนาดี และเป็นการให้ความช่วยเหลือที่จริงใจไม่ใช่การช่วยเหลือเพื่อรักษาหน้าหรือเพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์จากข้อกล่าวหาว่า เป็นแหล่งกำเนิดโรคโควิด-19
แต่การรุกลงทุนของกลุ่มทุนจีนที่เกี่ยวข้องกับโครงการขนาดใหญ่ และการให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจแก่ประเทศต่างๆของรัฐบาลปักกิ่ง ก็ถูกมองว่ามีเป้าหมายเพื่อบั่นทอนความพยายามของรัฐบาลสหรัฐที่ต้องการลดทอนอิทธิพลของจีนในภูมิภาค ส่วนรัฐบาลปักกิ่งก็พยายามให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆเพื่อบรรเทากระแสความไม่พอใจที่ตัวเองไปสร้างสิ่งปลูกสร้างทางทหารในทะเลจีนใต้
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา จีนเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)แบบเผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือนในเมืองฉงชิ่ง ซึ่งนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน กล่าวกับ
พลเอกลูฮุท บินซาร์ ปันด์จัยตัน รัฐมนตรีประสานงานกิจการประมงและการลงทุน ว่ารัฐบาลจีนจะเพิ่มความช่วยเหลือแก่อินโดนีเซียในการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในกรุงจาการ์ตาและนำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียมากขึ้น
นอกจากนี้ จีนยังเห็นพ้องกับรัฐบาลกัมพูชาเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.เพื่อเพิ่มความร่วมมือในการปรับปรุงเครือข่ายขนส่งในกัมพูชา โดยจีนจะจัดส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นที่ปรึกษาในโครงการพัฒนาต่างๆในกัมพูชาด้วย
ส่วนในลาว โครงการก่อสร้างทางหลวงที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลจีนกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ หลังจากรัฐบาลลาวอนุมัติโครงการก่อสร้างทางหลวงความยาว 580 กิโลเมตร วงเงิน 5,100 ล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.
ขณะที่สื่อของทางการเวียดนาม รายงานว่า เวียดนาม ซึ่งมีกรณีพิพาทเขตแดนในทะเลจีนใต้กับจีน ก็เป็นประเทศเป้าหมายการลงทุนอย่างมหาศาลของรัฐบาลปักกิ่งเช่นกัน โดยตั้งแต่เดือนม.ค.ถึงเดือนเม.ย.จีน ลงทุนในโครงการต่างๆในเวียดนาม 61 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 1,000 ล้านดอลลาร์
รายงานวิเคราะห์ชิ้นนี้ในเว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า ความพยายามของรัฐบาลจีนทั้งหมดที่กล่าวมาก็เพื่อสกัดกั้นแผนการของกลุ่มประเทศจี 7 ที่เสนอแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา แข่งกับโครงการบีอาร์ไอของจีน โดยเรียกว่ายุทธศาสตร์ “กลับมาสร้างโลกใหม่ที่ดีกว่า” ( Build Back Better World ) หรือเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “บีทรีดับเบิลยู” ( B3W )
แต่นักวิชาการทั่วโลก มีความเห็นว่าการตั้งกองทุน B3W เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ รวมทั้งการบริจาควัคซีนต้านโควิด-19 เป็นการเคลื่อนไหวที่ช้าเกินไปเนื่องจากโครงการบีอาร์ไอของจีนดำเนินการมา 8 ปีแล้ว และโครงการบางโครงการอย่างเช่นโครงการรถไฟจีน-ลาว จะเปิดวิ่งในปลายปีนี้
ต้องไม่ลืมว่า ทุกวันนี้สหรัฐไม่ได้เป็นศูนย์กลางของโลกเหมือนสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกแล้ว เนื่องจากสหรัฐเองก็มีปัญหามากมายให้ต้องแก้ไข โดยเฉพาะการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนกว่า 6 แสนคน และเศรษฐกิจซบเซาหนัก
ส่วนประเทศสมาชิกกลุ่มจี7ก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน แถมบางประเทศก็ได้รับความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจจากจีนด้วย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 8 กรกฏาคม 2564