ทำความรู้จัก "Rapid Atigen Test" ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19
จากสถานการณ์โควิดที่วิกฤติ สธ.เสนอ ใช้งาน "Rapid Atigen Test" ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในประชาชน ชุดตรวจนี้เเบเร่งด่วนคืออะไร มีความเเม่นยำอย่างไร เเละขึ้นทะเบียนเเล้วกี่ยี่ห้อ ชวนหาคำตอบที่นี่
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ยกระดับถึงขั้นวิกฤต ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อวันนี้เพิ่มอีก ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม 9,276 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 72 คน หายป่วยเพิ่ม 3,928 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 288,643 ราย
อีกทั้งยังมีความกังวลเรื่องการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ที่แพร่ระบาดได้เร็วกว่าเดิม ส่งผลให้ประเทศไทยเข้าสู่การระบาดระลอก 4 แล้ว
ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงเสนอ 5 มาตรการต่อ ศบค. เพื่อควบคุมการระบาด หนึ่งในนั้นคือการนำ Rapid Antigen test หรือที่เรียกว่า “ชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน” ใช้งานตามสถานพยาบาลต่าง ๆ ก่อนให้ประชาชนนำไปใช้ในระยะต่อไป ตามที่ได้รายงานไปแล้วนั้น
เพื่อให้เกิดความชัดเจนถึงการใช้ชุดตรวจเร็ว Rapid Antigen Test ว่า แท้จริงแล้วคืออะไร “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ดังนี้
Rapid Antigen Test คืออะไร ?
* ชุดทดสอบอย่างง่าย และรวดเร็ว เป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสและภูมิคุ้มกัน ก่อนเข้ากระบวนการตรวจชนิดยืนยันผลจากห้องปฏิบัติการ
* ใช้งานง่าย ทราบผลภายใน 10 – 30 นาที
* เหมาะสำหรับการประเมินความชุกและการติดเชื้อ
*
Rapid Test COVID-19 ต้องผ่านการรับรองจาก อย. โดยให้ขายได้เฉพาะ :
* สถานพยาบาลของรัฐ
* โรงพยาบาลทั่วไป
* โรงพยาบาลเฉพาะทางคลินิกเวชกรรม
* คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม
* คลินิกเทคนิคการแพทย์ หรือสหคลินิก
*
ปัจจุบันมีขึ้นทะเบียนแล้ว 24 ยี่ห้อ ซึ่งการใช้จะเป็นการอนุญาตให้ใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น และดำเนินการโดยสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองในการตรวจวิธีมาตรฐาน RT-PCR ซึ่ง
ปัจจุบันมีประมาณ 300 แห่งเท่านั้น ซึ่งเพียงพอที่จะดำเนินการเพื่อลดการรอคิวได้ เพราะเป็นการลดการตรวจด้วย RT-PCR
ทั้งนี้ การตรวจด้วย Rapid Antigen Test เมื่อตรวจแล้วผลเป็นลบไม่ได้แปลว่าไม่ติดเชื้อ แต่เชื้ออาจจะน้อยและตรวจไม่เจอ ดังนั้น หากผลเป็นลบยังต้องกลับไปกักตัว และรอติดตามมาตรวจภายหลัง ส่วนผลเป็นบวก เนื่องจากอาจเป็นผลบวกลวงก็ต้องมีการตรวจซ้ำด้วย RT-PCR ซึ่งหากผลเป็นลบก็ต้องกลับไปดูแลกักตัวเช่นกันเพราะมีความเสี่ยงมากแต่หากเป็นบวกก็จะนำเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป
ส่วนเรื่องของการเบิกจ่าย เดิมทีนั้น ถ้าเข้าเกณฑ์ สปสช.ให้เบิกไม่เกิน 450 บาทต่อราย ถ้าตรวจในหน่วยบริการจะเพิ่มค่าบริหารจัดการรวมแล้วไม่เกิน 600 บาทต่อราย ซึ่งเท่าที่ทราบ สปสช.กำลังพิจารณากำหนดเกณฑ์ออกมาให้สอดคล้องกับมาตรการ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า การตรวจในรูปแบบนี้ ยังไม่ได้เป็นการเปิดให้คลินิกไหนก็ได้ที่ไม่ได้รับการรับรองนำมาใช้ตรวจ เพราะเมื่อตรวจเป็นบวกแล้วต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ
จึงต้องให้สถานพยาบาลหรือแล็ปที่ตรวจ RT-PCR ได้เป็นผู้ตรวจแอนติเจนเทสต์นี้ และยังไม่สามารถนำไปใช้ตรวจเองที่บ้านได้ในขณะนี้
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 9 กรกฏาคม 2564