ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 22 ปี ปัจจัยการเมือง-โควิดพุ่ง แบงก์ฟันธงฉุดจีดีพีวูบ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2564 ทุกรายงานลดลงและลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม (ซีซีไอ) อยู่ที่ 43.1 ลดลงจาก 44.7 ในเดือนพฤษภาคม 2564 โดยลดลง 4 เดือนต่อเนื่องและต่ำสุดในรอบ 22 ปี 9 เดือน ถือว่าทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับจากที่ทางศูนย์พยากรณ์ทำการสำรวจมา ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 28.1 ลดจาก 29.2 ดัชนีความเชื่อมั่น
 
 
ผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 50.1 ลดจาก 52.0 ขณะนี้ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 37.3 ลดจาก 38.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 40.0 ลดจาก 41.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 52.1 ลดจาก 53.9 ทั้งนี้ ค่าดัชนีต่ำลงมากในเดือนนี้ สะท้อนว่ามุมมองของภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และภาคแรงงาน เห็นว่าเศรษฐกิจขณะนี้ย่ำแย่ที่สุด และมองว่าแย่กว่าสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) และสะท้อนถึงจุดเปราะบางทางเศรษฐกิจ ดูจากการสำรวจการซื้อบ้าน ซื้อรถ การท่องเที่ยว และการลงทุนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่เหมาะสม จะมีผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยและการซื้อสินค้าคงทนจะหยุดชะงักในช่วงนี้
 
นายธนวรรธน์กล่าวว่า ตอนนี้ทางการแพทย์ของไทยเหมือนยอมรับว่าการระบาดของเชื้อโควิด-19 ขณะนี้เป็นรอบที่ 4 และเป็นการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้า โดยมียอดผู้ติดเชื้อ 6-7 พันคน ขณะที่สถานการณ์ของเตียงผู้ป่วยเริ่มมีความน่าเป็นห่วง รวมทั้งกระแสข่าวว่าจะมีการล็อกดาวน์ หากทำการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภค ณ วินาทีนี้น่าจะทรุดตัวลงอีก ขึ้นอยู่กับการล็อกดาวน์และการควบคุมสถานการณ์โควิด-19
 
“สถานการณ์ของความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะอยู่ในทิศทางขาลง ทำให้การจับจ่ายใช้สอยซบเซาลงต่อเนื่อง สถานการณ์ทางการเมืองแม้ไม่ได้มีความวุ่นวายภายในสภาและนอกสภา แต่มองว่าเสถียรภาพทางการเมืองต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ผลจากสถานการณ์ทางการเมือง จะส่งผลรวมกับเรื่องของการระบาดของโควิด-19 ด้วย” นายธนวรรธน์กล่าว
 
 
นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่าว่า เมื่อถามภาคธุรกิจต่อการล็อกดาวน์ในลักษณะเดียวกับการระบาดของโควิด-19 รอบแรก พบว่า 38.4% ระบุไม่เห็นด้วย เนื่องจากกลัวกระทบและทำให้เศรษฐกิจแย่ลง กลัวว่าธุรกิจต้องหยุดดำเนินการ ส่วน 35.7% ระบุว่าเห็นด้วย มองว่าต้องการให้เจ็บแต่จบ ขณะที่กลุ่ม 5.9% ระบุไม่แน่ใจ เพราะต้องการข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนกว่านี้ ผลกระทบต่อจากการล็อกดาวน์ต่อระบบเศรษฐกิจยังตอบไม่ได้ชัดเจน ขึ้นกับรูปแบบและระยะเวลาล็อกดาวน์ แต่การล็อกดาวน์ 1 เดือนจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ 2-3 แสนล้านบาท และเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะเหลือ 0-2% ขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อและการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังคลายล็อกดาวน์
 
 
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า หลังเกิดการระบาดโควิด-19 จากปี 2563 จนถึงปัจจุบัน เป็นสถานการณ์ลากยาวกว่าที่คาดไว้ บวกกับการฉีดวัคซีนล่าช้าหรือวัคซีนยังมีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ รวมถึงมีไวรัสกลายพันธุ์ที่เชื้อหลุดเข้ามา ส่งผลให้การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย สำนักวิจัยจึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือ 1.3% จากเดิม 1.9% ส่วนปี 2565 คาดโต 4.2% จากเดิม 5.1% หากรัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศเหมือนเดือนเมษายน 2563 เชื่อว่าการบริโภคชะลอตัวชัดเจนและกดดันให้ตัวเลขจีดีพีปีนี้ต่ำกว่า 1% ได้ แต่เชื่อว่าไม่ติดลบ
 
“หากรัฐประกาศล็อกดาวน์แบบ 100% เหมือนเดือนเมษายน 2563 ถือว่าเป็นเรื่องน่ากลัวมาก เพราะการบริโภคในประเทศชะลอตัวแรง มีการปิดธุรกิจหลายประเภท และการจำกัดการเดินทาง ทำให้หากใช้มาตรการสร้างผลกระทบไม่แตกต่างกันแน่นอน โดยเฉพาะในภาคบริการ อาทิ ร้านอาหาร โรงแรม ค้าปลีกต่างๆ แต่ในภาวะเศรษฐกิจ อาจไม่ได้ลดลงแรงเท่ากับที่ผ่านมา เพราะมีภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกช่วยประคองไว้ได้ หากรัฐใช้มาตรการควบคุมเข้มข้นสูงสุดเฉพาะในพื้นที่สีแดง อาทิ กรุงเทพมหานคร (กทม.) อาจกระทบกับการจ้างงาน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจหายไป รวมถึงผลกระทบมีลึกกว่าที่คาดไว้ หากรัฐบาลมองว่าควรล็อกดาวน์เพื่อให้เจ็บแล้วจบ แต่รอบนี้เจ็บแล้วไม่จบและรอบนี้เป็นการเจ็บแบบทนไม่ได้แล้ว เพราะสายป่านหรือสภาพคล่องของบางธุรกิจ อาจมีไม่ยาวมากนัก จึงต้องพยายามหาสภาพคล่องมาช่วยธุรกิจก่อน” นายอมรเทพกล่าว
 
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 9 กรกฏาคม 2564

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)