เปิดข้อเสนอ 40 ซีอีโอ หอการค้าไทย ถึงรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์
หอการค้าฯ รุดหารือ “สุพัฒนพงษ์” หลังประกาศยกระดับคุมการระบาดชงมาตรการช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
วันที่ 11 กรกฎาคม 2564 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ว่า หอการค้าไทยได้นำข้อสรุปที่หารือในเวที 40 CEOs (พลัส) ที่เป็นกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด พร้อมทั้งห่วงสถานการณ์ทางสาธารณสุข คู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจ ว่ามาตรการเยียวยาของภาครัฐ ควรต้องรีบออกมา
ภายหลังหารือ รองนายกฯจะนำข้อคิดเห็นดังกล่าวไปหารือต่อในที่ประชุม ศบศ. สำหรับเรื่องการสนับสนุนการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่มีการระบาดสูงอย่างกรุงเทพฯ ศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลของภาคเอกชนทั้ง 25 ศูนย์ พร้อมสนับสนุนทางภาครัฐและประชาชนซึ่งสามารถรองรับการฉีดได้มากถึง 80,000 โดสต่อวัน และมีมาตรฐานรองรับผู้ฉีดทุกกลุ่มอายุ โดยสามารถแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลได้
ส่วนอีกเรื่องที่ภาครัฐต้องเร่งเสริมคือการตรวจเชิงรุกโดย Rapid Test ที่ได้มาตรฐานในราคาที่เหมาะสมให้ประชาชนเข้าถึงได้ เพื่อแยกคนติดเชื้อออกมาจากคนไม่ติดเชื้อแบบที่หลายๆประเทศได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการจำกัดการเคลื่อนย้ายของคน รวมถึงลดความแออัดของประชาชนที่ตอนนี้ไปรวมกันที่จุดตรวจต่าง ๆ ของ กทม.
“เราต้องเร่งควบคุมการระบาดของเชื้อที่ กรุงเทพฯ ให้ได้เร็วที่สุด เพราะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นที่จุดสำคัญของการเปิดประเทศได้ในลำดับต่อไป” นายสนั่นกล่าว
ในส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน หอการค้าฯ ได้เข้าหารือกับสถาบันทางการเงิน และ ก.ล.ต. ได้รวบรวมความเห็นของผู้ประกอบการทั้งข้อเสนอและปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยได้ทำเป็นบทสรุปนำเสนอถึงข้อจำกัดของมาตรการในปัจจุบัน อาทิ มาตรการ พักทรัพย์ พักหนี้ ขอขยายมาตรการให้ครอบคลุมถึงเงินใหม่ที่ให้เพิ่ม เพื่อนำมาหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง, หลักเกณฑ์การตีราคามูลค่าทรัพย์สิน การใช้มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ร่วมกับ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู การลดเงื่อนไขและข้อจำกัดของการตีโอนทรัพย์เพื่อพักทรัพย์ พักหนี้ จะทำให้กลไกตลาดทำงานและการเจรจาตกลงได้
พร้อมทั้งการให้กลุ่มลูกหนี้เดิมสามารถนำหลักทรัพย์ใหม่ ๆ เข้ามาเป็นหลักประกันได้ และให้ขอลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของ บสย. เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินได้สะดวกมากขึ้น
“หอการค้าฯได้เสนอให้ภาครัฐผ่อนคลายกฎระเบียบ เพื่อให้สถาบันทางการเงินสามารถใช้ดุลพินิจในการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น โดยสถาบันทางการเงินจะมีกฎเกณฑ์พื้นฐานในการให้สินเชื่อ ซึ่งจะพิจารณาจากหลายมิติ ไม่ใช่พิจารณาจากเครดิตบูโรเพียงอย่างเดียว ดังนั้น การปลดล็อกเรื่องเครดิตบูโร หรือ NPL จะทำให้ SME อีกจำนวนมากได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดนี้ ยิ่งต้องมีการดูแลผ่อนผัน เพื่อให้สถานการณ์ฟื้นตัวกลับมาโดยเร็ว” นายสนั่น กล่าว
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หอการค้าฯ เห็นด้วยกับการเติมเงินเข้าระบบ เช่น โครงการ ”คนละครึ่ง” ขอเพิ่มวงเงินจาก 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท ส่วนมาตรการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ที่มีการใช้ที่ยุ่งยาก และมีเงื่อนไขการใช้จ่ายจำกัด ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยได้มีการเสนอให้ปรับเงื่อนไขใหม่หรือเสนอโครงการใหม่ในรูปแบบเดียวกับ “ช้อปดีมีคืน” คือให้สามารถใช้จ่ายได้ทั้งก้อน และนำใบเสร็จในการซื้อสินค้าไปลดหย่อนภาษีปลายปีได้ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นทำให้คนมีฐานะเข้ามาใช้โครงการมากขึ้น
นอกจากนั้น เพื่อเป็นการเปิดประเทศในลำดับต่อไปจาก Phuket Sandbox ก็ได้มีการหารือถึง แนวทางการควบคุมและดำเนินการเพิ่มเติม เช่น การกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยผ่านโครงการ “ฮักไทย”ในจังหวัดต่าง ๆ การเสริมการประชุมและการเดินทางในประเทศหลังผ่อนคลายมาตรการ และที่สำคัญคือ การทำโครงการ Digital Vaccine Passport ซึ่งรองนายกฯ เห็นด้วย และได้มอบหมายให้ทาง ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนต้องขอขอบคุณรองนายกฯ และคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ให้การสนับสนุน และขอให้ทุกภาคส่วนได้หารือแนวทางการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถขับเคลื่อนและดำเนินธุรกิจได้อย่างปกติโดยเร็ว และยังได้เน้นย้ำและฝากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาคเอกชนให้การสนับสนุนการเดินทางไปจัดประชุมที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและฟื้นเศรษฐกิจในพื้นที่ภูเก็ตอย่างต่อเนื่อง และขอให้ช่วยขยายโครงการต่อไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไป
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 11 ธันวาคม 2564