"แซนด์บ็อกซ์-วัคซีน" ความหวังท่องเที่ยวอาเซียน
การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เล่นงานธุรกิจสายการบินเป็นอันดับแรก จากนั้นส่งผลต่อเนื่องถึงธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรมและอื่นๆ จนเสียหายไปทุกวงการ การท่องเที่ยวภูมิภาคอาเซียนก็ได้รับผลกระทบหนัก ผู้เกี่ยวข้องต้องระดมสมองหาทางออก
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย และรองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ “สถานการณ์ท่องเที่ยวและการโรงแรมในภูมิภาคอาเซียนและเทรนด์การท่องเที่ยวในอนาคต” เมื่อวันก่อนว่า การเปิด “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” วันที่ 1 ก.ค. ถือเป็นสัญญาณดีต่อโลกว่าไทยพร้อมต้อนรับทุกคนกลับมาแล้ว ตนเชื่อว่าไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวอีกต่อไป แต่ต้องอยู่ภูเก็ต 14 วันก่อนไปที่อื่น และเป็นสัญญาณดีที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีแผนเปิดสมุยในวันที่ 15 ก.ค.ตามด้วยกระบี่ พังงา ชลบุรี เชียงใหม่ และเปิดกรุงเทพฯ ภายในเดือน ต.ค.
"อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯและชลบุรีซึี่งเป็นตลาดท่องเที่ยวใหญ่สุดในประเทศไทย สถานการณ์ต่างออกไป ภูเก็ต สมุยไม่ค่อยมีผู้ติดเชื้อ แต่ในกรุงเทพฯ มีการติดเชื้อมาก คาดว่าจะถึงวันละ 1 หมื่นคน เกรงว่าจะมีการกันวัคซีนไว้ในกรุงเทพฯ แทนที่จะกระจายไปยังเมืองท่องเที่ยว ซึ่งนั่นอาจฉุดรั้งการเปิดประเทศ"
นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมโรงแรมกำลังเผชิญข้อจำกัดมากมาย ภายใต้การระบาดของโควิดระลอก 3 ซึ่งหนักมากทั้งในแง่การติดเชื้อและเสียชีวิต
"เราไม่คิดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาก่อน ม.ค.2565 เท่ากับมีเวลาอีก 6 เดือนในการทำทุกอย่างให้เข้าที่และฉีดวัคซีนให้ประชาชน เพื่อให้ทุกคนใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย"
มาริสาย้ำว่า การเร่งฉีดวัคซีนให้ประชากรให้เร็วที่สุด ไม่เพียงแต่จะทำให้นักท่องเที่ยวกล้าเดินทาง และรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น แต่ยังเป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะ SMEs ฝ่าวิกฤติโรคระบาดนี้ไปได้
ปีเตอร์ ฟาน เดอร์ โฮเวน (Pieter van der Hoevan) ผู้จัดการทั่วไปภูมิภาคอินโดจีน กลุ่ม Minor International กล่าวถึงสถานการณ์ในเวียดนาม ที่ตอนแรกคุมการระบาดได้ดีเหมือนกับไทย แต่ช่วง 30 วันที่ผ่านมา (นับถึงวันที่ 8 ก.ค.) การติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละหลายพันคนโดยเฉพาะในโฮจิมินห์ซิตี้ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมการจัดการยังไปได้ดี ระบบสาธารณสุขไม่ตึงตัว กระนั้น ประชาชน 3 ใน 4 ต้องอยู่ภายใต้การล็อกดาวน์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
แม้โควิดระบาดแต่เศรษฐกิจเวียดนามในปีที่ผ่านมาขยายตัว นับถึงขณะนี้เศรษฐกิจเวียดนามก็ขยายตัวต่อเกือบ 6% เทียบกับก่อนโควิดที่ขยายตัว 6.7%-7% อุตสาหกรรมและภาคการผลิตจำนวนมากย้ายฐานจากจีนมาเวียดนาม ช่วงโควิดมีคนทำงานชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาบ่อยๆ จึงพอช่วยธุรกิจโรงแรมได้ในพื้นที่ที่มีโรงงาน โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคใต้
ปีเตอร์ระบุว่า ผลกระทบใหญ่ที่มีต่อภาคการท่องเที่ยวเวียดนามคือ บุคลากรในภาคส่วนนี้ตกงาน 60% บริษัทท่องเที่ยวปิดตัว 95% ตอนนี้ต้องพึ่งพาตลาดภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น
ประเทศเวียดนามหันมาเน้นการท่องเที่ยวภายในประเทศเชิงสร้างประสบการณ์ใหม่ (Experimental tourism) ระหว่างรอการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยชาวเวียดนาม โดยเฉพาะประชาชนในเมืองฮานอยและโฮจิมินห์นิยมการท่องเที่ยวแบบ Luxury ที่ผู้คนในยุคนี้สามารถเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น เพราะราคาปรับลดลงมา เช่น การเข้าพักโรงแรมระดับ 4 หรือ 5 ดาว การให้บริการอาหารนานาชาติ รวมถึงอาหารไทย และการชอปปิงสินค้าแบรนด์เนมภายในประเทศ
"ผู้คนอยากเดินทางพักผ่อนหย่อนใจ ส่วนใหญ่ปีที่แล้วโรงแรมทำเงินได้ในแหล่งท่องเที่ยวประเภทนี้ ตรงข้ามกับจุดหมายปลายทางทำธุรกิจอย่างโฮจิมินห์ ฮานอยที่เสียหายมากกว่า แต่เมื่อไปทำโรงแรมกักตัวก็ช่วยให้ผ่านความยากลำบากมาได้ นับถึงช่วงต้นของการระบาดระลอก 4 การเดินทางในประเทศเพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน" ปีเตอร์กล่าวถึงสถานการณ์ในเวียดนามพร้อมเสริมว่า ในฐานะประเทศที่มีประชากร 98 ล้านคน ชนชั้นกลางเวียดนามชอบเดินทาง การเปลี่ยนแปลงที่เห็นคือผู้คนกังวลกับการเดินทางโดยเครื่องบินจึงเปลี่ยนมาเป็นขับรถเที่ยวในประเทศแทน ส่วนการเปิดประเทศแบบภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เขามองฟูโกว๊กที่เป็นเกาะเหมือนภูเก็ต ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่ภายในเดือน ก.ย.
"ส่วนตัวผมคิดว่า ถ้าเวียดนามจะเปิดประเทศรัฐบาลน่าจะเปิดกว่างนินห์เป็นที่แรก ที่นั่นมีบริษัทต่างชาติมากมาย เป็นเมืองใหญ่ในฮาลองเบย์ เดือนหน้าจะอนุญาตให้กักตัว 7 วันสำหรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้ว แทนที่จะเป็นกักตัว 21 วันทุกคน ส่วนที่ไม่ต้องกักตัวเหมือนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ก็น่าจะเป็นฟูโกว๊ก"
ส่วนการฉีดวัคซีน ตัวแทนกลุ่ม Minor International มองว่า เวียดนามฉีดวัคซีนได้ช้า ถึงขณะนี้ฉีดไปแล้วเพียง 0.2% ของประชากร ได้วัคซีน 4 ล้านโดสแต่ได้มาแล้วก็กระจายอย่างรวดเร็ว หลักๆ คือโฮจิมินห์ที่มีการระบาดมาก
กวี เว่ยหลิน (Kwee Wei-Lin) นายกสมาคมโรงแรมสิงค์โปร์ เล่าว่า เมื่อเร็วๆ นี้คณะทำงานร่วมต่างกระทรวงรับมือโควิด-19 เพิ่งเผยโรดแมพเปิดประเทศที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการฉีดวัคซีน
"ดิฉันมีความสุขมากที่จะบอกว่า อุตสาหกรรมโรงแรมได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ตั้งแต่เดือน ม.ค.เป็นต้นมาโรงแรมส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนกันแล้ว"
ตอนนี้โรงแรมในสิงคโปร์เน้นไปทางธุรกิจโรงแรมกักตัวถึง 50% ที่เหลือเน้นตลาดในประเทศ เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศเล็กมาก เดิม 90% ของธุรกิจคือนักเดินทางต่างชาติ ตลาดในประเทศแค่ 10% ตอนนี้คนสิงคโปร์ไปไหนไม่ได้ต้องเดินทางในประเทศ
“ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือ ในปี 2562 ชาวสิงคโปร์ใช้จ่ายในต่างประเทศถึง 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ พอๆ กับที่ชาวต่างชาติใช้จ่ายในสิงคโปร์ ถ้าเจาะในส่วนนี้ได้แม้เพียงเล็กน้อยก็จะดีมาก” นายกสมาคมโรงแรมสิงคโปร์กล่าว พร้อมชี้ว่า รัฐบาลมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการจ้างงาน ตั้งแต่ปีที่แล้วมีโครงการจ่ายเงินอุดหนุนค่าจ้างถึง 75% เพื่อให้โรงแรมคงการจ้างงานเอาไว้ได้ ทำโครงการ Singapore Rediscover ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศวงเงินกว่า 300 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ซึ่งมีประโยชน์มาก
ส่วนการฉีดวัคซีนสิงคโปร์ใช้ไฟเซอร์และโมเดอร์นา ประชากร 2 ใน 3 ฉีดวัคซีนโดสแรกแล้ว รัฐบาลตั้งเป้าภายในวันชาติ 9 ส.ค.คนกลุ่มนี้จะได้รับวัคซีนโดสที่ 2 และเมื่อฉีดวัคซีนได้ 3 ใน 4 ของประชากรก็จะเปิดประเทศมากขึ้น
"เราก็มีแนวคิดแบบภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เหมือนกัน ภาคเอกชนพยายามพัฒนาระเบียบการจัดงาน MICE พยายามทำแทรเวล บับเบิล แต่สายพันธุ์เดลตาทำให้สถานการณ์ไม่แน่นอน เรากำลังจะเป็นเจ้าภาพงาน WEF ด้วยซ้ำ หวังว่าภายในสิ้นปีเมื่อฉีดวัคซีนได้มากขึ้นเราจะเปิดประเทศได้มากตาม" เธอเน้นว่าสิงคโปร์ค่อนข้างระมัดระวังเพราะประชาชนอาศัยกันอยู่หนาแน่น จึงต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยเป็นอย่างแรก ส่วนที่มีคนถามกันมามากเรื่อง Travel Bubble กวี เว่ยหลินกล่าวว่า Bubble นั้นเปราะบางและแตกง่าย ตอนนี้สิงคโปร์เปลี่ยนแนวคิดมาทำระเบียงการท่องเที่ยง (Travel Corridor) แทน อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศท่องเที่ยวแบบจับคู่ระหว่างประเทศอาเซียนยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนของประเทศใกล้เคียงยังอยู่ในเกณฑ์น่ากังวล
ด้าน ลิม ชุงเซียน (LIM Choong Sean) รองนายกสมาคมโรงแรมมาเลเซีย กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศว่า มาเลเซียก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่เคยล็อกดาวน์เข้มงวดมาแล้วเมื่อเดือน มี.ค.ปีก่อน และล็อกดาวน์เป็นระยะๆ รอบนี้จำนวนผู้ติดเชื้อยังสูงขึ้นมาก รัฐบาลอนุญาตให้ธุรกิจที่จำเป็นเท่านั้นเปิดดำเนินการได้ โรงแรมเปิดเฉพาะโรงแรมกักตัว ปี 2563 นักท่องเที่ยวลดลงกว่า 80% ปีนี้ตัวเลขคงต่ำมาก รัฐบาลมาเลเซียมีโครงการคล้ายภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่เกาะลังกาวี ทางภาคเหนือของประเทศ เริ่มต้น ก.ย.นี้ เพราะเป็นพื้นที่ที่ฉีดวัคซีนตั้งแต่เนิ่นๆ และฉีดวัคซีนได้มาก นักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็เป็นคนที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว
ทั้งนี้ วิทยากรทุกคนเห็นตรงกันว่า ปัจจัยที่จะทำให้เกิดโครงการแบบนี้ขึ้นได้อยู่ที่การฉีดวัคซีน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 15 กรกฏาคม 2564