"สนั่น อังอุบลกุล" ล็อกดาวน์ 14 วัน ฟื้นเศรษฐกิจ
ช่วงเวลา 14 วัน การยกระดับมาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่สีแดง 10 จังหวัด ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย การล็อกดาวน์ 1 วัน ไทยจะเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 3,000-5,000 ล้านบาท หรือหากหยุด 14 วัน เท่ากับเสียหายไป 50,000-100,000 ล้านบาท ถ้ายังหยุดการแพร่ระบาดไม่ได้เท่ากับเจ็บแล้วยังไม่จบ
“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายสนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง และสิ่งที่เอกชนคาดหวังในช่วง 14 วันจะนำไปสู่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ให้สามารถขยายตัว 0-1.5% ในปีนี้
มองไปข้างหน้า 14 วัน :
แน่นอนว่าคงไม่อยากจะมีใครเห็นว่าระบบต่าง ๆ ล่มสลาย ผมไม่ได้พูดแรงขนาดนั้น สิ่งที่หอการค้าเสนอคืออยากให้มองไปข้างหน้าว่าหลังจากมีมติยกระดับมาตรการคุมเข้ม 14 วันแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อ เพื่อใช้เวลาให้คุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งจากการหารือกับผู้บริหารระดับซีอีโอ 40 คน ในหอการค้าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการเยียวยา ซึ่งเป็นไปตามที่หอการค้าฯได้เสนอก่อนหน้านี้ ที่ได้ร่วมประชุมกับรองนายกรัฐมนตรี (สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์)
โดยบางโครงการต้องปรับปรุง เช่น การจ่ายคนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งต้องปรับเพราะมันไม่เวิร์ก ไม่ใช่เพราะคนไม่มีกำลังซื้อ แต่มันต้องปรับให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ คือ ต้องการดึงเงินออมของคนที่เงินออมมาใช้ แต่ขั้นตอนที่ออกมาไม่สะดวก ยุ่งยาก ทั้งอีโวเชอร์ อีวอลเลต อะไรเยอะแยะไปหมด เราต้องการให้คนมาใช้มากขึ้น
ส่วนหนึ่งมองว่าหากมีการใช้เยอะเกินไป ปีหน้าจะกระทบคนเก็บภาษี เพราะเอาเงินค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนหมด รายได้ส่วนนั้นก็จะหายไป ต้องดูว่าจะทำอย่างไรจึงจะเหมาะสม
ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้น ทางหอการค้าเสนอให้ปรับเรื่องเครดิตบูโร ทางธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่าไม่มีปัญหา ซึ่งเมื่อไม่มีปัญหาต้องมีความชัดเจนในทางปฏิบัติ ซึ่งเขาก็รู้แล้วว่าตอนนี้ต้องบอกทางธนาคารพาณิชย์ จากที่หอการค้าหารือกับ 5 ธนาคารพาณิชย์ไปแล้ว (กสิกรไทย, กรุงเทพ, ไทยพาณิชย์, ทหารไทย และเกียรตินาคิน) ก็ตอบรับเห็นด้วยที่จะดำเนินการ ซึ่งเรื่องนี้สามารถเริ่มได้เลย จะเป็นประโยชน์มากๆ
เร่งอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ :
ที่หอการค้าฯเสนอเรื่องหนึ่ง คือ การที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งนำเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ออกมาใช้ตามวัตถุประสงค์ทั้ง 4 ด้าน โดยเร็วที่สุดภายในไตรมาส 3 จากเดิมที่มีแผนจะใช้ภายในไตรมาส 4 สิ่งสำคัญตอนนี้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ อย่าไปรอ หากเรายังล่าช้าที่เคยประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโต 0-1.5% ก็อาจจะไปไม่ถึง เพราะการใช้มาตรการเข้ม 14 วัน ทำให้เราสูญเสียทางเศรษฐกิจไปแล้ว 50,000-100,000 ล้านบาท และที่มีงบฯ 140,000 ล้านบาท ดำเนินมาตรการคนละครึ่ง จากคนละ 3,000 บาท ขอเพิ่มเป็น 6,000 บาท เพราะโครงการนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี หากกระตุ้นคนละ 3,000 บาท เงินจะเข้าสู่ระบบ 93,000 ล้านบาท
ถ้าเพิ่มเป็น 6,000 บาท เงินจะเข้าสู่ระบบเป็น 180,000 ล้านบาท หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ถ้าเป็นไปตามเป้าหมายมีการใช้ 4 ล้านคน คำนวณมาเป็นอีโวเชอร์ สูงสุดคนละ 7 พันบาท หรือ 10-15% คิดเป็นเงินออกมาประมาณ 28,000 ล้านบาท มากกว่าเม็ดเงินที่สูญเสียไปช่วง 14 วัน
ยังขยายเพดานกู้ได้ :
ใช่ หากเราจำได้ ที่รัฐเสนอ พ.ร.ก.เงินกู้ ตอนนั้น วงเงิน 7 แสนล้าน แต่มีกระแสทำให้ภายหลังมีการปรับลดลงเหลือแค่ 5 แสนล้านบาท ซึ่งหากคิดตามยอดเดิม 7 แสนล้านบาท อัตราเพดานหนี้สาธารณะอยู่ที่ 60% กว่า เราจึงมองว่าสามารถขยายต่อได้หากพิจารณาว่าจำเป็น
ปูพรมวัคซีนคอนโทรลโควิด :
ที่เรานำเสนอไม่ใช่เพียงแค่มาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ เรามองว่า ถึงอย่างไรเรื่องวัคซีนก็ยังเป็นคำตอบแรกในการฟื้นเศรษฐกิจ ทางเราเสนอให้ฉีดแบบปูพรมไปเลย เพราะจากการที่จัดทำพื้นที่ฉีดวัคซีน 25 จุด ในส่วนของภาคเอกชนซึ่งสามารถจะฉีดได้ 80,000 โดสต่อวัน แต่จนถึง ณ ขณะนี้ เพิ่งจะฉีดไปแค่เพียง 2 แสนโดสเท่านั้น เพราะวัคซีนยังมาไม่ครบตามเป้าหมาย
ตอนนี้จะมีวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าจากญี่ปุ่นที่บริจาคมา 1.05 ล้านโดส เราก็ยินดีที่จะใช้ศูนย์ฉีดวัคซีนนี้มาช่วยกระจายการฉีดวัคซีน หรือวัคซีนที่สหรัฐจะบริจาคมาอีก เราพร้อมที่จะช่วยภาครัฐ ขอให้มั่นใจว่า ศูนย์วัคซีนของเอกชนนี้ดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน มีบุคลากรทางการแพทย์ และมีรถพยาบาลที่จะขนย้ายผู้ที่เกิดอาการจากการฉีดวัคซีนให้ไปถึงโรงพยาบาลโดยเร็ว เพียงขอให้ได้วัคซีนมา
เช่นเดียวกับชุดตรวจ rapid test ที่เสนอให้กระจายให้ทั่วถึง ภาคเอกชนนำเข้ามา ราคาต้องย่อมเยา ทำให้ประชาชนสามารถทดสอบเองได้ ซึ่งข้อเสนอนี้น่าจะผ่าน เตรียมออกราชกิจจานุเบกษาเร็ว ๆ นี้ จะช่วยให้สามารถแยกคนป่วยออกจากคนไม่ป่วยได้รวดเร็ว ทำการรักษาได้ตามแผนที่วางไว้
ป้องกันโควิดทุบภาคการผลิต :
การป้องกันภาคการผลิต โรงงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการส่งออก เป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวเดียวที่เหลืออยู่ ตอนนี้ทางใต้ซึ่งเป็นฐานการผลิตถุงมือยาง อาหารทะเลก็มีเคอร์ฟิว ผู้ประกอบการเองก็พยายามป้องกันกันอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว
มาตรการที่ออกมาก็มีความเข้มข้นพอสมควร เราไม่ได้ไปควบคุมการขนส่ง หรือโลจิสติกส์ ทำให้ไม่สะดวกขนย้ายของไม่ได้ ซึ่งจะไปกระทบการส่งสินค้า ทางผู้ประกอบการเองก็พยายามหยุดการแพร่ระบาด แต่ขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยวัคซีน วัคซีนจะเป็นตัวฟื้นฟูเศรษฐกิจได้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 16 กรกฏาคม 2564