นายกรับข้อเสนอ ส.อ.ท. สั่งสมาคมธนาคารช่วย SMEs ทันที
ส.อ.ท. ชง 4 ข้อเสนอให้ “ประยุทธ์” ขอมาตรการช่วย SMEs แบบเร่งด่วนทั้งเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่าน บสย. เป็น 60% หยุดคิดดอกเบี้ย แยกกลุ่ม NPL เว้นภาษีนิติบุคคล 3 ปี ลุ้นสมาคมธนาคาร-แบงก์ไฟเขียว
วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวระหว่างการเข้าร่วมประชุม “คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน โดยสภาอุตสาหกรรมได้เสนอข้อเสนอเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs 4 ข้อ ต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงสถาบันการเงิน ช่วยพิจารณาผลักดันเร่งด่วน ดังนี้
1).ให้พิจารณาเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มขึ้นเป็น 60% เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาในช่วงนี้ได้มากขึ้น
2).พิจารณาแยกสถานะผู้ประกอบการที่เข้าเกณฑ์ NPL เนื่องจากโควิด ให้ต่างจากสถานะลูกหนี้ NPL ทั่วไป และขอให้ไม่ติดปัญหาการพิจารณาสินเชื่อสถาบันการเงิน 3 ปี หลังจากสิ้นสุดปัญหาโควิด
3).ขอให้สถาบันการเงิน “หยุดคิดดอกเบี้ย” สำหรับกิจการที่ถูกสั่งปิดจากมาตรการโควิดของภาครัฐ เป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับ SME ยอดกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท
4).ขอยกเว้นภาษีนิติบุคคล SME 3 ปี สำหรับผู้ที่จัดทำบัญชีเดียวและเข้าระบบภาษี E-Tax
ทั้งนี้ จากข้อเสนอดังกล่าว นายกรัฐมนตรีรับทราบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล และขอให้ทางสมาคมธนาคารไทยช่วยหารือกับสถาบันการเงิน ให้ดำเนินการช่วยเหลือ SMEs ตามที่สภาอุตสาหกรรมฯ นำเสนอด้วย
โดยข้อเสนออื่น ๆ ทางเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รับเป็นหน่วยงานในการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
“ผมได้เสนอแนวทางการจัดตั้งคณะทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด -19 ให้นายกฯ ทราบ โดยมีกิจกรรมช่วยเหลือด้านสาธารณสุขเร่งด่วนต่าง ๆ อาทิ การแจกเมล็ดพันธุ์ฟ้าทะลายโจรให้กับสมาชิก ส.อ.ท. 12,000 โรงงาน, การจัดหา Antigen Test Kits, การจัดสร้างห้องความดันลบ โดยร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเพื่อมอบให้โรงพยาบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณ ส.อ.ท. สำหรับแนวทางการช่วยเหลือต่าง ๆ และกำชับเรื่องการออกคู่มือแนะนำการใช้ฟ้าทะลายโจรให้ถูกต้องด้วย”
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 22 กรกฏาคม 2564