โควิดถล่มโรงงาน "เวียดนาม" ผู้ผลิตสหรัฐจี้ "ไบเดน" บริจาควัคซีน
โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักใน “เวียดนาม” ส่งผลให้ภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักของสายพานการผลิต ผลจากการที่โควิด-19 บุกเข้าโรงงาน โดยเฉพาะแบรนด์ดังระดับโลกที่มีฐานการผลิตในเวียดนาม ซึ่งพยายามเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาโดยเร็ว เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเครือข่ายการค้าระดับโลก
นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า สมาคมเครื่องแต่งกายและรองเท้าอเมริกัน (เอเอเอฟเอ) ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มธุรกิจแฟชั่นแบรนด์ดัง ที่มีโรงงานในเวียดนามราว 1,000 ราย ได้ยื่นหนังสือถึงประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” แห่งสหรัฐอเมริกา เรียกร้องให้จัดส่งวัคซีนโควิด-19 ให้กับเวียดนามเพิ่มเติม
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี “ฟาม มินห์ ชิญ” ของเวียดนามเร่งการฉีดวัคซีน และหันมาจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มแรงงานมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเวียดนามยังมีสัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส ราว 4% ของจำนวนประชากรเท่านั้น ขณะที่นโยบายของภาครัฐยังเน้นการให้วัคซีนแก่บุคลากรทางการแพทย์และกองทัพเวียดนามเป็นหลัก
ข้อเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่เวียดนามต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่สายพันธุ์เดลต้า โดยเฉพาะทางตอนใต้ของเวียดนาม ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตสินค้าระดับโลกจำนวนมาก รวมถึงแฟชั่นแบรนด์ดังอย่าง แก๊ป (Gap), อาดิดาส (adidas), คาลวิน ไคลน์ (Calvin Klein), เอคโค (ECCO) และแจนสปอร์ต (Jansport)
แต่สถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงส่งผลให้รัฐบาลเวียดนามออกคำสั่งให้โรงงานหยุดการดำเนินการชั่วคราว หลังจากที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในหลายโรงงาน ทั้งยังประกาศเคอร์ฟิวในนครโฮจิมินห์ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา
แม้ว่าโรงงานบางส่วน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะใช้วิธีให้แรงงานพักอาศัยชั่วคราวในโรงงาน เพื่อให้ยังคงดำเนินการผลิตต่อไปได้ แต่กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอระบุว่า ผลกำไรขั้นต้นที่ต่ำ ทำให้ไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับมาตรการให้แรงงานพักอาศัยในโรงงาน การเร่งฉีดวัคซีนให้กับแรงงานจึงเป็นหนทางที่จะช่วยให้การผลิตเดินหน้าต่อไปได้
“สตีฟ ลามาร์” ผู้บริหารเอเอเอฟเอ ระบุว่า การร่วมมือของทั้งสองประเทศเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยรัฐบาลเวียดนามต้องแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง เพื่อให้การดำเนินการ เจรจาในสหรัฐเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ การหยุดชะงักของโรงงานในเวียดนามจะมีผลกระทบต่อระบบเครือข่ายการค้าระดับโลก เนื่องจากที่ผ่านมามีธุรกิจข้ามชาติจำนวนมากที่ย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนาม ส่งผลให้มีกลุ่มธุรกิจที่ใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตสินค้าหลัก อาทิ “ไนกี้” ที่มีสัดส่วนการผลิตสินค้าในเวียดนามถึง 50% แต่ขณะนี้โรงงานผู้ผลิตของไนกี้ในเวียดนามไม่ว่าจะเป็น เป่าเฉิง (Pou Chen), ฉางชิน (Changshin), เฟิง เทย์ เอนเตอร์ไพรเซส (Feng Tay Enterprises) และเอคลาต เท็กซ์ไทล์ (Eclat Textile) ต่างต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้กำลังการผลิตสินค้าของไนกี้ลดลงอย่างมาก
ปัจจุบันเวียดนามถือเป็นแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มไปยังสหรัฐมากถึง 15% ของการนำเข้าทั้งหมดจากทั่วโลก เป็นอันดับสองรองจาก “จีน” ที่มีสัดส่วนราว 28% ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ
การหยุดชะงักของโรงงานในเวียดนาม จึงสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นระดับโลก ท่ามกลางความต้องการของผู้บริโภคที่กำลังฟื้นตัว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 1 สิงหาคม 2564