bubble and seal ทางรอดไม่ต้องปิดโรงงาน

ส.อ.ท.เร่งส่งเสริมให้แต่ละโรงงานทำแบบประเมินตนเอง ผ่าน Thai Stop COVID และ Thai Save Thai  รวมทั้งนำ "บับเบิล แอนด์ ซีล" มาใช้ให้ครอบคลุม
 
บทความโดย คุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
 
 
สวัสดีครับคุณผู้อ่านคอลัมน์ Think Forward ทุกท่านครับ หลายคนยังคงตึงเครียดจากสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นกว่า 1.7 -1.8 หมื่นคนต่อวันมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตเกินหลักร้อยรายทุกวัน ที่น่าเป็นห่วง ตอนนี้แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเริ่มมาจากการติดเชื้อในโรงงาน สถานประกอบการขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ หากยังปล่อยสถานการณ์ยืดเยื้อแบบนี้ต่อไป จะยิ่งสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจในระยะเวลาอันใกล้นี้อย่างหนักแน่นอน
 
เพราะต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทย ณ เวลานี้ เหลือเครื่องยนต์ "การส่งออก" เป็นเครื่องยนต์เดียว ที่ยังสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนที่เหลือทั้งภาคการท่องเที่ยว ก็ยังสะดุด แม้มีโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์  (Phuket Sandbox) หรือโครงการสมุย พลัส โมเดล ก็ยังไม่สามารถฟื้นได้เต็มที่ การลงทุนภาครัฐก็ยังล่าช้า ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนได้แต่ประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติโควิด -19 ครั้งนี้ไปก่อน ส่วนการใช้จ่ายในประเทศ แม้มีมาตรการเยียวยาของรัฐออกมา แต่อยู่ในช่วงล็อกดาวน์จังหวัดพื้นที่เศรษฐกิจหลักๆ ทำให้ทุกอย่างไม่เป็นไปตามเป้าหมาย  
 
ถ้าปล่อยให้การติดเชื้อลามเข้าสู่โรงงานอย่างหนักจนถูก "สั่งปิด" แบบคลัสเตอร์ก่อสร้างที่ผ่านมา เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยจะยิ่งสาหัส เพราะอาจส่งผลให้ไทยเผชิญกับภาวะห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงัก (Supply Side Disruptions) นำมาซึ่งการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศบางรายการ และสะท้อนไปถึงผลกระทบต่อภาคการส่งออก ที่เป็นเครื่องยนต์เดียวของไทยตามมา แรงงานต้องขาดรายได้ รัฐต้องหางบประมาณมาเยียวยาเพิ่ม อุตสาหกรรมต้องได้รับความเสียหายจากการส่งออกไม่ทัน  
 
ประเด็นสำคัญที่รัฐต้องเร่งดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นเรื่องที่เน้นย้ำมาแล้วหลายครั้ง คือ ต้องเร่งจัดหาวัคซีนระดมฉีดให้กับภาคแรงงานอุตสาหกรรม ภาคประชาชน และต้องเป็นวัคซีนที่สามารถรับมือกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ด้วย เพราะเวลานี้ยอดการฉีดวัคซีนยังห่างไกลเป้าหมาย 100 ล้านโดสในสิ้นปีนี้อย่างมาก ล่าสุดฉีดไปเพียง 17–18  ล้านโดสเท่านั้น และที่น่าตกใจ! ภาคอุตสาหกรรม ฉีดไปแค่ 10% เท่านั้น เป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดการระบาดหนักในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ ส.อ.ท. อยู่ระหว่างเร่งจัดหาวัคซีนทั้งทางหลักและทางเลือกโดยเร็วที่สุด รวมทั้งต้องเร่งตรวจเชิงรุก คัดแยกผู้ติดเชื้อออกมา เพื่อนำไปสู่การรักษาโดยเร็ว โดยส่งเสริมให้ประชาชนใช้ชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Rapid Antigen Test Kit)
 
และเพื่อไม่ให้โรงงานต้องถูกสั่งปิด สำหรับโรงงานที่มีแรงงานน้อยกว่า 200 ราย ส.อ.ท. ได้เร่งส่งเสริมให้แต่ละโรงงานทำแบบประเมินตนเองและโรงงาน ผ่าน Thai Stop COVID และ Thai Save Thai  ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีแรงงานมากกว่า 200 รายขึ้นไป ได้ขอความร่วมมือให้นำ "มาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล"  (bubble and seal) มาใช้ให้คลอบคลุมมากที่สุด เพื่อควบคุมคนในโรงงาน ให้มีกิจกรรมปะปนกันเองและกับคนนอกโรงงานให้น้อยที่สุด ป้องกันการแพร่ระบาดการติดเชื้อ โดยให้จัดพนักงานแยกเป็นบับเบิล แต่ละกลุ่มสามารถทำงานร่วมกันโดยป้องกันตนเอง แต่ไม่ให้มีการทำงานหรือกิจกรรมข้ามกลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มมีสัญลักษณ์แสดงชัดเจน ไม่ให้มีกิจกรรมข้ามกลุ่ม จำนวนคนแต่ละกลุ่มยิ่งน้อยยิ่งดี
 
ยกตัวอย่าง โรงงานมีพนักงาน 500 ราย กลุ่มหนึ่งไม่เกิน 20 ราย ถ้าเป็น 1-5 คน จะดีที่สุด หากบับเบิลใดมีผู้ติดเชื้อ กลุ่มผู้มีสัมผัสเสี่ยงสูงก็จะถูกจำกัดในบับเบิลนั้น ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง คนที่มีน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม หญิงตั้งครรภ์ ให้จัดทำงานที่ไม่สัมผัสคนจำนวนมาก หากให้อยู่ในบับเบิลเฉพาะกลุ่มนี้ได้ จะทำให้เกิดความปลอดภัยสำหรับกลุ่มนี้มากขึ้น
 
แต่ละโรงงานให้เตรียมพร้อมแผนรับมือหากมีการติดเชื้อในโรงงานจำนวนมาก โดยให้จัดโรงพยาบาลสนาม และพื้นที่พักคอยสำหรับผู้ติดเชื้อ, จัดเตรียมสถานที่พักในโรงงานหรือในชุมชนเป็นที่พักสำหรับผู้สัมผัสผู้ป่วย แต่ยังตรวจไม่พบเชื้อหรือยังไม่มีอาการ, จัดเตรียมระบบเดินทางรับ-ส่ง คนงานจากที่พักถึงโรงงานหรือสถานประกอบการ ป้องกันการแวะระหว่างทาง, จัดหาร้านจำหน่ายอาหาร เครื่องอุปโภค บริโภค ราคาย่อมเยา ในบริเวณโรงงานหรือที่พัก เพื่อลดการสัมผัสระหว่างคนงานและคนในชุมชน และให้จัดหาสถานพยาบาลที่พร้อมให้บริการตรวจหาเชื้อ
 
รวมทั้งให้สุ่มคนงานตรวจหาเชื้อในสถานประกอบการขนาดใหญ่ ให้สุ่ม 75 ราย ต่อคนงานทุกๆ 500 ราย สถานประกอบการขนาด 100-500 ราย สุ่ม 75 ราย โดยกระจายการสุ่มให้ครอบคลุมกลุ่มต่างๆ ที่แยกไว้ หากพบผู้ติดเชื้อ ให้แยกไปอยู่ใน รพ.สนาม ศูนย์พักคอย หรือรักษาตนเองที่บ้าน ส่วนคนงานที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับผู้ติดเชื้อ ถือว่าเป็นผู้สัมผัส ให้หยุดงานและกักตัว 14 วันทุกราย ถ้าทุกโรงงานร่วมด้วยช่วยกันดำเนินตามมาตรการอย่างเข้มข้น รวมทั้งได้วัคซีนกระจายอย่างทั่วถึง ยอดตัวเลขผู้เชื้อในกลุ่มโรงงานจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้เต็มประสิทธิภาพอย่างแน่นอน
 
ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้จัดตั้ง "กองทุน ส.อ.ท. ช่วยไทยสู้ภัยโควิด-19" เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และช่วยลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อทั้งแรงงาน และประชาชน อาทิ การจัดทำห้องความดันลบช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 โดยสามารถร่วมบริจาคได้ที่ชื่อบัญชี "มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรม"เลขที่บัญชี 009-1-71583-0 ธนาคารกรุงไทย สาขาไทยเบฟควอเตอร์  โดยใบบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 100%  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน ส.อ.ท. หมายเลข 1453 ทุกปัญหาอุตสาหกรรมมีคำตอบ
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 4 สิงหาคม 2564

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)