จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เร่งเครื่องเจรจาการค้าฟื้นเศรษฐกิจ
แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก การทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้แต่ภารกิจเดินหน้าเจรจาการค้าระหว่างประเทศไม่สามารถหยุดได้ เพราะจะเป็นเครื่องมือในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคต
“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงภารกิจการเจรจาการค้าระหว่างประเทศหลายฉบับในปี 2564 ที่ต้องขับเคลื่อนและอัพเดตความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกในปี 2565 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าในสมาชิกเอเปกคือกลุ่มที่ร่วมเจรจา CPTPP ด้วย
ไทยพร้อมเจ้าภาพเอเปก :
ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกปี 2565 ซึ่งเป็นคิวที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพต่อจากมาเลเซีย ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันซักซ้อมความพร้อมในการทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการประชุมแล้ว
นอกจากการเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพในการประชุม กระทรวงพาณิชย์ยังได้เตรียมประเด็นในการหารือในที่ประชุมนี้อีกด้วย โดยประเด็นสำคัญจะมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน
อีกทั้งยังมีประเด็นการหารือการฟื้นเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การส่งเสริมการเติบโตของกลุ่มประเทศเอเปกภายใต้ทิศทาง BCG economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (bio-circular-green economy)
CPTPP ต้องฟังทุกฝ่าย :
ความคืบหน้าความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติแต่งตั้งให้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นประธานการศึกษาการเข้าร่วม CPTPP
ซึ่งต้องรอความชัดเจนจากประธาน ยังไม่สามารถบอกว่าจะนำผลสรุปเสนอที่ ครม.เมื่อไร หรือผลเป็นอย่างไร แต่เห็นว่าก่อนที่จะดำเนินการอย่างไรก็ต้องได้รับการเห็นชอบจากทุกฝ่าย ภาคส่วนต่าง ๆ ก่อนที่จะเดินหน้าใด ๆ ต่อไป ซึ่งปัจจุบันคณะทำงานก็อยู่ระหว่างการศึกษาและดำเนินการ
เร่งให้สัตยาบัน RCEP :
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเดินหน้าให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (RCEP) ซึ่งเป็นความตกลงที่สำคัญอีกฉบับ มีสมาชิก 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน และจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย โดยคาดว่าจะสามารถให้สัตยาบันได้ประมาณช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564 นี้
ปัจจุบันมีประเทศที่ให้สัตยาบันไปแล้ว เช่น สิงคโปร์ จีน และญี่ปุ่น หากไทยสามารถเดินหน้าได้เร็ว
ส่วนออสเตรเลียจากที่ได้หารือกับรัฐมนตรีการค้าการท่องเที่ยวและการลงทุนของออสเตรเลีย (นายแดน เทฮัน) ผ่านระบบ zoom confirm คาดว่าจะลงนามได้ในช่วงเดียวกันกับประเทศไทย จึงมั่นใจว่าในต้นปี 2565 ความตกลงอาร์เซ็ปจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้อย่างเป็นทางการแน่นอน
ยกเครื่อง FTA ออสเตรเลีย :
นอกจากนี้ ได้หารือกันในหลายประเด็น เช่น ออสเตรเลียมีความสนใจจัดทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจกับประเทศไทย ก่อนหน้านี้มีความสัมพันธ์ในรูปแบบทวิภาคี หรือ FTA ซึ่งเป็นการลดภาษีระหว่างกันเกือบครบทุกรายการ
ส่วนการจัดทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-ออสเตรเลียจะเป็นอีกรูปแบบความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนที่ลงลึกกว่า FTA ประเทศไทยที่ทำอยู่
ซึ่งขณะนี้มีการเตรียมการจัดทำข้อตกลงใน 7 สาขา
1.การเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะด้านอาหาร
2.ด้านการท่องเที่ยว
3.ด้านบริการสุขภาพ
4.ด้านการศึกษา
5.ด้านอีคอมเมิร์ซ
6.ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์
7.อื่น ๆ เช่น พลังงาน หรือการลงทุนร่วมกัน เป็นต้น
ออสเตรเลียแจ้งว่าจะเร่งให้ได้ข้อสรุปเร็ว ๆ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะเชิญตนไปลงนามการจะทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่ออสเตรเลียต่อไป คาดว่าจะเป็นในปี 2565
เสริมแกร่งความสัมพันธ์ :
ไทยขอให้ออสเตรเลียนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าด้านการเกษตร ยางรถยนต์ ซึ่งออสเตรเลียเลิกผลิตแล้วทั้งชิ้นส่วนยานยนต์และรถยนต์ต้องนำเข้า เป็นโอกาสดีสำหรับยางรถยนต์ของไทยที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ อุปกรณ์ทางการแพทย์
โดยเฉพาะถุงมือยาง เพราะประเทศไทยถือเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่รายหนึ่งของโลก และจะเป็นการช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง และอาหารแปรรูป เพราะประเทศไทยถือเป็นประเทศผลิตอาหารแปรรูปที่มีคุณภาพและมีศักยภาพติด 1 ใน 10 ของโลก และอาหารสัตว์เลี้ยงน่าจะเป็นตลาดสำคัญต่อไปในอนาคตได้
ประเทศไทยกับออสเตรเลียมีความสัมพันธ์ในทางการทูตกันมาครบปีที่ 69 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเมื่อปี 2563 มูลค่า 13,198 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 409,021 ล้านบาท หดตัว 7% ไทยยังได้ดุลการค้าออสเตรเลียอยู่ 6,523 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 201,000 ล้านบาท แต่ปี 2564 ในช่วงครึ่งปีแรก 2564 การค้าไทยออสเตรเลียดีขึ้นมาก มีมูลค่าถึง 8,426 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 256,888 ล้านบาท เป็นบวกถึง 34.3%
และออสเตรเลียถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ โดยเฉพาะ AZ ซึ่งขณะนี้ออสเตรเลียได้บริจาควัคซีนให้กับหลายประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ซึ่งได้เรียนให้ท่านรัฐมนตรีทราบว่าถ้าออสเตรเลียจะช่วยสนับสนุนวัคซีนให้กับประเทศไทยนั้นทางไทยก็ยินดีและขอขอบคุณล่วงหน้าอย่างยิ่ง โดยรัฐมนตรีออสเตรเลียแจ้งว่าขณะนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการพิจารณาเรื่องนี้อยู่
หายห่วงส่งออก :
สุดท้ายนายจุรินทร์ยังได้ให้ความมั่นใจว่า การส่งออกของไทยในปี 2564 จะขยายตัวมากกว่า 4% มีโอกาสเติบโตเป็นเลข 2 หลักได้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมแผนงานไม่ว่าการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ การจัดกิจกรรมการค้ามากกว่า 130 กิจกรรมในการดันส่งออก
โดยมอบหมายให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกดันตัวเลขส่งออกให้เพิ่มขึ้นพร้อมเดินหน้าเชิงรุกโดยเฉพาะในตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง รัสเซีย ละตินอเมริกา อะไรที่เป็นโอกาสและอุปสรรคก็ให้เร่งแก้ไขเพื่อขยายตัวเลขการส่งออกให้ได้
“กระทรวงพาณิชย์ยังพร้อมแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการส่งออกด้วยความร่วมมือกับภาคเอกชนในรูปแบบ กรอ.พาณิชย์ ซึ่งมีทั้งหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนร่วมกันแก้ไขเพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกของไทย”
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 8 สิงหาคม 2564