อย่าปล่อยเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวสุดท้ายดับ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทะลุ 20,000 คนไปแล้ว เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 โดยได้กระจายไปครอบคลุมทุกจังหวัด แต่ที่น่าห่วงที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นการเกิดคลัสเตอร์โควิดในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ซึ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า “ซัพพลายเชน” ในอุตสาหกรรมอาจจะสะดุด มีผลถึงรายได้ “ภาคส่งออก” เครื่องยนต์ตัวสุดท้ายของเศรษฐกิจไทย จะไม่สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะขยายตัว 8% จากปีก่อนที่มีมูลค่า 231,634 ล้านเหรียญสหรัฐ นำมาสู่วิกฤตปิดกิจการ เลิกจ้างงาน กำลังซื้อตกต่ำ และปัญหาหนี้เน่า
 
ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอภาคเอกชนทั้งสภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต่อภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา จึงมีหัวใจหลักอยู่ที่การปกป้องภาคการผลิต โดยจะต้องดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ การควบคุมการแพร่ระบาด ทั้งเรื่องการตรวจสอบเชิงรุก โดยใช้ antigen test kit แยกคนป่วยจากคนไม่ป่วย หรือแยกปลาออกจากน้ำ พร้อมทั้งแก้ปัญหาปูพรมการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และนำมาสู่การขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ
 
ควบคู่กับข้อเสนอในการเยียวยาภาคธุรกิจ เพื่อให้สามารถประคองธุรกิจฝ่าวิกฤตไปให้ได้ นั่นหมายถึงทำให้พวกเขามีกำลังที่จะจ้างแรงงาน ค้ำยันเศรษฐกิจต่อไป
 
แต่ทว่าผ่านมาหลายเดือนแล้ว การผลักดันข้อเสนอเหล่านั้นในทางปฏิบัติตามยังเป็นไปอย่างล่าช้า “ภาคเอกชน” ไม่สามารถรีรอได้ แต่ละโรงงานจึงได้เร่งปรับตัวฝ่าวงล้อมโควิด
 
โดยเฉพาะการวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในโรงงาน ทั้ง ส.อ.ท. และหอการค้าฯสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจัดทำ “bubble and seal” เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้
 
การดำเนินมาตรการ bubble and seal คิดง่าย ๆ คือ การจัดกลุ่มพนักงานออกเป็นกลุ่ม ๆ คล้ายบับเบิล แบ่งโซน ลดความหนาแน่นในการทำงาน และเพิ่มการตรวจสอบเชื้อเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง เพื่อแยกคนป่วยออกมา สมมุติในโรงงานหนึ่งมีพนักงาน 50 คน แบ่งเป็น บับเบิลละ 5 คน หากบับเบิลหนึ่งมีคนติด ก็ตรวจเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในบับเบิลเดียวกัน ส่วนที่เหลือยังปฏิบัติงานได้
 
และ “seal” นั้นแปลตามตัวเลย คือ การห่อหุ้มโรงงานไว้ไม่ให้ปะปนกับชุมชนข้างนอก ส่วนคนที่จำเป็นต้องเข้ามาจริง ๆ ก็มีมาตรการ bubble และมาติดต่อเฉพาะจุดเท่านั้น หรือคนที่ต้องเดินทางไป-กลับก็จะมีการห่อหุ้มเส้นทางการเดินทาง หรือที่เรียกว่า seal root คือ จัดรถรับส่ง เพื่อไม่ให้แวะระหว่างทางซึ่งอาจจะทำให้เกิดการรับเชื้อ
 
การทำ bubble and seal ถือเป็นสเต็ปแรก แต่ยังต้องมีการทำสเต็ปที่สอง คือ การจัดสรรพื้นที่ในโรงงาน เพื่อจัดทำเป็นโรงพยาบาลสนาม หรือ factory isolation ซึ่งมีความสำคัญในแง่ที่ หากโรงงานสุ่มตรวจบับเบิลที่เสี่ยงแล้ว พบว่ามีผู้ป่วย จะต้องประเมินว่าอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว เหลือง หรือแดง เพื่อรักษาให้สอดคล้องกับอาการ
หากเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีแดง ต้องส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที แต่หากเป็นสีเขียวและสีเหลืองก็จะกักให้อยู่ในโซนโรงพยาบาลสนาม เพื่อรักษาและเฝ้าติดตามอาการ
 
แน่นอนว่าระบบต่าง ๆ เหล่านี้มีความจำเป็นมากสำหรับภาคการผลิต เพราะถ้าหากมีคนติดเชื้อขึ้นมาสักคนแล้ว ไม่คุ้มเลย การลงทุนนี้ วิธีการแบบนี้จะทำให้ supply chain ไม่ขาดตอน
 
ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่เอกชนจะไม่ยอมทำ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าการ bubble and seal ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็น “ต้นทุน” ที่เอกชนต้องแบกรับล้วน ๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการจัดรถรับส่ง การจัดซื้อชุดตรวจ antigen test kit ซึ่งมีราคาถึง 300 บาทต่อชุด
 
หรือแม้ต้นทุนในการจัดเตรียมอาคารสถานที่ในโรงพยาบาลสนาม ซึ่งแม้ว่าบางรายจะมีอาคารอยู่แล้ว แต่การปรับพื้นที่เป็นโรงพยาบาลสนาม จะมีการลงทุนประมาณ 20 ล้านบาทต่อ 250 เตียง และหากเพิ่มระดับอุปกรณ์ เช่น ติดระบบออกซิเจนเข้าไป ต้องลงทุนเพิ่มอีก
 
ด้วยงบประมาณขนาดนี้ ถ้าเป็นโรงงานขนาดใหญ่อาจพร้อมที่จะพัฒนาระบบ แต่โรงงานขนาดเล็กโดยเฉพาะเอสเอ็มอีถือเป็นเรื่องยาก
 
ยกตัวอย่าง ในอุตสาหกรรมอาหาร เป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่ SMEs มีบทบาทสูง อุตสาหกรรมนี้มีผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 127,378 ราย คิดเป็น 99.4% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมดในอุตสาหกรรม มีการจ้างงานสูงถึง 478,633 ราย คิดเป็น 47.12% ของการจ้างงานทั้งหมด และช่วยสร้างผลผลิตมวลรวม (GDP) ประมาณ 262,685 ล้านบาท คิดเป็น 42.7% ของ GDP
 
“วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารอนาคต มองว่า หากพบคนติดเชื้อแล้วต้องปิดโรงงานไปเรื่อย ๆ จะกระทบการผลิตอาหาร ถือเป็นปัญหาใหญ่ เรื่อง “food security” ในที่สุด และ suppply chain ในอุตสาหกรรมอาหารค่อนข้างกว้างเป็นใยแมงมุม ซึ่งท่อนล่างสุด คือ เกษตรกร
 
“ทุกอย่างล้วนเป็นต้นทุน ตอนนี้เอสเอ็มอีบางรายแค่เพียงปิดล็อกดาวน์รอบเดียวไม่รอดแล้ว บางรายดีหน่อยรอดมา ถ้าเจอปิดรอบสองก็อาจไม่ไหวแล้ว ที่สำคัญจะกู้เงินก็ไม่ใช่เรื่องง่าย”
 
อีกมุมหนึ่งการแพร่กระจายของคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรมทำให้เกิดปัญหากระทบความรู้สึกของคนในชุมชน มีคนมองว่าโรงงานเป็นต้นทางการแพร่เชื้อ การเข้ามาทำงานในโรงงานถือเป็น “ความเสี่ยง” นั่นจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาชีพในอนาคต ซึ่งย่อมจะส่งผลต่อการผลิตของโรงงานแน่นอน
 
แหล่งข่าวในวงการอาหารอีกรายหนึ่งระบุว่า ในตอนนี้นอกจากวางมาตรการ bubble and seal และ factory isolation มีอาหารให้ครบ 3 มื้อแล้ว บริษัทยังต้องจ่ายพิเศษให้พนักงานที่ต้องกักตัวในโรงงาน ต้องห่างบ้าน อีกเดือนละ 2,000 บาท เพิ่มจากเงินเดือน เพื่อทำอย่างไรก็ได้ที่จะให้พนักงานมั่นใจในการทำงานในองค์กร หรือทำให้เขาเลือกว่าการเสี่ยงที่จะมาทำงานในโรงงานนั้นคุ้มค่า
 
นาทีนี้รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งการช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เร็วและทั่วถึง หากช้ากว่านี้ฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตัวนี้จะเสียหายเกินเยียวยา อย่าลืมว่าในบรรดาธุรกิจในประเทศไทย เป็น SMEs ประมาณ 99.5% หรือประมาณ 2 ล้านราย ธุรกิจรายใหญ่มีประมาณ 2,000 ราย แต่ SMEs มีรองรับการจ้างงานถึง 70% การผลิต และขายในประเทศ 70% ช่วยขับเคลื่อนภาคการส่งออกอีก 30% ฉะนั้น จงอย่าปล่อยให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวสุดท้ายดับ
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 7 สิงหาคม 2564 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)