สะท้อนจุดเปลี่ยนจาก "เวียดนามโมเดล" สู่วิกฤติการแพร่ระบาดรอบใหม่ของโควิด-19

เวียดนามเคยได้รับการชื่นชม ยกให้เป็นแบบอย่างของการสกัดกั้นการแพร่ระบาด รัฐบาลประสบความสำเร็จในการเข้าไปจัดการอย่างเข้มงวด รวดเร็วทันสถานการณ์ ทำให้ชาวเวียดนามกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ สามารถเปิดเศรษฐกิจได้เร็วกว่าใครในย่านอาเซียน
 
การแพร่ระบาดระลอกใหม่ การมาถึงของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา เมื่อเดือน พ.ค. ทำให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เคยเป็นศูนย์มาอย่างต่อเนื่องค่อยๆ เพิ่มขึ้นทะลุหลักร้อยหลักพันในเวลาอันรวดเร็ว จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงจนน่าตกใจ และยังทำให้รัฐบาลต้องหันมาทบทวนแผนนโยบายวัคซีนใหม่ 
 
ล่าสุด (8 ส.ค.) เวียดนามมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่ม 9,690 ราย เสียชีวิต 147 ศพ จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่กว่า 2 แสนราย เสียชีวิตกว่า 3,300 ศพ
 
ที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามบังคับใช้นโยบายการควบคุมโรคโควิด-19 เข้มงวดมาก ทำให้ช่วงปีที่ผ่านมาสถานการณ์ในประเทศถือว่าเคยดีที่สุดในย่านอาเซียน ผ่านมาแล้ว 3 ระลอก จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดถึงหลักร้อย ก็สามารถควบคุมจนลดลงมาเป็นศูนย์ เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
 
ขณะที่ผ่านไปเพียง 1 เดือน เริ่มเกิดสัญญาณการแพร่ระบาดรอบใหม่ จนจำนวนผู้ติดเชื้อจากหลักสิบทะลุหลักร้อยหลักพันคนต่อวันไปเมื่อช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลเวียดนามต้องตัดสินใจประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในนครโฮจิมินห์ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 9-24 กรกฎาคม พร้อมทั้งคุมเข้มมาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายในกรุงฮานอย เพื่อรับมือกับสถานการณ์ระบาดที่รุนแรงขึ้นต่อเนื่อง
 
ย้อนรอย "เวียดนามโมเดล" :
 
นับตั้งแต่พบการระบาดของโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น ของจีน เมื่อปลายปี 2562 ย่างเข้าช่วงปีใหม่ 2563 เริ่มพบผู้ติดเชื้อในหลายประเทศทั่วโลก ในขณะที่เวียดนามก็พบผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นชาวจีน 2 รายในนครโฮจิมินห์ จากนั้นมาก็ยังคงเป็นการระบาดจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จนพบกรณีการติดเชื้อในท้องถิ่นครั้งแรกที่จังหวัดหายเซือง เมื่อเดือน ก.พ. 
 
ในตอนนั้นรัฐบาลเวียดนามประกาศล็อกดาวน์ทั้งเมือง ระงับการเดินทางเข้าประเทศตั้งแต่ 22 มี.ค.2563 ยกเว้นเฉพาะนักการทูต เจ้าหน้าที่รัฐ นักลงทุนต่างชาติ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และแรงงานมีฝีมือ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ 
 
ขณะที่ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา เวียดนามประกาศมาตรการเข้มงวดเพื่อสกัดการแพร่ระบาด โดยให้คนที่จะเดินทางเข้าประเทศหากยังไม่มีเอกสารการฉีดวัคซีนครบโดส ก็จะต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วัน ถ้าฉีดวัคซีนมาแล้วก็จะต้องกักตัว 7 วันที่ศูนย์กักตัวซึ่งทางรัฐบาลจัดไว้ให้
 
จะเห็นได้ว่ารัฐบาลเวียดนามสกัดโควิด-19 ด้วยแนวทางคล้ายกับจีน ทั้งเร่งปูพรมตรวจหาเชื้อ สอบสวนโรคอย่างละเอียด ตามรอยผู้สัมผัสติดต่อใกล้ชิดแล้วสั่งกักตัวในสถานที่ของรัฐ สั่งเข้มงวดการผ่านเข้า-ออกพรมแดน และมีนโยบายด้านสาธารณสุขแบบตอบสนองฉับไว ทำให้สามารถควบคุมการระบาดในท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็ว
 
ตอนนี้ในขณะที่หลายประเทศยังคงล็อกดาวน์ และมีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันในหลักพัน แต่เวียดนามกลับเปิดเศรษฐกิจในประเทศได้อีกครั้ง และเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตในปี 2563
 
จนถึงเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เวียดนามยังมีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รวมทั้งหมดเพียง 35 รายเท่านั้น
 
ความสำเร็จของเวียดนาม เรียกได้ว่าเป็นเพราะการดำเนินนโยบายด้านสาธารณสุขแบบเน้นเชิงรุก ป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดรุนแรง มากกว่าที่จะไปแก้ปัญหาเยียวยาปลายเหตุ แต่เพราะตอนนั้นมีตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อย รัฐบาลก็เลยไม่ได้ดำเนินการเร่งด่วนในการจัดหานำเข้าวัคซีนที่หลากหลายจากต่างประเทศ 
 
สถานการณ์เปลี่ยน นโยบายวัคซีนเปลี่ยน :
 
ทางการเวียดนามมีแผนฉีดวัคซีนโควิดให้แก่ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในกรุงฮานอยให้ได้เกิน 50% ภายในสิ้นปีนี้ และยังตั้งเป้าฉีดวัคซีนประชาชนทั่วประเทศให้ได้ 70% ภายในเดือน มี.ค.ปีหน้า แต่จนถึงขณะนี้ทางการเวียดนามได้ฉีดวัคซีนโควิดให้แก่ประชาชนไปแล้วราวเพียง 8 ล้านโดส โดยมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสราว 820,000 คน หรือคิดเป็น 0.9% จากประชากร 98.7 ล้านคน เรียกได้ว่าเป็นตัวเลขที่แทบจะต่ำที่สุดในกลุ่มอาเซียน
 
มาถึงตอนนี้จะเห็นได้ว่าการจัดการวัคซีนของเวียดนามเป็นการแทงม้าตัวเดียวคล้ายแบบของไทย มีการทุ่มทุนวิจัยและทดลองผลิตวัคซีนเป็นของตัวเอง โดยผู้เชี่ยวชาญของเวียดนามเคยกล่าวไว้เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้วว่า วัคซีนที่ผลิตเองอาจจะมาช้ากว่าของต่างประเทศ แต่ถ้าเวียดนามทำสำเร็จ การรอคอยวัคซีนที่ผลิตเองจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามากกว่า
 
ในขณะที่นานาประเทศดิ้นรนนำเข้าวัคซีนต่างชาติ แต่เวียดนามซึ่งมีข้อพิพาทกับจีนเรื่องหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ก็ไม่นำเข้าวัคซีนจีน และได้เริ่มต้นเฟส 1 ของการทดลองผลิตวัคซีน "นาโนโคแวกซ์" ซึ่งใช้โปรตีนผสมจากเซลล์สัตว์ โดยวัคซีนชนิดนี้ได้รับการพัฒนาโดยบริษัทสตาร์ทอัพ "นาโนเจน ฟาร์มาซูติคอล ไบโอเทคโนโลยี" ร่วมกับมหาวิทยาลัยการแพทย์ทหารเวียดนาม
 
ตอนนี้วัคซีนของเวียดนามก็ได้เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการทดลองกับมนุษย์ คาดว่าจะสำเร็จก่อนสิ้นปีนี้ ซึ่งทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศแรกของอาเซียนที่มีการผลิตวัคซีนเองในประเทศ นอกจากนี้ทางเวียดนามยังวางแผนทดลองเชิงคลินิกในฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย
 
แต่เนื่องจากระลอกนี้เป็นการระบาดของเชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ที่แพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วและติดง่ายขึ้น ทำให้เวียดนามต้องพิจารณานำเข้าวัคซีนแอสตราเซเนกาเข้ามากว่า 1 ล้านโดส และกำลังรอการอนุมัติวัคซีนสปุตนิก วี ของรัสเซีย และกำลังเจรจากับทางฟากของไฟเซอร์ด้วยเช่นกัน
 
นอกจากนี้ เวียดนามกำลังเจรจากับสหรัฐฯ เกี่ยวกับการผลิตวัคซีน mRNA ในประเทศ เพื่อเพิ่มปริมาณวัคซีนท่ามกลางการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศ โดยคาดว่าการผลิตวัคซีนชนิด mRNA ในประเทศ อาจเริ่มได้ในไตรมาสที่ 4 หรือต้นปี 2565
 
ล็อกดาวน์เข้มสกัดการแพร่ระบาด :
 
ล่าสุดตอนนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดในเวียดนามเข้าสู่ภาวะน่าวิตกอย่างยิ่ง กระทรวงสาธารณสุขรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 9,690 ราย ในวันที่ 8 ส.ค. นับเป็นยอดติดเชื้อรายวันที่สูงเป็นประวัติการณ์ และเพิ่มขึ้นจากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อที่พบเมื่อวันก่อนหน้าที่ 7,334 ราย
 
 
จนถึงตอนนี้ เวียดนามมีผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันสะสม 210,405 ราย ตั้งแต่การระบาดเริ่มขึ้น และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3,397 ศพ
โดยกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ผู้ป่วยติดเชื้อส่วนใหญ่พบในนครโฮจิมินห์ ศูนย์กลางการระบาด ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อคิดเป็น 64% ของยอดผู้ติดเชื้อทั้งหมดภายในประเทศ นอกจากนี้ยังพบที่จังหวัดบิ่งเซวือง กับจังหวัดด่งนาย ที่อยู่ติดกัน ขณะที่มีรายงานว่ารัฐบาลเวียดนามเตรียมขยายเวลาล็อกดาวน์ในนครโฮจิมินห์ 18 เมือง และจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศออกไปอีก 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคมนี้ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งเลวร้ายที่สุด
 
ด้านรองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจโควิด-19 ของเวียดนาม ระบุว่า การใช้มาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางที่เข้มงวด เป็นการสร้างเข็มขัดนิรภัยรอบนครโฮจิมินห์ และไม่ปล่อยให้การแพร่ระบาดกระจายวงกว้างไปมากกว่านี้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนจนกว่าจะควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ได้
 
ที่มา ไทยรัฐออลไลน์
วันที่ 9 สิงหาคม 2564     

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)