เอกชนจี้นายกฯปลดล็อกนำเข้า "เสรีวัคซีน" กู้วิกฤติ

เอกชนสุดทนขอพบนายกฯ โควิดทุบเศรษฐกิจส่งออกเสียหายหนัก จี้ปลดล็อกวัคซีน เปิดเสรีนำเข้า พร้อมชงเอกชนผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ห่วงอภ.เครื่องสะดุดทำขาดแคลน บี้คุมราคา ATK ตํ่ากว่า 100 บาท
 
สถานการณ์โควิดในไทยที่ยังรุนแรงมีผู้ติดเชื้อระดับ 1-2 หมื่นคนต่อวันติดต่อกันมานานกว่า 20 วันแล้ว แม้รัฐบาลจะประกาศล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้มเป็น 29 จังหวัด แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังกดไม่ลง ขณะที่การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้คนไทยยังเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ภาคเอกชนประเมินสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ 3-4 แสนล้านบาทต่อเดือน ล่าสุด(10 ส.ค.)ไทยอยู่อันดับ 37 ของโลกของผู้ติดเชื้อ ขณะที่สหรัฐฯออกประกาศให้ไทยเป็นประเทศเสี่ยงไม่ควรเดินทางมา
 
จี้นายกฯเร่งแก้โควิด :
 
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้จัดทำหนังสือขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือและนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คาดจะได้รับการตอบรับในเร็ววัน
 
ทั้งนี้ได้เตรียมประเด็นสำคัญในการหารือหลายเรื่อง อาทิ การเสนอให้รัฐบาลเปิดให้มีการเจรจานำเข้าวัคซีนเสรี โดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานนำเข้าวัคซีนตามประกาศของ ศบศ. (มี 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมควบคุมโรค, องค์กาเภสัชกรรม, สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, สภากาชาดไทย, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์) แต่ทั้งนี้ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ โดยภาครัฐเป็นผู้ออกใบสั่งซื้อและออกค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างความเชื่อมั่น
 
เปิดเสรีนำเข้าวัคซีน :
 
นอกจากนี้ขอให้องค์การอาหารและยา (อย.) เร่งอนุมัติวัคซีนยี่ห้อที่องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้รับรองแล้ว ไม่ต้องรอให้บริษัทวัคซีนนำเอกสารมายื่นรับรอง เพื่อเพิ่มทางเลือกและเปิดโอกาสในการจัดหาวัคซีนให้มีความหลากหลายและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
 
“รัฐควรเปิดอิสระให้มีการนำเข้าวัคซีนโดยภาคเอกชน หรือผู้ที่มีศักยภาพ เพื่อเปิดทางเลือกให้มากที่สุด ซึ่งอาจจะมาขึ้นทะเบียนหรืออะไรก็ว่าไป พูดง่าย ๆ คือการเปิดให้นำเข้าเสรี หรือยกเลิกการจัดหาแบบจีทูจี และไม่ควรจำกัดต้องผ่าน 5-6 องค์กรในปัจจุบัน ซึ่งไม่ต้องห่วงว่าหากยกเลิกจีทูจีเขาจะไม่ยอมคุยหรือขายให้เอกชนที่จะเป็นผู้เจรจา เพราะเอกชนที่มีคอนเน็กชั่นยังมีช่องทางคุยกับเทรดเดอร์ หรือตัวแทนจัดจำหน่ายจากบริษัทผู้ผลิตได้ และในการนำเข้ามาก็มาขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าโดยง่ายจาก อย. เช่นสภาอุตฯ หรือหอการค้าไทยก็สามารถทำได้ เป็นต้น”
 
 ทั้งนี้หากไม่มีการเปิดให้มีการนำเข้าแบบอิสระ มองว่าการจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชาชนตามเป้าหมาย 100 ล้านโดสในปีนี้คงไม่ทัน เพราะเวลานี้การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลมีไม่เพียงพอ ฉีดได้เพียงวันละประมาณ 3 แสนโดสเท่านั้น จากต้องฉีดให้ได้ 5-6 แสนโดสต่อวันถึงจะทำได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะส่งผลให้การเปิดประเทศและฟื้นเศรษฐกิจและธุรกิจเป็นไปได้ยาก
 
นอกจากนี้เสนอให้จะเสนอให้รัฐบาลอนุมัติให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพสามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (ยาต้านเชื้อไวรัส) ได้ โดย อย.เข้ามาดูแล จากปัจจุบัน อย.ขึ้นทะเบียนให้องค์การเภสัชกรรม(อภ.) เป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียว ห่วงว่าหากมีอุบัติเหตุหรือสายการผลิตสะดุด จะทำให้ยานี้ขาดแคลนต้องนำเข้ามาเพิ่ม ดังนั้นควรให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพช่วยผลิต โดยจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลไม่มีการขายเชิงพาณิชย์ทั่วไป หรือหากสามารถให้ซื้อขายในร้านขายยาได้ก็ให้เภสัชกรจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น
 
กดราคา ATK ต่ำกว่าร้อย :
 
 ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า มาตรการด้านสาธารณสุขรัฐบาลควรเร่งดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ 1. การจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้เพียงพอและเร่งระดมฉีดโดยเร็ว และ 2.การบริหารจัดการเรื่องชุดตรวจคัดกรองโควิดเชิงรุก(Antigen Test Kit : ATK) ที่ปัจจุบันราคาขายปลีกทั่วไปที่มีเภสัชกรดูแลจำหน่ายอยู่ที่ 300-380 บาทต่อชุด ขึ้นกับยี่ห้อและแหล่งนำเข้า ขณะที่การตรวจแบบ ATK ในโรงงานมีค่าใช้จ่ายรวมค่าแพทย์หรือพยาบาลจากโรงพยาบาลเอกชนเฉลี่ยที่ 800-1,390 บาทต่อคน(เฉพาะในเขต กทม.และปริมณฑล หากอยู่นอกเขตให้บริการคิดเพิ่มอีกกิโลเมตรละ 30 บาท)
 
ดังนั้นขอให้รัฐบาลได้ศึกษากรณีในยุโรป เช่นที่เยอรมันราคาขายปลีก ATK เฉลี่ยที่ 1 ยูโรหรือประมาณ 35 บาทเท่านั้น ซึ่งอาจมาจากเหตุผลมีการผลิตจำนวนมากต้นทุนต่อหน่วยต่ำ หรือเขายอมขายเอากำไรน้อย หรือรัฐบาลคุมราคา หรือเป็นเพราะหน่วยงานรัฐหรือสาธารณสุขไปอุดหนุนชดเชยให้กับผู้ผลิต-ผู้นำเข้าเพื่อทำให้ราคาถูกหรืออย่างไร ซึ่งรัฐบาลไทยอาจใช้วิธีเดียวกันเพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึง ATK ในราคาต่ำไม่เกินชุดละ 100 บาท เพื่อช่วยลดภาระและสามารถตรวจได้บ่อยครั้ง
 
หอต่างชาติห่วงเอาไม่อยู่ :
 
ด้านหอการค้าไทย รายงานผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติในไทยไตรมาสที่ 2/2564 จาก หอการค้า 40 ประเทศในไทย ในส่วนความเห็นต่อสถานการณ์ปัจจุบันของเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับปีก่อน 72.90% ระบุว่าแย่ลง กำลังซื้อในประเทศไทย 71.40% ตอบว่าแย่ลง การลงทุนจากต่างประเทศ 61.50% ตอบว่าแย่ลง นโยบายเศรษฐกิจไทย 55.70 % แย่ลง และสถานการณ์ท่องเที่ยวในไทย 80% ตอบว่าแย่ลง
 
ขณะที่ประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทยที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน พบว่า เรื่องด่วนสุดคือการบริหารจัดการวัคซีนที่ล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดและวัคซีนไม่เพียงพอมาเป็นอันดับ 1 คิดเป็น 42.68% ตามด้วยการะบาดของโควิดระลอก 3 รุนแรง กระจายทั่วประเทศและยังควบคุมในวงจำกัดไม่ได้ คิดเป็น 13.41%
 
รพ.เอกชนหนุนเต็มตัว :
 
นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวว่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชนจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมแบบเร่งด่วนที่สุด เพื่อระดมวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนคนไทย เมื่อปลายเดือนก.ค. ที่ผ่านมา แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม
 
 
“ตอนนายกฯ มีคำสั่งให้รองนายกฯ จัดหาและนำเข้าวัคซีนอย่างเร่งด่วนโดยไม่ผ่านกระทรวงสาธารณสุข เราดีใจ เพราะมีหน่วยงานพิเศษมาช่วย ทำให้คนไทยจะได้วัคซีนเร็วขึ้น แต่ที่สุดแล้ว การนำเข้าก็ยังต้องผ่านองค์การเภสัชกรรมเช่นเดิม ซึ่งเราเองไม่ได้มีปัญหากับองค์การเภสัชฯ เพราะรู้ถึงหน้าที่บทบาทของเขา แต่ทุกคนรู้ว่าระเบียบราชการเป็นอย่างไร”
 
 การที่ภาคเอกชนออกมาสนับสนุนให้มีการจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มขึ้นนั้น เชื่อว่าทุกฝ่ายพร้อมสนับสนุนให้คนไทยได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด เพราะรู้ว่าวัคซีน คือหัวใจ ที่จะทำให้เกิดการสร้างภูมิต้านทานหมู่ ลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ หากรัฐบาลอนุมัติให้ภาคเอกชนนำเข้าได้ รพ. ก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ เพราะหากต้องไปเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ ก็จะเป็นการเสียเวลา
 
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 11 สิงหาคม 2564 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)