เอกชนค้านล็อกดาวน์เหมาเข่ง ชงคลายกฎคุมธุรกิจในห้าง
ชง ศบค.เคาะขยายล็อกดาวน์ 14 วันถึงสิ้นเดือน ส.ค. พร้อมผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มในห้างสรรพสินค้า ให้ธนาคาร-ธุรกิจสื่อสาร/ไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า-ร้านเบ็ดเตล็ดเปิดดำเนินการได้ ด้าน กกร.ยื่นขอเข้าพบนายกฯ ค้านแหลกล็อกดาวน์เหมาเข่งหวั่น ศก.พัง หนุนขยายเพดานก่อหนี้สาธารณะ 65-70% ต่อจีดีพี ชี้หืดจับถึงปี’65 ต้องอัดฉีดเยียวยาเพิ่มอีก 1 ล้านล้าน
วันที่ 13 ส.ค. 2564 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) จะเป็นประธานการประชุม ศบค.ในวันจันทร์ที่ 16 ส.ค.นี้ โดยมีวาระเพื่อพิจารณาขยายมาตรการยกระดับการควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 18 ส.ค. นี้ออกไปอีก 14 วัน หรือสิ้นสุดวันที่ 31 ส.ค. เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง
ปลดล็อกแบงก์ในห้าง :
ทั้งนี้ นอกจากเตรียมขยายล็อกดาวน์ออกไปอีก 14 วันแล้ว ที่ประชุมจะพิจารณาผ่อนคลายในบางกิจการตามข้อเสนอของสมาคมศูนย์การค้าไทย ที่เสนอให้ ศบค.ทบทวนการผ่อนปรนการให้บริการ 3 ธุรกิจในศูนย์การค้า ได้แก่ ธนาคารและสถาบันการเงิน ธุรกิจสื่อสารและไอที และร้านเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นและเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงบางกิจการในบางจังหวัดอาจจะมีการผ่อนคลายที่เกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่
นอกจากนี้กระทรวงแรงงานจะเสนอมาตรการรักษาระดับการส่งออก ผ่านมาตรการ Factory sandbox เข้าสู่ที่ประชุมด้วย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า มาตรการ Factory sandbox จะโฟกัสไปที่โรงงานส่งออก ตรวจเชิงรุก 100% แยกคนป่วย แยกปลาแยกน้ำ ฉีดวัคซีนให้ครบ 100% เพื่อรักษาการจ้างงานและดำเนินธุรกิจส่งออกต่อได้ ภาคส่งออกเดินได้ต่อไป คาดว่าถ้าที่ประชุมเห็นชอบจะเริ่มมาตรการได้ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งนี้ ได้ผ่านการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครบหมดแล้ว ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย
“ขณะนี้มีบริษัทส่งออกขนาดใหญ่ให้ความสนใจจำนวนมาก โดยจะเริ่มจากอุตสาหกรรมส่งออก 4 สาขา ได้แก่ อาหาร เครื่องมือแพทย์ ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์”
เอกชนค้านล็อกดาวน์เหมาเข่ง :
ขณะที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ประชุมเป็นการภายใน สรุปมาตรการก่อนทำหนังสือยื่นขอพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประเด็นหลักเป็นเรื่องวัคซีน จะขอให้พิจารณาว่าให้ภาคเอกชนจัดหา จัดซื้อกันเองอย่างไรได้บ้าง และเรื่องการเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจ การขยายการล็อกดาวน์
โดย กกร.ไม่เห็นด้วยกับการล็อกดาวน์แบบเหมาเข่ง เนื่องจากข้อมูลทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงต้นเดือน ส.ค. 2564 เศรษฐกิจเสียหายโดยรวมแล้ว 5-8 แสนล้านบาท
“ถ้าล็อกดาวน์เหมาเข่งยาวไปอีก เพราะถึงวันนี้ตัวเลขยังไม่ลง ทุกคนคิดว่ารัฐบาลต้องขยายเวลาเหมือนที่ท่านบอกว่า ลองสักครึ่งเดือน หรืออย่างน้อยถ้าต่อไปถึงปลายเดือน ส.ค. ผลกระทบที่ตามมาความเสียหายจะเพิ่มเป็น 8 แสนล้านบาท ถ้าล็อกดาวน์ไปถึงเดือน ก.ย. ปีนี้ความเสียหายจะเกิน 1 ล้านล้านบาท”
ชงขยายล็อกดาวน์แยกเซ็กเตอร์ :
สิ่งที่ กกร.จะหารือกันจะทำให้เห็นว่าผลได้-ผลเสียจากการใช้มาตรการต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ที่ผ่านมายอดผู้ติดเชื้อไม่ได้ลดลง มาตรการล็อกดาวน์ไม่ได้เกิดผลเลย ต้องวิเคราะห์ในเชิงลึกในแต่ละเซ็กเตอร์ว่าเป็นอย่างไร อาจเสนอให้ “ปรับใช้มาตรการล็อกดาวน์เซ็กเตอร์ต่าง ๆ” โดยแบ่งเป็นส่วน ๆ พร้อมเสนอแนวทางว่าแต่ละเซ็กเตอร์จะต้องทำอย่างไร
ชี้เหมาเข่ง ศก.พัง-สังคมเสื่อม :
ขณะเดียวกันเห็นว่าตอนนี้ภาคสังคมมีปัญหาหนัก ยิ่งล็อกดาวน์แบบนี้เป็นการเหมาเข่ง ภาคเศรษฐกิจจะยิ่งสาหัส
“ตอนนี้ประชาชนร้องเรียนเรามากขึ้นว่าไม่มีรายได้ ไม่มีของจะไปจำนำแล้ว ยังโชคดีที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังมีเงินทุนเหลือสามารถต่อไปได้ อุตสาหกรรมภาคส่งออกยังไปได้ ค่าเงินบาทอ่อน และปีนี้ภาคเกษตรยังดีอยู่ แต่ถ้ายิ่งล็อกดาวน์ธุรกิจที่ถูกปิดจะกระทบหนักมาก โดยเฉพาะซัพพลายเชน ลำบากกันไปทั่ว น่าห่วงว่าปัญหาสังคมจะรุนแรงขึ้น
“ขณะนี้สิ่งที่เราเร่งรัดคือที่รัฐบาลรับปากว่าจะจัดหาวัคซีน 150 ล้านโดส แต่วัคซีนไม่มาตามนัด ผิดเป้าไปเยอะมาก ที่จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนแบบปูพรม ก็ไม่สามารถทำได้ จะต้องช่วยกันคิดว่าจะไปหาวัคซีนจากที่ไหน อย่างไรได้บ้าง
เอกชนต้องดิ้นรนช่วยตัวเอง :
นายสนั่นกล่าวว่า ถึงตอนนี้ระบบสาธารณสุขกำลังสร้างความกังวลให้กับประชาชนทั่วประเทศ ภาคเศรษฐกิจเองก็กระทบมาก อย่างการท่องเที่ยวอาจไม่สามารถเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวได้มากขึ้นตามแผน หลังนำร่องภูเก็ตแซนด์บอกซ์ แล้วไม่สามารถจะเปิดแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อื่น ๆ ได้ ขณะเดียวกันโควิดลามภาคอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น จุดนี้น่าเป็นห่วง เพราะตอนนี้เศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับเครื่องยนต์ตัวเดียวคือผลิตเพื่อการส่งออก
“ตอนนี้ทุกคนวิ่งมาหาหอการค้าฯ ให้ช่วยเจรจากับรัฐบาล ว่าเมื่อไหร่วัคซีนจะเข้ามาในโรงงานอุตสาหกรรมได้เร็วกว่านี้ ขณะนี้โรงงานต่าง ๆ ต้องช่วยเหลือกันเอง เพราะโควิดมาใกล้ถึงตัวเราเองแล้ว เอกชนต้องดิ้นรนช่วยตัวเอง รอให้รัฐช่วยไม่ทันแล้ว”
ขณะเดียวกันจากที่แผนฉีดวัคซีนล่าช้า บวกกับโควิดกลายพันธุ์ การแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น ภาคเอกชนจึงพยายามรณรงค์ให้รัฐบาลนำชุดตรวจเชื้อโควิด (ATK) มาใช้ และเปิดทางให้เอกชนสามารถนำเข้ามาจำหน่ายได้ แก้ปัญหาระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ ตอนนี้ผู้ประกอบการจำนวนมากซื้อ ATK ไว้ตรวจเชื้อพนักงานกันเอง บางรายซื้อเป็นแสนชุดก็มี
ขยับเพดานหนี้ 65% :
นายสนั่นกล่าวว่า ในส่วนข้อเสนอเรื่องมาตรการเร่งการใช้จ่ายเงินกู้ 5 แสนล้านบาท อัดฉีดเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเยียวยา ทราบว่ารัฐกำลังจะเริ่มดำเนินการ อย่างไรก็ตาม กกร.มีข้อเสนอว่า หากจำเป็นต้องขยายเพดานก่อนี้สาธารณะก็ต้องทำ จากปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ในระดับ 58% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ใกล้เต็มเพดาน โดย กกร.อาจเสนอให้ขยายเพดานการก่อหนี้จากที่กำหนดไว้ 60% เพิ่มเป็น 65-70% ของ GDP เพื่อให้สามารถกู้หนี้สาธารณะได้เพิ่มหากมีความจำเป็น ซึ่งรัฐบาลบอกว่าจะกู้เพิ่มอีก 1.5 แสนล้านบาท จากวงเงินกู้ก้อนล่าสุด 5 แสนล้านบาท ซึ่งถ้ากู้เพิ่มอีก 1.5 แสนล้านบาท เท่ากับใกล้จะติดเพดานหนี้แล้ว หากขยับเพดานขึ้นไปอีกเป็น 65% ก็อาจกู้เพิ่มได้อีก 1-2 แสนล้านบาท
แนะอัดฉีด 1 ล้านล้านบาท :
ทั้งนี้ หากรัฐบาลขยายระยะเวลามาตรการล็อกดาวน์ไปถึงเดือน ก.ย. ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งกระทบการจ้างงาน จำเป็นต้องช่วยเหลือเยียวยากลุ่มแรงงาน ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ การช่วยเหลือผู้ประกอบการ
โดยรวมแล้วรัฐบาลจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินอีกจำนวนมาก จากการประเมินถ้าล็อกดาวน์ถึงเดือน ก.ย. อาจต้องใช้เงินอัดฉีดในไตรมาส 4 เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท เป็นก้อนใหม่ที่ต้องเพิ่มจากเงินกู้เดิม และในปี 2565 ครึ่งปีแรกอีก 5 แสนล้านบาท สรุปโดยรวมต้องใช้เงินช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มประมาณ 1 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ติดลบอยู่แล้ว
SMEs ร้านอาหารปิดตัวแสนราย :
ด้านนางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า หากรัฐขยายเวลาล็อกดาวน์ออกไป ธุรกิจร้านอาหารจะถูกกระทบหนักมากขึ้น จากปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารเหลือรายได้เพียง 20-30% คิดเป็นรายรับจริง ๆ แค่ 10-20% เท่านั้น ขณะเดียวกันพบว่ายอดขายในร้านอาหารต่าง ๆ ผ่านช่องทางดีลิเวอรี่ลดเหลือ 40-100 บาท/บิล บางร้านมีรายได้เพียง 300-500 บาท/วัน ไม่เพียงพอต่อต้นทุนค่าใช้จ่าย จากกำลังซื้อที่ลดลง และการล็อกดาวน์ที่ยาวนานทำให้ประชาชนระมัดระวังการจับจ่ายมากขึ้น
“ร้านอาหารที่เคยขายได้หลักแสนบาทต่อวันเหลือหลักพัน ร้านค้ารายย่อยเหลือรายได้เพียงหลักร้อยบาทต่อวัน เท่ากับร้านอาหารกำลังนับถอยหลังปิดกิจการอีกเป็นจำนวนมาก หากภาครัฐไม่มีมาตรการที่ชัดเจนให้ผู้ประกอบการตั้งรับ”
แม้ความเสียหายในธุรกิจร้านอาหารเป็นเรื่องยากที่จะประเมิน เพราะผู้ให้บริการมีหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าจะมีร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบและปิดตัวลงจากการแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหวราว 70% จากผู้ประกอบการ SMEs ที่ประเมินว่าจะต้องปิดตัวกว่า 1 แสนราย
ดีลิเวอรี่ร่วมคนละครึ่ง :
ทั้งนี้ ขณะนี้ทางสมาคมได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการเจรจากับธนาคารในการให้กลุ่มร้านอาหารเข้าถึงสินเชื่อต่าง ๆ มากขึ้น ขณะที่มาตรการพักต้น-พักดอกที่ทางธนาคารออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการก็สามารถช่วยเหลือได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดียังอยากให้ภาครัฐเร่งพิจารณาการใช้ โครงการคนละครึ่ง ในแพลตฟอร์ม food delivery โดยเร็วที่สุด ไม่ใช่เดือนตุลาคมตามที่ สศค.แถลงข่าว ในขณะที่ ศบค.และแพทย์ต้องการให้ประชาชนอยู่บ้าน จึงควรจะอำนวยความสะดวกให้เร็วที่สุด กับประชาชนที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลถึง 21 ล้านคน
นายกำธร ศิลาอ่อน กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการผลิตและการเงิน บมจ.เอส แอนด์ พี ซินดิเคท เจ้าของร้านอาหารและเบเกอรี่ภายใต้แบรนด์ “เอสแอนด์พี” เปิดเผยว่า หากภาครัฐขยายมาตรการล็อกดาวน์ออกไปถึงเดือน ก.ย. เศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ได้รับผลกระทบมาต่อเนื่อง จะยิ่งลากยาวฟื้นตัวกลับมาได้ยากมากขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจทั้งรายเล็ก-รายใหญ่ก็จะได้รับผลกระทบ จากก่อนหน้านี้ปรับตัวไปเช่าพื้นที่ครัวนอกห้างเพื่อสร้างรายได้ให้อยู่รอด เช่นเดียวกับบริษัทมีร้านในศูนย์การค้ากว่า 60% ต้องปิดให้บริการ กระทบยอดขาย แม้จะเปิดช่องทางสำหรับขายดีลิเวอรี่ แต่สัดส่วนยอดขายถือว่าน้อยถ้าเทียบกับช่วงปกติ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 15 สิงหาคม 2564