"หนี้" กำลังท่วมโลก เพราะ "โควิด-โลกร้อน"
ผู้เชี่ยวชาญด้านสถานะทางการเงินภาครัฐหลายคนเชื่อว่า อีกไม่นานหลายประเทศอาจประสบปัญหาหนี้สาธารณะถึงขนาดต้อง "พักชำระหนี้" กันระนาว
จุดเริ่มต้นของปัญหาหนี้สินทั่วโลกครั้งนี้ มีต้นตอจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับหลายประเทศทั่วโลกมาเป็นปีที่ 2 แล้ว ทั้งเพื่อแก้ปัญหาและฟื้นฟูสภาวะเศรษฐกิจ หลายประเทศใช้วิธีการกู้ยืมเพิ่มขึ้นมหาศาลในปีที่ผ่านมา
“ยานุส เฮนเดอร์สัน” บริษัทบริหารสินทรัพย์สัญชาติอังกฤษ ประเมินว่าสิ้นปี 2020 ที่ผ่านมา ปริมาณหนี้สาธารณะรวมกันทั่วโลกพุ่งสูงถึง 62.5 ล้านล้านดอลลาร์ ในเวลาเดียวกันวิกฤตใหม่ย่างกรายเข้ามาให้เห็นชัดเจนมากขึ้น นั่นคือปัญหา “ภาวะโลกร้อน” ที่ก่อให้เกิดไฟป่า ฝนตกหนัก น้ำท่วมและดินถล่มที่สร้างความเสียหายให้กับนานาประเทศอย่างรุนแรงในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา
รัฐบาลไม่เพียงต้องใช้งบประมาณมหาศาลบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ยังต้องทุ่มเงินอีกมากกว่าเพื่อดำเนินการป้องกันภัยธรรมชาติในอนาคต เช่น น้ำท่วมใหญ่ในเยอรมนีเมื่อเร็ว ๆ นี้ ส่งผลให้รัฐบาลต้องตั้งกองทุนฟื้นฟูมูลค่าถึง 30,000 ล้านยูโร
หรือกรณีสิงคโปร์ ที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณถึง 72,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับป้องกันระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น
เมื่อต้นปีนี้ “แบงก์ออฟอเมริกา” ประเมินว่า เฉพาะเพื่อจัดการกับปัญหานี้จะทำให้ทั่วโลกมีหนี้เพิ่มมากขึ้น 54-69 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2100 ถือเป็นปริมาณมหาศาลเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของทั้งโลก ที่มีมูลค่าราว 80 ล้านล้านดอลลาร์เท่านั้น
หนี้สาธารณะพอกพูนมากขึ้นเท่าใด ผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินและการคลังแต่ละประเทศยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น
“เอฟทีเอสอี รัสเซลล์” บริษัทจัดทำดัชนีอิสระระดับโลกเตือนว่า ผลกระทบจากปัญหาหนี้จะส่งผลต่อประเทศที่เป็นหนี้ภายในไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า
“จูเลียน มุสซาวี” ผู้จัดการอาวุโสแผนกการลงทุนที่ยั่งยืนของเอฟทีเอสอี เชื่อว่า การลดอันดับความน่าเชื่อถือต่อสถานะหนี้ของประเทศที่เชื่อมโยงจากปัญหาโลกร้อนจะเกิดขึ้นกับหลาย ๆ ประเทศในเร็ว ๆ นี้เป็นครั้งแรก
รายงานของเอฟทีเอสอี บ่งชี้ว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ประเทศกำลังพัฒนาอย่าง มาเลเซีย, แอฟริกาใต้กับเม็กซิโก ตลอดจนประเทศพัฒนาแล้วอย่าง อิตาลีอาจต้อง “พักชำระหนี้” ภายในปี 2050 แม้ประเทศกำลังพัฒนาจะเปราะบางต่อปัญหาภาวะโลกร้อน แต่ประเทศพัฒนาแล้วใช่ว่าจะหลีกเลี่ยงผลกระทบเรื่องนี้ได้
และ “ซีนาริโอ” ที่เลวร้ายรองลงมา ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลแต่ละประเทศ เชื่องช้าต่อการตอบสนองปัญหาโลกร้อน ก็จะได้เห็นประเทศ ออสเตรเลีย, โปแลนด์, ญี่ปุ่น และอิสราเอล ตกอยู่ภายใต้ภาวะเสี่ยงที่จะต้องพักชำระหนี้ หรือถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศลง
ผลศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับผลวิจัยอีกชิ้นที่จัดทำโดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง รวมทั้งมหาวิทยาลัย เคมบริดจ์ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ภายในปี 2030 ราว 63 ประเทศ หรือครึ่งหนึ่งของประเทศที่ถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดยเอสแอนด์พี โกลบอล, มูดีส์ อินเวสเตอร์ และฟิทช์ อาจถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงเพราะปัญหาโลกร้อน
ประเทศอย่าง จีน , ชิลี, มาเลเซีย และเม็กซิโก จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด จะถูกดาวน์เกรดลง 6 ขั้น ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ขณะที่สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, แคนาดา, ออสเตรเลีย, อินเดีย และเปรู อาจถูกดาวน์เกรดลง 4 ระดับ
การถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือ หมายถึงต้นทุนในการกู้ยืมเพื่อระดมเงินทุนจากตลาดระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น
งานวิจัยชิ้นนี้วิเคราะห์ไว้ว่า เมื่อถึงสิ้นศตวรรษ คือในปี 2100 ประเทศที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเหล่านี้ จำเป็นต้องแบกรับภาระต้องชำระหนี้รายปีเพิ่มมากขึ้นอีกปีละ 137,000 ล้านดอลลาร์ ถึง 205,000 ล้านดอลลาร์
หากไม่มีชำระก็ต้องเข้าสู่กระบวนการพักชำระหนี้กัน เท่านั้นเอง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 19 สิงหาคม 2564