ธุรกิจร้านอาหาร ขอปันเค้กงบซื้ออาหารให้ผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน เชื่อมีเม็ดเงินสะพัดก้อนใหญ่
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดทำมาตรการป้องกันการระบาดโควิด-19 สำหรับธุรกิจร้านอาหารที่ต้องการกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง โดยอย่างน้อยขอกลับมาเปิดในรูปแบบให้ลูกค้าสามารถซื้อกลับบ้านเองได้ด้วย ไม่จำกัดการซื้อผ่านช่องทางดิลิเวอรี่เท่านั้น รวมถึงอยากให้อนุญาตนั่งรับประทานอาหารที่ร้านได้เริ่มต้นอาจกำหนดให้รับลูกค้าจำกัดที่ 25% ของพื้นที่รวมก็ยังดี เพื่อดึงบรรยากาศให้ทยอยฟื้นกลับมา
โดยขณะนี้มองเห็นโอกาสที่ผู้ประกอบการร้านอาหารจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ผ่านการสนับสนุนของรัฐบาล เนื่องจากขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโควิดในระดับสูง รัฐบาลจีงจัดระบบแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ในกรณีผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการน้อย โดยต้องการให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สั่งซื้ออาหาร 3 มื้อ ส่งให้ผู้ป่วยที่กักตัวในบ้าน ผ่านการสั่งซื้ออาหารในร้านอาหารของแต่ละพื้นที่แต่ละเขต
โดยเฉพาะจังหวัดควบคุมสูงสุดทั้ง 29 จังหวัด เพื่อให้ร้านอาหารมีรายได้ประคับประคองกิจการและการจ้างงานในช่วงวิกฤตโควิด ที่ได้รับผลกระทบต่อยอดขายลดลง เนื่องจากมาตรการควบคุมโควิดของภาครัฐ ซึ่งเชื่อว่าหากรัฐบาบสามารถสนับสนุนงบประมาณในแนวทางดังกล่าวได้ จะช่วยให้ร้านอาหารมีกระแสเงินสดและหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วย
นางฐนิวรรณ กล่าวว่า สำหรับมาตรการป้องกันโควิดของสถานประกอบการอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่
1).ให้สถานประกอบการอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการร้านอาหาร เปิดให้นั่งรับประทานที่ร้านได้ (ยกเว้นสถานประกอบการที่มีใบอนุญาตประเภทผับ บาร์ ไนท์คลับ ดิสโก้ และคาราโอเกะ) โดยอนุญาตให้นั่งร่วมกลุ่มได้สูงสุด 2 คน ยกเว้นกรณีที่มาในครอบครัวเดียวกัน แต่ต้องไม่เกิน 5 คน ซึ่งลูกค้าจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว (เกินสองสัปดาห์นับจากวันฉีดล่าสุด) หรือหายจากโรคโควิด-19 และแสดงผลการทดสอบเป็นลบ ก่อนเข้ารับประทานในร้านจากผู้ให้บริการทดสอบโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุข มีเด็กในการดูแลไม่เกิน 16 ปี
2).กรณีที่สถานประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่ม ไม่สามารถตรวจสอบสถานะของลูกค้าว่า มีคุณสมบัติตามข้างต้นได้ อนุญาตให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้น
3).ใช้แอพพลิเคชั่นหมอพร้อม เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบสิทธิ์ในการรับประทานอาหารในร้าน
4).อนุญาตให้ร้านอาหารในศูนย์อาหาร หาบเร่และร้านกาแฟที่เป็นพื้นที่เปิดโล่ง หรือมีอากาศถ่ายเทตามธรรมชาติ สามารถให้บริการลูกค้าที่ได้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีนได้ และให้นั่งรับประทานอาหารในบริเวณเหล่านี้ได้ แต่ให้นั่งได้ไม่เกิน 2 คนต่อโต๊ะ
5).กำหนดให้พนักงานทุกคนอยู่ในระบบได้รับการทดสอบแบบรวดเร็วและง่ายดาย (ATK) โดยไม่คำนึงถึงสถานะการฉีดวัคซีน ภายใต้การควบคุมดูแลที่นำโดยนายจ้าง รวมถึงพนักงานนอกเวลาและเต็มเวลา ตลอดจนพนักงานตามสัญญาที่เป็นบุคคลภายนอก อาทิ พนักงานทำความสะอาดด้วย นางฐนิวรรณ กล่าวต่อว่า มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น
6).พนักงานทุกคนที่ทำงานในภาคส่วนที่มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างสมบูรณ์แล้วทุกคนเท่านั้น
7).ร้านอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดต้องปฎิบัติมาตรการต่อไปนี้ ได้แก่ ทำการคัดกรองอุณหภูมิ เนื่องจากวัคซีนครอบคลุมในระดับสูงและมีมาตรการเฝ้าระวังที่เพิ่มขึ้น ห้ามขายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารและเครื่องดื่มทุกแห่งหลังเวลา 22.00 น. ทุกวัน
รวมถึงการบริโภคที่บริเวณเครื่องดื่มกลางแจ้ง ในเก้าอี้หรือโต๊ะอาหารด้วย หากมีการจัดงานที่จะทำให้คนอยู่ร่วมกันจำนวนมาก อาทิ งานแต่งงาน จะต้องปฏิบัติตามมาการป้องกันโควิดอย่างเข้มข้น
8).ร้านอาหารจะต้องจัดคิวรับลูกค้า หากลูกค้ามีจำนวนมากต้องทยอยแบ่งคิว และจัดพื้นที่ในการรอคิวให้ลูกค้า รวมถึงพนักงานจัดส่งกรณีรอรับอาหารด้วย นำระบบดิจิทัลมาใช้ในการสั่งอาหารล่วงหน้า และการชำระเงินเอง
9).ติดป้ายที่ชัดเจนเพื่อเตือนลูกค้าให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดการจัดการที่ปลอดภัย จัดให้มีการ ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่บริการเพื่อให้การสื่อสารที่ชัดเจนแก่ลูกค้าเกี่ยวกับ มาตรฐานความปลอดภัย และ
10).การบังคับใช้มาตรการอย่างเข้มงวดต่อการละเมิดมาตรการดังกล่าวของร้านอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อป้องกันการรวมกลุ่ม หรือการกลุ่มที่มีขนาดเกินที่อนุญาต การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลัง 22.30 น. และการให้บริการความบันเทิงและสังสรร
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 24 สิงหาคม 2564