"ไต้หวัน" เปิด 5 จุดอ่อน "ไทย" คุมโควิดระลอกสามไม่อยู่
ไต้หวัน เปิด 5 จุดอ่อน "ไทย" คุมโควิดระลอกสามไม่อยู่ พร้อมเตือนว่าเศรษฐกิจทรุด และความไม่พอใจที่สะสมที่มีต่อรัฐบาล น่ากลัวกว่าไวรัสหากมองในระยะยาว
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย นับตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.2563 จนถึงขณะนี้ (ข้อมูลวันที่ 23 ส.ค.2564)มียอดผู้ป่วยสะสมทะลุ 1 ล้านราย เสียชีวิตกว่า 9,500รายจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อในระลอกสาม คิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% สะท้อนสถานการณ์หนักหน่วงกว่าระลอกที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้
“ชิต ลี” (Chit Lee) หรือเต๋อ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารบริษัท วีที กรุ๊ป(VISION THAI) ในฐานะที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์และการตลาดต่างประเทศ (ประเทศไทย) ของสถาบันเพื่ออุตสาหกรรมสารสนเทศแห่งไต้หวัน (ไอไอไอ) วิเคราะห์สาเหตุที่รัฐบาลไทยยังคุมยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ยากลำบาก แม้ได้ออกมาตรการป้องกันเข้มงวดทั้งจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัดขยายเวลาเคอร์ฟิว และการปิดห้างสรรพสินค้าแล้วก็ตาม ซึ่งเต๋อ กล่าวว่าการต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์เดลตาถือว่าเป็นสงครามที่แท้จริงสำหรับไทยขอสรุปสาเหตุหลักๆ 5 ข้อดังนี้
สาเหตุข้อที่1 :โควิดสายพันธุ์เดลต้า
ระยะเวลานี้ สถานการณ์โควิดในแต่ละประเทศมีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับไทยก็เผชิญโควิดสายพันธุ์เดลตาแม้แต่สหรัฐที่มีวัคซีนเพียงพอ และฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรแล้ว 70%แต่ยอดผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 1 แสนรายต่อวันในสัปดาห์นี้ ซึ่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) ชี้ว่าสายพันธุ์เดลตาแพร่เชื้อง่าย กระจายเร็วกว่าเดิมกว่า 2 เท่า
แต่บางคนอาจสงสัยว่า ถ้าปฏิบัติตามขั้นตอนการกักตัวและคัดกรองในการเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว ทำไมสายพันธุ์เดลตายังเข้ามาในประเทศไทยได้ ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับสาเหตุข้อที่ 2
สาเหตุข้อที่2 : แรงงานข้ามชาติ
ช่องโหว่สำคัญของโควิดระลอก 3 ของไทย คือ โรงงาน แคมป์ก่อสร้าง และตลาดสดแม้ว่าแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่จะเดินทางเข้าประเทศแบบถูกกฎหมาย แต่กลับไม่ได้ทำการตรวจคัดกรองและกักตัวอย่างจริงจัง ทำให้เกิดสายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาดรวดเร็ว
อย่างเคสดังที่สุด เกิดขึ้นในโรงงานแคลคอมพ์ของไต้หวันที่จังหวัดเพชรบุรีมียอดผู้ติดเชื้อสูงถึง 5,207 ราย จำนวนนี้นอกจากแรงงานไทยแล้ว ยังเป็นแรงงานต่างด้าว3,593 คนคิดเป็น 2.2 เท่าของแรงงานไทยนี่ยังมีคลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้างจำนวนมากที่ไม่มีการสรุปรายชื่อ และกักตัวจริงจังทำให้เกิดแพร่ระบาดไวรัสรวดเร็ว
สาเหตุข้อที่ 3 :เรือนจำติดเชื้อต่อเนื่องระลอก 3
ยังเกิดจากการระบาดภายใน“เรือนจำ” เพียงวันเดียวมียอดผู้ติดเชื้อกว่า6,000รายจนถึงตอนนี้ก็ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่เรื่อยๆ แล้วทำไมโควิด-19ในเรือนจำถึงคุมไม่อยู่ ซึ่งบันทึกข้อความของกรมราชทัณฑ์ระบุว่า งบประจำปี 2564 สำหรับดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคโควิด-19ในเรือนจำและทัณฑสถาน 142 แห่งทั่วประเทศไทย เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 750,000 บาท เท่ากับว่า เรือนจำหนึ่งแห่งจะได้งบประมาณราว 3,000-10,000 บาท
การที่รัฐบาลเพิ่มงบ 311 ล้านบาทจากเดิมถึง 415 เท่า แต่การจัดสรรงบประมาณเพื่อนำไปใช้จริงก็ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ดังนั้นรัฐบาลไทยอาจจะยังมีมาตรการป้องกันอื่น ๆ ที่จัดสรรงบประมาณไว้ไม่เพียงพอ
สาเหตุข้อที่4 :นโยบายล่าช้า ไม่ชัดเจน
ช่วงการระบาดระลอก 3 เกิดขึ้นใกล้กับช่วงก่อนวันสงกรานต์ ซึ่งรัฐบาลตอบสนองต่อสถานการณ์ล่าช้าจนเกินไป จนวินาทีสุดท้ายถึงค่อยประกาศระงับกิจกรรมสังสรรค์และดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในช่วงวันหยุดยาว แต่ก็สายเกินไป ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นในช่วงวันหยุดยาว
นอกจากนี้ ขณะที่รัฐบาลกำลังต่อสู้กับระลอก 3 ก็มีการออกมาตรการแบบเช้าสั่งเย็นเปลี่ยน ซึ่งในช่วงเวลานี้ได้เกิดขึ้นหลายครั้ง อาทิ อยู่ๆก็ประกาศคลายล็อกบางส่วน ให้นั่งทานในร้านได้ ร้านนวดสปากลับมาเปิดได้ แต่แล้วอยู่ๆก็สั่งปิดและยกระดับการป้องกัน ทำให้ผู้ประกอบการต่างโอดครวญเพราะไม่ทันตั้งตัว และต้องสูญเสีย ขาดทุนไปเป็นจำนวนมาก
สาเหตุข้อที่5 :ปัญหาเรื่องวัคซีน
ไวรัสกลายพันธุ์อยู่เรื่อย ๆ เพื่อต่อต้านวัคซีนแม้วัคซีนที่ผ่านการรับรองทั้งหมดบนโลกในปัจจุบันจะมีประสิทธิภาพป้องกันไม่ให้อาการทรุดหนัก แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
แม้ว่าการฉีดวัคซีนจะเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนก.ค. จากเฉลี่ยวันละ 250,000 โดส เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยวันละ 400,000 โดส ซึ่งถ้ายึดตามอัตราความเร็วนี้ และถ้าวัคซีนไม่ขาดแคลน 70% ของประชากรที่จะได้ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม อย่างเร็วที่สุดก็คือ ก.พ.ปีหน้า ซึ่งก็ถือว่ายังช้าเกินไป
ในตอนท้าย เต๋อกล่าวว่าเศรษฐกิจทรุด และความไม่พอใจที่สะสมที่มีต่อรัฐบาล น่ากลัวกว่าไวรัสหากมองในระยะยาว นอกจากไวรัสแล้ว ปัญหาการว่างงงานที่เกิดจากโรคระบาด ภาวะเศรษฐกิจ และความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนนั้นถือเป็นสงครามที่ท้าทายกว่ามาก ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อความก้าวหน้าของประเทศไทย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 24 สิงหาคม 2564