ต้นทุนแฟกตอรี่แซนด์บอกซ์พุ่ง เอกชนดิ้นขอรัฐช่วยค่าใช้จ่าย
"แฟกตอรี่แซนด์บอกซ์" ทำอุตสาหกรรมอาหารป่วน แบกต้นทุนค่าตรวจ-ตั้งโรงพยาบาลสนาม-hospitel เพิ่ม บางโรงงานถอดใจปิดกิจการ เหตุค่าทำแซนด์บอกซ์สูงกว่ารายได้ส่งออก สภาอุตสาหกรรมฯยื่น 4 ข้อเสนอ คุมโควิดในโรงงาน ขอรัฐสนับสนุนค่าชุดตรวจ ATK ตั้งโรงพยาบาล/ที่กักตัว ฉีดวัคซีน
แม้ว่าการติดเชื้อโควิด-19 รายวันที่มีแนวโน้มที่จะลดต่ำลงกว่าวันละ 20,000 คน รัฐบาลได้เสนอให้ภาคการผลิตและส่งออกจัดทำโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน หรือ factory sandbox ควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันควบคุมในพื้นที่เฉพาะ หรือ bubble & seal
โดยมีหลักการสำคัญอยู่ที่การป้องกันโรคก่อนที่จะเกิดการระบาดและการควบคุมโรค เมื่อเกิดการระบาดแล้วก็เพื่อปกป้องภาคผลิตและส่งออกที่มีมูลค่าสูงกว่า 700,000 ล้านบาท มีการจ้างงานกว่า 3 ล้านตำแหน่งให้สามารถดำเนินการต่อไปได้
ทว่าโครงการนำร่องดังกล่าว แม้จะเป็นโครงการโดยสมัครใจสำหรับโรงงานที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป แต่กลับประสบปัญหาการขาดการสนับสนุนทางด้านการเงินจากรัฐบาล เนื่องจากการจัดทำ factory sandbox และ bubble & seal ของโรงงานมีภาระ “ต้นทุน” ค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าชุดตรวจ ATK การตรวจ RT-PCR และการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม
โรงงานอาหารถึงขั้นยอมปิดตัว :
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต (PFC) หอการค้าไทย กล่าวว่า จากที่ได้ประชุมร่วมกับสมาชิกกลุ่มอาหารเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในโรงงาน พบโรงงานอาหารส่วนใหญ่ปฏิบัติตามมาตรการ bubble & seal แล้ว แต่การจะปิดโรงงานหรือไม่ถูกปิดนั้น “ขึ้นอยู่กับคำสั่งของเจ้าหน้าที่จังหวัดนั้น ๆ” ส่วนการทำ factory sandbox นั้นมีการประเมินผลกระทบผู้ประกอบการแบ่งเป็นหลายกรณีคือ
1) โรงงานที่ไม่ปิดโรงงานและดำเนินมาตรการ bubble and seal โดยใช้ตรวจชุด ATK ตรวจสอบพนักงานทุกสัปดาห์ พบปัญหาว่า จะต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวมาก โดยผลประกอบการหากหักจากค่าใช้จ่ายในการทำอาจขาดทุนได้ โดยเฉพาะในภาวะโควิดที่วัตถุดิบต่าง ๆ มีการขึ้นราคา ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น ยิ่งทำให้อาจเกิดภาวะขาดทุนได้มาก
2) โรงงานที่ถูกสั่งปิดโรงงาน ปัญหาคือ เสียโอกาสในการดำเนินการทางธุรกิจ ขณะที่ค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ยยังคงดำเนินต่อไม่ได้หยุดตามการปิดโรงงาน และอาจโดนปรับจากทางคู่ค้าหากไม่สามารถส่งมอบสินค้าตามกำหนด
3) โรงงานที่ยอมถูกสั่งปิดโรงงาน เนื่องจากไม่สามารถสู้ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามมาตรการได้ แม้ว่าจะพยายามปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ “สูงเกินกว่ารายได้” ที่ผู้ประกอบการจะรับได้ ส่งผลให้ต้องยอมปิดโรงงานและหยุดการผลิตลง ซึ่งกลุ่มนี้อาจต้องส่งเอกสารขอโทษไปยังทางคู่ค้าและเจรจากับทางเจ้าหนี้ด้วย
“มาตรการ factory sandbox เป็นมาตรการที่ดี หากปฏิบัติได้จริงจะส่งผลดีต่อโรงงานและการส่งออก แต่ปัจจุบันปฏิบัติได้เฉพาะกิจการที่มีความพร้อมด้านการเงิน เพราะต้นทุนในการจัดการมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทางผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กยังอาจจะไม่เหมาะ ไม่พร้อม ดังนั้นภาครัฐจึงควรเข้ามาสนับสนุนงบประมาณ อีกทั้งมาตรการดังกล่าวอาจเหมาะกับโรงงานที่เพิ่งเริ่มติดเชื้อโควิด-19 เพราะเชื่อได้ว่ามาตรการทั้งหมดที่ออกมานั้น ปัจจุบันโรงงานส่วนใหญ่ปฏิบัติแล้ว”
นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังมีความกังวลว่า “ระยะยาวจะต้องทำ bubble and seal ไปอีกนานเท่าไหร่” ด้วยเกรงว่า โรงงานอาจจะหมดทุนเสียก่อน ยกตัวอย่างอุปสรรคสำคัญของการเข้าร่วมโครงการ factory sandbox เช่น หากดำเนินการตรวจ RT-PCR 100% เพื่อแยกผู้ป่วย-รักษาได้ทันที เป็นเรื่องยาก เนื่องจากพนักงานมีจำนวนมาก การตรวจวิธีนี้จะใช้เวลานานและหาสถานที่ยาก เพราะโรงพยาบาลไม่ค่อยรับตรวจ RT-PCR
ส่วนการดำเนินการตรวจแบบ ATK ทุกสัปดาห์ก็มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ราคาของชุดตรวจ ATK อยู่ระหว่างประมาณ 200-300 บาท เมื่อคิดต่อหัวพนักงานใน 1 เดือน ตรวจทุกสัปดาห์ค่าใช้จ่ายเป็นหลักแสน อีกทั้งการหาชุดตรวจ ATK ปริมาณมากให้เพียงพอต่อพนักงานก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ยังไม่นับรวมเรื่องความแม่นยำในการใช้ชุดตรวจ ATK อาจไม่ 100% ด้วย
กระอักต้นทุน Factory Sandbox :
ทั้งนี้ที่ประชุมกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สอท.ได้จัดทำประมาณการต้นทุนค่าใช้จ่ายการทำ factory sandbox สำหรับโรงงานที่มีพนักงาน 500 คน แบ่งเป็น
1) ค่าตรวจ RT-PCR คนละ 1,000 บาท รวม 500,000 บาท
2) ค่าตรวจสอบ ATK ทุกสัปดาห์ชุดละ 200 บาท ถ้าตรวจสัดส่วน 150 คนเฉลี่ยเดือนละ 120,000 บาท
ส่วนขั้นตอนการทำ bubble and seal (กรณีที่ยังไม่ติดเชื้อ) ถ้าเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาวเฉลี่ยเดือนละ 120,000 บาท แต่ถ้าเช่าโกดัง-สร้างห้องน้ำก็จะมีค่าใช้จ่ายตามทำเลและปัจจัยอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีค่าจัดสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอุปกรณ์ที่นอน อุปกรณ์ทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
ส่วนขั้นตอนการแยกผู้ป่วย ทำ factory isolation ถ้าเป็น hospitel ค่าใช้จ่าย 1,500 บาทต่อคนต่อวัน ถ้าทำ 5% ของ 500 คนหรือเท่ากับ 25 คนรวม 525,000 บาท แต่กรณีที่ทำ factory isolation หมายความว่า แยกให้พักในโรงงานที่มีสถานที่อยู่แล้ว ค่าใช้จ่าย 10,000 คนต่อเตียง ถ้าสำหรับคน 5% หรือ 25 จาก 500 คนรวม 250,000 บาท และค่าอาหารคนละ 300 บาทต่อวันรวม 14 วันเป็น 105,000 บาท รวมทั้งสองด้านเป็น 355,000 บาทในครั้งแรก หากมีผู้ติดเชื้อ 5% ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าชุดตรวจ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากำจัดขยะติดเชื้อ ค่ายา ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่น ๆ
ขณะที่หลักปฏิบัติให้ส่งผู้ป่วยเข้าสถานพยาบาลไม่ได้สามารถทำได้ทั้งหมด ด้วยเหตุที่สถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยมีจำนวนจำกัด ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ การจัดให้มี FAI ไม่ต่ำกว่า 5% ใน hospitel, โรงพยาบาลสนาม และ ICU พบว่า 1) สถานที่สำหรับแยกกักตัวผู้ติดเชื้อ factory isolation ใช้เวลาสร้างนานขึ้นอยู่กับขนาดที่ต้องการรองรับผู้ติดเชื้อและต้นทุนการสร้าง factory isolation สูงคิดอัตราเฉลี่ยต่อการสร้างเตียงละ 10,000 บาท มีค่าใช้จ่ายในการดูแลพนักงานที่ติดเชื้อ เช่น ค่าอาหาร ค่ายา ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่ากำจัดขยะติดเชื้อจากผู้ป่วย และอื่น ๆ ทั้งยังต้องจัดสรรพนักงานมาดูแลพนักงานที่ติดเชื้อแยกด้วย
สถานที่ hospitel มีจำนวนจำกัด เพราะ “ต้องได้รับการอนุมัติ” ส่วนใหญ่จะไม่รับผู้ป่วยในปริมาณมาก และจะไม่รับผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการหนัก ทั้งอุปกรณ์การแพทย์บางอย่างขาดแคลน เช่น เครื่องวัดออกซิเจนมีการใช้วนซ้ำ มีค่าใช้จ่ายสูงเฉลี่ย 1,500 บาทต่อคนต่อวัน โรงงานที่จะเช่าโรงแรมต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 30,000-50,000 บาทต่อวัน ต้องดูแลค่าอาหารพนักงานอีกวันละ 300 บาทต่อคน
แต่หากไปเช่าสถานที่อื่น เช่น โกดัง จำเป็นต้องสร้างห้องน้ำให้พนักงาน ซึ่งต้องใช้เวลา 1 เดือน เท่ากับต้องเสียค่าเช่าเปล่า 1 เดือนเพื่อเข้าไปก่อสร้างกว่าพนักงานจะเข้ามาอยู่ได้ ทางออกจึงต้องหาที่พักในโรงงาน
เช่นเดียวกับสถานที่สำหรับแยกกักตัวผู้ติดเชื้อ หรือ community isolation ศูนย์พักคอยหรือโรงพยาบาลสนามในชุมชน ที่จะเป็นทางออกแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่สามารถสร้าง factory isolation ได้
ทางเอกชนขอเสนอให้สามารถรวมการกักตัวของผู้ติดเชื้อในโรงงานขนาดขนาดกลางและขนาดเล็กในรูปแบบ CI แต่อุปสรรคของการทำ CI community isolation คือ ต้องขอประชาพิจารณ์ของชุมชนก่อน การจะนำ วัด โรงเรียนมาทำเป็นศูนย์พักคอย จะต้องขอความเห็นจากชุมชนก่อน โดย “บางชุมชนก็ไม่ยินยอมให้จัดตั้ง”
พร้อมกันนี้ภาคเอกชนเสนอให้รัฐดำเนินการเร่งฉีดวัคซีนให้แรงงาน เพราะปัจจุบันการกระจายวัคซีนของรัฐยังเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง ปริมาณวัคซีนของรัฐอาจยังมีไม่มากเพียงพอสำหรับพนักงาน 100%
“bubble and seal เป็นระบบที่มีต้นทุนสูง และเรายังมองไม่เห็นจุดจบ หากรัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนจะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ให้ความร่วมมือและใช้มาตรการนี้ได้มากขึ้น แต่ไม่ควรเหวี่ยงแหหรือเหมารวมทุกกิจการ ควรเริ่มจากที่พร้อมก่อนและต้องเร่งเรื่องวัคซีน ซึ่งเป็นทางออกของปัญหาทั้งหมด รวมไปถึงข้อเสนอด้านอื่น อาทิ การลดให้สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้ 100%” นายวิศิษฐ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ หอการค้าไทย กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สอท. และประธานหอการค้า จ.สมุทรสาคร จะจัดสัมมนาออนไลน์ให้ความรู้ภาคเอกชนในหัวข้อโมเดลธุรกิจอาหารและ factory sandbox คุมโควิด-ดันส่งออก
ทั้งนี้จำนวนโรงงานอาหารและเครื่องดื่มในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่องรวมจำนวน 1,501 แห่ง แบ่งเป็น โรงงานอาหาร 1,431 แห่ง แบ่งเป็น จ.นนทบุรี 142 โรง ปทุมธานี 341 โรง สมุทรสาคร 687 โรง และชลบุรี 241 โรง ส่วนโรงงานเครื่องดื่ม 70 แห่ง แบ่งเป็น จ.นนทบุรี 10 โรง ปทุมธานี 28 โรง สมุทรสาคร 11 โรง และชลบุรี 21 โรง
ส.อ.ท.แจมคุมโควิดโรงงาน :
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า วันนี้ (24 ส.ค. 2564) ส.อ.ท.ได้นำ “มาตรการควบคุมโควิดในภาคอุตสาหกรรม” ยื่นต่อ 4 กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนตามมาตรการที่เอกชนกำลังดำเนินการอยู่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ติดโควิดไม่ต้องปิดโรงงาน” โดยเป็นมาตรการที่เกี่ยวเนื่องและใกล้เคียงกับข้อเสนอโครงการ factory sandbox ของรัฐบาล ประกอบไปด้วย
1) มาตรการ bubble and seal สำหรับภาคอุตสาหกรรมต้องมีความชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และเป็นไปในแนวทางเดียวกันทุกพื้นที่ โดยให้สุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK สม่ำเสมอ 10% ของจำนวนพนักงานทุก 14 วัน โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายและให้พนักงานผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำสามารถกลับเข้ามาทำงานใน bubble ในโรงงานตามปกติ
ซึ่งชุดตรวจ ATK จะต้องมีราคาไม่เกิน 200 บาท และหากคำนวณตามที่รัฐกำหนดให้ทำจะพบว่า หากต้องตรวจ ATK ทุก 7 วันสำหรับ 60,000 โรงงาน มีแรงงานกว่า 3.7 ล้านคน รวมแล้วจะมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดสูงถึง 3,202 ล้านบาท/เดือน
2) สถานประกอบการที่มีพนักงาน 300 คนขึ้นไป เสนอให้กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้ง factory quarantine และ factory accommodation isolation โดยให้มีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนพนักงาน และเสนอให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งโรงพยาบาลแม่ข่ายในแต่ละพื้นที่ประกันสังคม เพื่อให้บริการโรงงานในพื้นที่ ณ จุดเดียว
เริ่มตั้งแต่การตรวจหาเชื้อไปจนถึงส่งต่อผู้ป่วยเข้าไปในระบบการรักษา เพื่อลดขั้นตอนในการหาโรงพยาบาล และในส่วนนี้โรงงานต้องแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนของเตียงถึง 10,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ เพิ่มเติมแล้วทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 3,700 ล้านบาท
3) สถานประกอบการที่มีพนักงานต่ำกว่า 300 คน ขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมจัดตั้ง community quarantine (CQ), community isolation (CI) (ศูนย์พักคอยและแยกกักตัว) ให้เพียงพอกับแรงงาน โดยให้มีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนพนักงานในพื้นที่
4) จัดสรรวัคซีนตามเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต โดยจัดสรรตามลำดับความสำคัญทางสาธารณสุข การป้องกันโรค และเศรษฐกิจใน 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่อายุ 40-59 ปี กลุ่มพนักงานในสถานประกอบการที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 50% จนต้องปิดกิจการ และกลุ่มพนักงานในอุตสาหกรรมสำคัญยิ่งยวด
“นี่ไม่ใช่การเรียกร้อง แต่เป็นข้อเสนอเพื่อระบบสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของแรงงานภาคอุตสาหกรรม ผมอยากให้รัฐบาลเข้าใจว่า นี่ไม่ใช่การร้องขอเงินจากรัฐ แต่เราร้องขอการสนับสนุนในสิ่งที่รัฐให้เราทำ ตอนนี้โรงงานจะไม่ไหวแล้ว ไม่อย่างนั้นถ้าโรงงานต้องปิดหยุดการผลิต ผลกระทบคือ การส่งออกและการขยายตัวของ GDP ที่ต้องลดลง” นายสุพันธุ์กล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 27 สิงหาคม 2564