"ข้อมูลธุรกิจ" สินทรัพย์มีค่าของรัฐบาลจีน
ข้อมูลธุรกิจ สินทรัพย์มีค่าของรัฐบาลจีน โดยล่าสุด จีน เริ่มโครงการปราบปรามแพลตฟอร์มเชิงพาณิชย์และบัญชีโซเชียลมีเดียที่โพสต์ข้อมูลด้านการเงินจีนในเชิงลบ ซึ่งถือเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเตือนว่า รัฐบาลจีนจะติดตามความเคลื่อนไหวของบรรดาบริษัทแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตที่มีข้อมูลผู้ใช้งานจำนวนมากและมีอิทธิพลต่อตลาด ซึ่งคำเตือนนี้ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า กระบวนการควบคุมอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตของจีนเริ่มต้นขึ้นแล้ว
ล่าสุด วานนี้ (30ส.ค.)จีน เริ่มโครงการปราบปรามแพลตฟอร์มเชิงพาณิชย์และบัญชีโซเชียลมีเดียที่โพสต์ข้อมูลด้านการเงินจีนในเชิงลบ ซึ่งถือเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจของประเทศ
สำนักงานกำกับดูแลด้านไซเบอร์สเปซของจีน (ซีเอซี) ออกแถลงการณ์ว่า โครงการดังกล่าวจะมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาการละเมิดข้อบังคับต่างๆ รวมถึงคำพูดในเชิงลบเกี่ยวกับตลาดการเงินของจีน ตลอดจนการตีความนโยบายภายในประเทศและข้อมูลทางเศรษฐกิจอย่างไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้ ผู้ที่ตีพิมพ์รายงานของสื่อต่างประเทศหรือข้อคิดเห็นที่มีการตีความประเด็นด้านการเงินของจีนอย่างไม่ถูกต้อง ถึงแม้จะไม่แสดงจุดยืนหรือมีการตัดสินชัดเจน ก็จะถูกปราบปรามเช่นเดียวกัน
ความเคลื่อนไหวนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อปลูกฝังสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยสำหรับความคิดเห็นของสาธารณชน ซึ่งสามารถนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและมั่นคงของเศรษฐกิจและสังคมของจีน ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากที่ซีเอซีออกร่างข้อกำหนดเพื่อควบคุมอัลกอริทึมที่บริษัทเทคโนโลยีใช้เพื่อแนะนำวิดีโอและเนื้อหาอื่นๆ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
เว็บไซต์และแพลตฟอร์มเชิงพาณิชย์ได้รับคำสั่งให้ตรวจสอบโพสต์ข้อมูลทางการเงินและปิดบัญชีที่ถือว่าละเมิดข้อกำหนดดังกล่าว ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานต่างๆ รวมถึง ผู้ดูแลระบบไซเบอร์สเปซ, กระทรวงการคลัง, ธนาคารกลาง ตลอดจนหน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์ การธนาคาร และการประกันภัย
ด้านบริษัทเทคโนโลยีและผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย ซึ่งรวมถึงเทนเซ็นต์, ไบต์แดนซ์, โถวเถี่ยว (Toutiao) และโต่วอิน (Douyin) หรือติ๊กต็อกเวอร์ชันจีน ให้คำมั่นว่า จะปฏิบัติตามกฎและควบคุมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลทางการเงินอย่างเคร่งครัด
การเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลปักกิ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Information Protection Law (พีไอพีแอล)ที่รัฐสภาจีนให้การรับรอง เพื่อกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นกับบริษัทที่เก็บข้อมูลและจัดการข้อมูลของผู้ใช้งาน
นอกจากนี้ หน่วยงานด้านการกำกับดูแลของจีนกำลังพิจารณาเรื่องการออกคำสั่งให้บริษัทจีนที่มีการจัดเก็บข้อมูลจำนวนมากและต้องการจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ ต้องเปิดทางให้บริษัทภายนอกสามารถจัดการและดูแลข้อมูล เป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่รัฐบาลจีนต้องการตรวจสอบบริษัทเอกชน
“แลรี หู” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของจีนที่แมคควอรี กรุ๊ป ให้ความเห็นว่า การเข้าควบคุมด้านกฎระเบียบที่ดำเนินอยู่ไม่ได้ส่งสัญญาณว่า ภาคเอกชนกำลังถูกบีบคั้น แต่รัฐบาลจีนกำลังดำเนินการปรับเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจเป็นระยะ
เมื่อต้นเดือนส.ค. รัฐไม่สามารถเติบโตได้โดยลำพัง หากภาคเอกชนประสบปัญหา ซึ่งหมายความว่า ในบางครั้งรัฐมีแนวโน้มที่จะปรับความสัมพันธ์กับภาคเอกชน เพื่อลดความไม่เท่าเทียมกัน, สกัดความเสี่ยง หรือกลับมาควบคุมอีกครั้ง และการระดมออกกฎระเบียบในปีนี้ก็ถือเป็นตัวอย่างล่าสุด
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 31 สิงหาคม 2564