เอกชนชู Digital Health Pass รับเปิดเมือง
หอการค้าไทย เตรียมข้อเสนอรับมือเปิดเมืองปลอดภัย ผ่อนคลายกิจกรรมความเสี่ยงต่ำ พร้อมพัฒนา Digital Health Pass สำหรับผู้ใช้บริการ อนาคตเชื่อมโยงข้อมูล Vaccine Certificate ของนักท่องเที่ยว ขับเคลื่อนธุรกิจเดินหน้า
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทย และคณะทำงานกลุ่มมาตรการสำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ (Business Resume) ภายใต้คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยการพัฒนา Digital Health Pass ในการเชื่อมโยงข้อมูลการรับข้อมูลของนักท่องเที่ยว รวมทั้งข้อเสนอเปิดเมืองปลอดภัย เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
โดยเสนอให้มีการผ่อนคลายกิจกรรมทางธุรกิจ ให้สามารถกลับมาดำเนินการได้ พร้อมปรับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้ปลอดภัย และควบคุมการระบาดของโรคให้อยู่ในระดับที่ความสามารถทางสาธารณสุขรองรับได้ โดยพื้นที่สีแดง เหลือง และเขียว ทั้ง 3 ระดับจำเป็นต้องใช้ Digital Health Pass ในการแสดงข้อมูลที่จำเป็น โดยพื้นที่ต่างๆ แบ่งได้ดังนี้
สำหรับพื้นที่สีแดง ร้านอาหาร ศูนย์การค้า และการจัดกิจกรรมที่มีจำนวนคนไม่เกิน 20 คน ให้เปิดดำเนินการได้ พื้นที่สีเหลือง ร้านอาหาร ศูนย์การค้า เปิดบริการได้ กิจกรรมที่มีจำนวนคนไม่เกิน 100 คน ให้เปิดดำเนินการได้ และพื้นที่สีเขียว หากมีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น สถานที่เล่นกีฬา หรือกิจกรรมที่มีจำนวนคนไม่เกิน 300 คน ต้องมีการใช้ ขณะที่สถานที่ความเสี่ยงสูง เช่น สถานบันเทิง ปิดต่อไปจนกว่าจะมีมาตรการอื่น
“ภาคเอกชนได้เห็นตรงกันว่า การผ่อนคลายให้กิจการและธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการ ควรพิจารณาจากความพร้อมของพื้นที่และลักษณะของกิจการ ซึ่งสามารถใช้ข้อมูลในปัจจุบันมาเป็นตัวกำหนดความเสี่ยงของพื้นที่ใหม่แทนการพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพียงอย่างเดียว โดยสามารถพิจารณาจากความครอบคลุมของการฉีดวัคซีน (ทั้งในภาพรวมและกลุ่มเสี่ยง) ขีดความสามารถทางสาธารณสุข (จำนวนเตียงสีเหลือง/แดงที่เหลือ หรือจำนวนผู้ป่วย ICU) หรือ สัดส่วนการเสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อ” ประธานหอการค้าฯกล่าว
ขั้นตอนการทำงาน
สำหรับระบบ Digital Health Pass สามารถนำมาใช้เพื่อตรวจสอบประวัติการได้รับวัคซีน หรือผลการทดสอบ Rapid Test ของประชาชน ผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ โดยเชื่อมข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยืนยันและคัดแยกว่าประชาชนนั้นไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อ เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบที่มีอยู่ โดยระบบจะตรวจสอบข้อมูลจาก Centralized Portal ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1).ผู้ออกเอกสารรับรอง (Issuers) เป็นข้อมูลจากส่วนกลางที่ระบุข้อมูล ทั้งข้อมูลการฉีดวัคซีน หรือผลการตรวจ ATK ที่จะเชื่อมโยงกับระบบปัจจุบันที่มีอยู่ได้ ซึ่งฐานข้อมูลสามารถแยกกันเก็บได้
2).ผู้ตรวจสอบคุณสมบัติในการเข้าสถานที (Verifiers) เจ้าของสถานประกอบการที่เป็นคนตรวจสอบก่อนให้เข้ามาในสถานประกอบการ โดยต้องกำหนดมาตรการและเงื่อนไขการเข้าสถานที่ เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ โดยภาครัฐควรออกแนวปฏิบัติที่ชัดแจนออกมา
3).ประชาชนหรือบุคคลที่ขอเข้ารับบริการจากสถานที่ (Individual) ข้อมูลของแต่ละคน ที่จะต้องนำระบบ SMART PHONE หรือ QR CODE ซึ่งสามารถสั่งพิมพ์ออกมาได้ และเชื่อมข้อมูลไปยัง Issuers ว่าเป็นบุคคลนั้นๆ โดยจะแสดงข้อมูลเฉพาะว่า “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” เท่านั้น
ด้าน กลินท์ สารสิน ประธานอาวุโสหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะทำงานกลุ่มมาตรการสำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ กล่าวว่า ควรมีการพิจารณาให้กิจกรรมบางประเภทกลับมาจัดได้ แต่ต้องประเมินและจัดลำดับความเสี่ยงของกิจกรรม เพราะเราต้องใช้ชีวิตแบบ new normal ซึ่งภาคเอกชนพร้อมที่จะเข้าไปร่วมดำเนินการจัดทำมาตรฐาน กระบวนการป้องกัน และกระบวนการรักษาความสะอาด เพื่อให้เป็นมาตรฐานที่ยอมรับได้ รวมทั้งให้ธุรกิจเดินหน้าได้ ซึ่งเสนอให้แบ่งเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำ สามารถดำเนินการผ่อนคลายได้เลย
สำหรับกิจการที่มีความเสี่ยงปานกลาง ต้องมีมาตรการเพิ่มเติม ตรวจเรื่องความปลอดภัยของทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ โดยใช้ Digital Health Pass มาช่วยดำเนินการควบคุมการเปิดดำเนินการและการใช้บริการ แต่หากเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูง ยังต้องปิดการดำเนินการไปก่อน
“จากการศึกษาแนวทางผ่อนคลายกิจกรรมการเปิดประเทศจากต่างประเทศ พบว่า ใช้วิธีการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับสถานการณ์การระบาด พร้อมกับการป้องกันการเสียชีวิตควบคู่กันไป และการนำระบบดังกล่าวนี้มาใช้ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นจุดแพร่ระบาดของเชื้อใหม่ได้ ซึ่งภาคเอกชนเห็นว่า ควรใช้เฉพาะบางกิจการที่มีความเสี่ยงเท่านั้น และเห็นว่า การสื่อสารและการขอความร่วมมือจากประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังนั้น แนวทางที่ออกมาจึงต้องง่าย และสามารถปฏิบัติได้จริง” กลินท์กล่าว
นอกจากนั้น คณะทำงานยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Digital Health Pass อาทิ ควรรองรับการอ่าน Vaccine Certificate ของชาวต่างชาติในอนาคตได้ และรองรับการทำงานแบบ offline เพื่อป้องกันระบบล่มเมื่อมีการใช้งานพร้อมกันมาก ๆ ควรมีการเข้ารหัส เพื่อป้องกันการปลอมแปลงและอ่านข้อมูล รวมทั้ง ระบบต้องคำนึงถึงเรื่องความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และความโปร่งใสที่สามารถตรวจสอบได้ เพื่อสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วตามสถานการณ์ เป็นต้น
ที่มา forbesthailand.com
วันที่ 30 สิงหาคม 2564