ส่อง "เวียดนาม" คุมโควิด ดันจีดีพีโต 5.8 %
เวียดนามใช้มาตราการเข้ม คุมธุรกิจ ทั้งสายการผลิต การขนส่ง ชะลอการเดินทางคนต่างชาติ คุมธุรกิจ หวังดันจีดีพีโต 5.8 % ในปีนี้ ด้านสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม เผยธุรกิจไทยได้รับผลกระทบมาก ออเดอร์สินค้าค้างผลิตไม่ได้ รอรัฐบาลปลดล็อค
ประเทศเวียดนามถือเป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีการประเมินว่าหากเวียดนามควบคุมโควิด19 ได้สำเร็จ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือGDP Growth ของเวียดนามจะอยู่ที่ 5.6-5.8% แต่หากควบคุมไม่ได้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบหนักส่งผลให้ จีดีพีอาจหดตัวเหลือ 1.8-2%
ล่าสุด สภาธุรกิจไทย-เวียดนามได้มีการประชุมกรรมการ โดยได้รายงานสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในเวียดนาม พบว่า ทางเวียดนามได้ออกระเบียบควบคุมการเคลื่อนย้ายออกนอกที่พักหรือออกนอกจังหวัด ให้มีการรักษาระห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด และขยายพื้นที่ควบคุมจากเดิม 19 จังหวัดเป็น 23 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดของภาคกลางและภาคเหนือ คือฮานอย และดานัง สำหรับโฮจิมินห์กลายเป็นศูนย์กลางการระบาดมีผู้ติดเชื้อสูงที่สุด
ขณะที่ผลกระทบทางธุรกิจนั้น จากการที่ภาครัฐบังคับใช้มาตรการ Bubble & Seal กับภาคธุรกิจทั้งหมด โดยเจ้าของกิจการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด บางกิจการที่ทำไม่ได้ต้องปิดชั่วคราว ซึ่งจะกระทบต่อproductivity ในภาพรวม ธุรกิจที่ไม่ใช่การผลิตบางสาขา เช่น ภาคบริการร้านอาหาร การท่องเที่ยว ต้องปิดตัว ส่วนการขนส่งทางบกจากไทยมายังโฮจิมินห์ทำได้ยากล าบากมาก
สำหรับการขนส่งภายในประเทศเวียดนามก็ต้องมีการขออนุญาตพิเศษโดยเฉพาะการเข้าออกในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อสูง ส่วนการขนส่งทางอากาศไทย-เวียดนาม จะมีเฉพาะVietjet ที่บินระหว่างโฮจิมินห์-กทม. สัปดาห์ละ 1 ครั้ง (รวมผู้โดยสารและสินค้าในเที่ยวเดียวกัน) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขนส่งทางเรือที่เกิดความแออัดและขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และทางการเวียดนามขอให้ชะลอการเดินทางเข้ามาของชาวต่างชาติ ซึ่งสร้างความยากลำบากในการเดินทางเข้ามาของผู้เชี่ยวชาญหรือนักธุรกิจ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย ในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม มองสถานการณ์เศรษฐกิจในเวียดนาม ว่า เนื่องจากเวียดนามยังบริหารจัดการด้านวัคซีนไม่ดีพอ ทำให้ขาดแคลนวัคซีน ปัจจุบันเวียดนามได้รับวัคซีนจากโครงการ Covax และได้รับบริจาคจากประเทศต่างๆ อาทิ อเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย เป็นต้น รวมจำนวนทั้งสิ้น 19 ล้านโดส ในขณะเวียดนามได้สั่งซื้อวัคซีนเองจำนวน 100 ล้านโดส และคาดว่าจะได้รับวัคซีน 60 ล้านโดสภายในไตรมาส 4 ปีนี้
ส่วนที่เหลืออีก 40 ล้านโดส คาดว่าจะได้รับในไตรมาส 1 ปี2565 ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่าตั้งแต่ไตรมาส 4 สถานการแพร่ระบาดโควิด19 น่าจะควบคุมได้ เวียดนามตั้งเป้าหมายจะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม70% ของประชากร 97 ล้านคนภายในไตรมาส 1 ของปี2565
แต่เนื่องจากมาตรการ Lock down ในไตรมาส 3 อาจกระทบเศรษฐกิจในไตรมาส 3 อย่างไรก็ตาม การผลิต Smartphone และ อิเลคโทรนิค ของการลงทุนต่างประเทศหรือ FDI เพื่อการส่งออกเป็นหลัก ทางภาคเหนือของเวียดนามยังไม่ถูกกระทบมากนัก จึงเป็นปัจจัยหนุนช่วยภาคเศรษฐกิจอื่นของเวียดนาม และเวียดนามคาดหวังว่า GDP ในปี2564 เติบโตเกิน 5%
สำหรับธุรกิจไทยในเวียดนามก็ต้องปฎิบัติตามมาตรการ Social distancing อย่างเข้มงวด ทำให้ต้องปิดบริการในช่วงLock down ในขณะที่โรงงานของไทยหลายแห่งก็ต้องปิดโรงงาน หยุดการผลิตชั่วคราว เว้นแต่โรงงานไทยบางแห่งที่สามารถจัดหาที่พักค้างแรมให้คนงาน ตามมาตรการรัฐบาล ก็สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ โรงงานไทยที่ผลิตสินค้าส่งออกหลายแห่ง ต้องค้างคำสั่งผลิตสินค้าและต้องรอให้รัฐบาลปลดมาตรการควบคุม หลังจากสถานการโควิดคลี่คลาย จึงมีผลกระทบมาก
“ธุรกิจไทยต้องปรับตัว หากเป็นโรงงาน บางแห่งต้องลดกำลังผลิต และจัดที่พักให้คนงาน เพื่อให้การผลิตดำเนินต่อไปได้ ส่วนร้านอาหาร ก็ปรับธุรกิจเป็นdelivery ส่วนธุรกิจอื่นที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ก็จำเป็นต้องปิดชั่วคราว สถานการณ์คล้ายกับของไทย”นายสนั่น กล่าว
ทั้งนี้เวียดนามต้องการผลักดันให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย-เวียดนามมุ่งไปสู่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งในทุกมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ภาคประชาชน เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้าระหว่างไทยและเวียดนามที่ 25,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 5 กันยายน 2564