เศรษฐกิจใต้ "ความเชื่อมั่น"วูบ กำลังซื้อหาย จี้รัฐเยียวยาต่อเนื่อง
ดัชนีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจภาคใต้เดือนสิงหาคมลดลง ประชาชนหวั่นคลายล็อกทำโควิดกลับมาระบาดซํ้า กำลังซื้อหดหายวงเงินคนละครึ่งใช้หมดแล้ว ขอรัฐเยียวยาต่อเนื่อง พร้อมเร่งมาตรการพักหนี้ซอฟต์โลน และฉีดวัคซีนให้ครอบ คลุมโดยด่วน
ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ รายงาน
ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนสิงหาคม 2564 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 39.40 ลดลงต่อเนื่องจากระดับ 40.10 และ 39.60 ในเดือนมิ.ย.และก.ค.ตามลำดับ
ดัชนีที่มีการปรับตัวลด ลง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมรายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงินความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหายาเสพติด การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
โดยปัจจัยลบสำคัญมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่กลายพันธุ์และระบาดหนักในช่วงเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ต้องล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม ส่งผลการบริโภคภาคครัวเรือนมากกว่าครึ่งได้รับผลกระทบรายได้จากการจ้างงานลดลง รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากที่มีผลผลิตออกตลาดจำนวนมาก ขณะตลาดมีความต้องการลดลงจากโควิด-19 ทำให้รายได้เกษตรกรขยายตัวลดลง
ผศ.ดร.วิวัฒน์ กล่าวต่อ ว่า มาตรการเยียวยาของภาครัฐอาทิ โครงการคนละครึ่ง มีครัวเรือนบางส่วนเข้าไม่ถึง ส่วนคนที่ได้รับสิทธิก็ได้ใช้สิทธิครบจำนวนเงินที่ได้รับไปแล้ว ทำให้การจับจ่ายในช่วงปลายเดือนส.ค.ไม่คึกคักส่วนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ยังไม่ตอบโจทย์ประชาชน
ยิ่งในระยะข้างหน้า ที่ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพครัวเรือนยังไม่แน่นอนสูง หากการช่วยเหลือและเยียวยาของภาครัฐไม่ต่อเนื่องและไม่ครอบคลุมทั่ว ถึง จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ ประชาชนอย่างมาก มาตรการเยียว ยาที่ครอบคลุมและเข้าถึงง่ายยังมีความจำเป็นและต้องดำเนินการต่อเนื่อง เช่นการเยียวยาผ่านระบบประกันสังคม 9 กลุ่มอาชีพนั้น ช่วยประคองการดำรงชีพได้บางส่วน
ทั้งนี้ ต้องเร่งทำควบคู่กับการลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลงทั้งการตรวจเชิงรุก เพื่อแยกผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไปทำการรักษาอย่างเร่งด่วน ไม่ให้เกิดการแพร่กระจายไปสู่คลัสเตอร์อื่นๆ รวมถึงการจัดหาวัคซีนและเร่งฉีดให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น
ด้านนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น ขณะนี้สถาน การณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อสูง ทำให้จำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ ซึ่งไม่เอื้อต่อกิจกรรมการท่องเที่ยว
อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศ มีการยกระดับคำเตือนสำหรับประชาชนที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทย เช่น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯหรือ CDC (Center for Disease Control and Prevention) จึงไม่น่าจะเป็นผลดีต่อแนวโน้มการท่องเที่ยวไทย
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง จากความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล ซึ่งมีการยกระดับและความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์การชุมชน ให้อยู่ภายใต้กฎหมาย และสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ท่องเที่ยวที่เป็นเป้าหมายได้ การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ภูเก็ต กระบี่สุราษฎร์ธานี และจังหวัดอื่นๆ ย่อมเป็นไปในทิศทางที่ดีในช่วงเวลาที่เหลือของปี อันจะทำ ให้สถานการณ์การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย ของปีนี้ และต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ของปีหน้า (2565)
ปัจจัยที่ชาวใต้ส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบ ต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกตํ่า คิดเป็น 27.40% รองลงมา คือ ค่าครองชีพ และราคาสินค้าสูง คิดเป็น 25.10% และ 18.60% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตามคนใต้ยังมีกำลังใจต่ออนาคต โดยผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่า ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็น 39.60% และ 32.80% ตามลำดับส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็น 35.60% และ 30.30% ตามลำดับเช่นกัน
ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น คิดเป็น 33.50, 37.10 และ 30.10% ตามลำดับ
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 10 กันยายน 2564