สัญญาณบวกกระพริบ! ภาคผลิตเต็มร้อย เที่ยวไฮซีซั่น ปั๊ม ศก.ฟื้นโค้งสุดท้าย
ภาพรวมบรรยากาศเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ เริ่มส่งสัญญาณบวกโดยเฉพาะภาคส่งออกที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง สินค้าหลายกลุ่มได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ขณะที่แผนการจัดหาวัคซีนในประเทศครอบคลุมประชากรมากขึ้น แนวโน้มการติดเชื้อโควิดเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ต่อทิศทางดังกล่าว นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงมุมมองเศรษฐกิจไทยในช่วงโค้งสุดท้ายปี 2564 ต่อเนื่องถึงปี 2565 การปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการเชื่อมโยงเพื่อดึงเครือข่ายหอการค้าทั่วประเทศกว่าแสนรายช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ
นายสนั่น มองภาพรวมเศรษฐกิจโค้งสุดท้าย (ไตรมาส 4 /2564) ว่า เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวต่อเนื่องท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 บางประเทศมีการกลับมาบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์บ้าง แต่โดยส่วนใหญ่สามารถอยู่กับโควิด-19 ได้ กิจกรรมการผลิตฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต(Manufacturing PMI) ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการส่งออกของไทยและในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีปัจจัยบวกที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ออกมาปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ดีขึ้นมาอยู่ในกรอบ -0.5% ถึง 1.0% ในส่วนของการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 12% ถึง 14% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี
ทั้งนี้อัตราการขยายตัวของการส่งออกดังกล่าวภายใต้เงื่อนไขที่รัฐให้การสนับสนุนภาคธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวัคซีนให้ประชาชนโดยเฉพาะภาคแรงงานได้ทั่วถึง และช่วยเหลือค่าใช้จ่ายตรวจ คัดแยก ผู้ติดเชื้อ เช่น การทำ Rapid Test เพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0% ถึง 1.2%
2 ปัจจัยตัวแปร ศก.ไทย :
จากสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่เริ่มดีขึ้น และแผนการจัดหาวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.Supply chain ของภาคการผลิต โดยการทำ Bubble & Seal เพื่อให้การผลิตและส่งออกไม่หยุดชะงักจากการระบาดในกลุ่มแรงงาน และ 2.หากควบคุมการแพร่ระบาดดีขึ้น ภาครัฐควรเร่งออกมาตรการกระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมการจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยวให้ทัน High Season ในช่วงปลายปี ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศให้คึกคักขึ้น
นอกจากนี้รัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมต่อเนื่อง เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการช้อปดีมีคืน และมาตรการเสริมการจัดกิจกรรมการประชุมซึ่งจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ รวมทั้งเร่งการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนควรพร้อมสร้างบรรยากาศการลงทุน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปอย่างเต็มศักยภาพ
ดึงเครือข่ายหอฯช่วยฟื้นปท. :
นายสนั่นกล่าวว่า ในแง่หอการค้าไทย หากรวมสมาชิกของเครือข่าย ทั้งสมาชิกที่อยู่ในกรุงเทพฯ มีจำนวน 7,312 ราย หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ สมาคมการค้า 143 สมาคม หอการค้าต่างประเทศ 40 หอกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC)และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยแล้ว รวมกว่า 114,407 ราย (ข้อมูลเดือน ส.ค. 2564) ที่ร่วมกันมุ่งเน้นการทำงานเพื่อเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแบบ Connect the Dots โดยตั้งเป้าหมายการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่น แก้ปัญหาระยะสั้น ทั้งการจ้างงานและปัญหาผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ที่ผ่านมาก็ได้มีการ ดำเนินการภายใต้ ภารกิจ 99 วันแรกทั้งเร่งฉีดวัคซีน โควิด-19 ให้ประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ และเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย Digital Transformation เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนรวมถึง แก้ไขกฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ
ประเมินเสียโอกาสทางการค้า :
อย่างไรก็ตามหากประเมินภาพรวมการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจที่ผ่านมา หากไม่มีการล็อกดาวน์การจับจ่ายใช้สอยในระบบของประชาชนในประเทศจะอยู่ราว ๆ 20,000 ล้านบาทต่อวัน แต่เมื่อมีการล็อกดาวน์เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประเมินว่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจวันละ 10,000-13,000 ล้านบาท หรือประมาณเดือนละ 300,000-400,000 ล้านบาท
ส่วนการคลายล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ในเบื้องต้นคิดว่าประชาชนยังไม่กล้าออกมาดำเนินกิจกรรมมากเท่าที่ควร จึงคาดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะลดลงเหลือประมาณ 7,000-10,000 ล้านบาทต่อวัน ดังนั้น ในเดือนกันยายน น่าจะเกิดความเสียหายประมาณ 200,000-300,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม อาจต้องพิจารณาถึงมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐจะออกมาเพิ่มเติม (ถ้ามี) ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจได้อีกส่วนหนึ่ง
หลังโควิดใครได้-ใครเสีย :
ประธานกรรมการหอการค้าไทยยังประเมินภาพรวมธุรกิจหลังวิกฤติโควิด-19 ว่า ภาคธุรกิจต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดเป็นอย่างมาก ดังนั้น การปรับตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ ธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวได้ จะอยู่ไม่ได้หรืออยู่ได้อย่างลำบาก ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกเป็นสำคัญ ต้องจับตามองว่าพฤติกรรมของคนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เช่น การเดินทางจะเปลี่ยนไปหรือไม่ การ Work from home หรือการประชุมสัมมนาผ่านระบบทางไกลจะมีมากน้อยเพียงใด สังคมไร้เงินสดจะมีแค่ไหน รวมไปถึงการใส่ใจเรื่องสุขภาพอนามัยที่มีมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยในการกำหนดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวและบริการในสัดส่วนที่มากพอสมควร ซึ่งมีทั้งในแง่บวกและลบ ที่ผ่านมา เราได้รับผลกระทบในเชิงลบอย่างหนัก เนื่องจากไม่สามารถขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวได้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โรงพยาบาล อาจเป็นโอกาสในอนาคตของประเทศไทย ดังนั้นเราต้องมุ่งพัฒนาให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางในเรื่องดังกล่าวของภูมิภาคนี้ ซึ่งหมายความว่า เราต้องพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับ ธุรกิจต่าง ๆ ต้องมุ่งไปในเรื่องสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ การดูแลรักษาพยาบาล การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวอาจต้องใช้เวลา 3-5 ปี เพื่อกลับมาสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอีกครั้ง
นอกจากนี้ยังมองว่าหลังจากวิกฤติโควิด ธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพ และธุรกิจที่เป็น e-commerce รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Logistics จะเป็นธุรกิจที่มีอนาคต เพราะโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้นเป็นลำดับ ส่วนธุรกิจที่ยังเป็นอนาล็อค หรือธุรกิจที่ยังใช้แรงงานเข้มข้นอาจประสบปัญหา รวมไปถึงธุรกิจที่ไม่ปรับตัวไปตามสถานการณ์โลก และธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจเหล่านี้จะอยู่ได้ยากขึ้น
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 16 กันยายน 2564