เวียดนาม ผลิตวัคซีนสปุตนิกวีชุดแรกสำเร็จ ผ่านการประเมินจากรัสเซียแล้ว
สำนักข่าวเวียดนามเผย เวียดนามผลิตวัคซีนสปุตนิกวีชุดแรกสำเร็จ ผ่านการประเมินจากสถาบันในรัสเซียเรียบร้อยแล้ว
วันที่ 25 กันยายน 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์โควิดในต่างประเทศ ระบุว่า สำนักข่าว Vietnam News รายงานอ้างการแถลงของบริษัท VABIOTECH ของเวียดนาม เมื่อ 24 กันยายน 2564 ว่า บริษัท VABIOTECH ซึ่งเป็นบริษัทเภสัชกรรมของเวียดนาม สามารถผลิตวัคซีน Sputnik V ชุดแรกได้เป็นผลสำเร็จ
โดยได้รับการประเมินประสิทธิภาพวัคซีนรหัส SV-030721M จากศูนย์ Gamaleya ของสถาบันวิจัยและพัฒนาวัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย
สำหรับวัคซีนชนิดนี้จะนำไปใช้ในโครงการกระจายการฉีดวัคซีนของเวียดนามเพื่อเตรียมความพร้อมหากเกิดการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 รอบที่ 4 และแก้ไขปัญหาจำนวนวัคซีนที่มีอยู่อย่างจำกัด
ก่อนหน้านี้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนสปุตนิกวี ว่า
Sputnik V อาจจะเป็นวัคซีนตัวเลือกใหม่สำหรับคนไทยในไม่ช้า วัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยใช้รูปแบบของ Viral vector คือ ปรับพันธุกรรมของไวรัสอะดีโนซึ่งเป็นไวรัสที่ติดมนุษย์แล้วเป็นไข้หวัดธรรมดา ปรับแล้วไวรัสดังกล่าวยังติดเราได้ แต่เพิ่มปริมาณต่อไม่ได้ ดังนั้น เราจะไม่เป็นหวัดเนื่องจากไวรัสไปต่อไม่ได้
แต่หลังจากที่ติดเข้าร่างกายเรา กลไกของไวรัสจะสามารถสร้างโปรตีนต่าง ๆ ที่อยู่ในสารพันธุกรรมของไวรัสในเซลล์ที่ติดเข้าไปได้ ทีมวิจัยรัสเซียได้นำเอายีนที่สร้างโปรตีนสไปค์ของไวรัสโรคโควิด-19 มาฝากไว้กับไวรัสชนิดนี้ เพราะช่วงที่ฉีดและติดเซลล์ในร่างกายเรา กลไกของไวรัสก็จะสร้างโปรตีนสไปค์นั้นให้ร่างกายเราเห็น และ กระตุ้นภูมิขึ้นมาได้
วัคซีน Sputnik V ออกแบบมาเป็นแบบ 2 เข็ม โดยเข็มแรกใช้ไวรัส Adenovirus 26 ฉีดไปแล้ว 3 อาทิตย์ต้องกระตุ้นด้วยเข็มที่ 2 ที่ใช้ไวรัส Adenovirus 5 สาเหตุที่ต้องใช้ไวรัส 2 ชนิด เพราะ Adenovirus ก็เป็นไวรัสเหมือนกัน การฉีด Adenovirus 26 เข็มแรกไป ร่างกายก็จะรู้จักและสร้างภูมิต่อ Adenovirus 26 เช่นกัน
ดังนั้น เพื่อให้การกระตุ้นเข็มที่สองไม่ถูกรบกวนจากภูมิดังกล่าว เข็มสองจึงใช้ไวรัสต่างชนิดกัน คือ Adenovirus 5 [ ตรงนี้เห็นมีการรายงานออกมาสลับกัน จริง ๆ ต้อง 26 แล้วตามด้วย 5 ไม่ใช่ 5 ตามด้วย 26 นะครับ มีเหตุผลในการใช้แบบนี้นะครับ แต่จะยาวเกิน ขอไม่อธิบาย
จะว่าไป Sputnik V ก็คือการใช้วัคซีนของ Johnson & Johnson (ซึ่งก็คือ Adenovirus 26 เหมือนกัน) แล้ว ฉีดกระตุ้นด้วย วัคซีนของ Cansino Biologics ของจีน (ซึ่งก็คือ Adenovirus 5) คล้าย ๆ กับเราใช้วัคซีน 2 ยี่ห้อนี้พร้อม ๆ กันนั่นเอง แต่การออกแบบแอนติเจนจะต่างกันเล็กน้อย โดย J&J บอกว่าเค้าไม่ต้องกระตุ้นก็ได้ ใช้เข็มเดียวอยู่ แต่ Sputnik V ก็บอกว่าถ้ากระตุ้นประสิทธิภาพของวัคซีนขึ้นสูงไปถึง มากกว่า 90%
ข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีน Sputnik V นับว่าสูงมาก (ข้อมูลแบบไม่เป็นทางการล่าสุดออกมาจากรัสเซียว่าได้สูงถึง 97%) แต่ข้อมูลการป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่เป็นปัญหาเช่น แอฟริกาใต้ และ บราซิล ยังไม่มีออกมา และ ทางบริษัทยังไม่มีการพบอาการลิ่มเลือดอุดตันที่พบในวัคซีน Viral vector ชนิดอื่น ๆ ซึ่ง Absence of evidence is not evidence of absence คงต้องดูกันยาวๆไปครับ
Note: ข้อเสียคือ Ad26 กับ Ad5 ที่ฉีดไปแล้ว ถ้าจะฉีด boost ต่อสายพันธุ์กลายพันธุ์อื่นๆ จะไม่สามารถใช้ Ad 2 ตัวที่ได้อีก อาจต้อง boost ด้วยวัคซีนชนิดอื่น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่25 กันยายน 2564